หากใครได้มีโอกาสเดินทางมายังริมทะเลสาบซงซานหูเมืองตงก่วน สิ่งที่จะสะกดสายตาของทุกคนไม่ใช่ทิวทัศน์ของทะเลสาบ หากแต่เป็นอาคารทรงยุโรปนับสิบแห่ง ที่หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นสวนสนุกหรือเมืองจำลอง ที่แห่งนี้แท้ที่จริงแล้วคือ Ox Horn Campus ของบริษัทหัวเว่ย ซึ่งเปิดใช้งานเป็นศูนย์ R&D ของหัวเว่ยเมื่อปี 2561และนอกจากแคมปัสแห่งนี้ บริษัทหัวเว่ยยังมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เขตหลงกั่ง เมืองเซินเจิ้น ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางไม่แพ้กัน โดย “อาณาจักรหัวเว่ย” ที่เมืองเซินเจิ้นนั้น เป็นที่ตั้งของศูนย์จัดแสดงของบริษัท ได้แก่ Digital Transformation Exhibition Hall และ Galileo Exhibition Hall ซึ่งเป็นศูนย์จัดแสดงที่จะทำให้เรารู้จักกับบริษัทแห่งนี้มากขึ้น
Digital Transformation Exhibition Hall เป็น Hall สำหรับจัดแสดงข้อมูลธุรกิจของหัวเว่ย โดยเฉพาะsolution สำหรับภาครัฐและเอกชน เช่น การใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อตรวจสอบสภาพการจราจรบนท้องถนน ระบบจัดส่งข้อมูลลูกค้าที่ต้องการเปิดบัญชีกับธนาคารให้กับหน่วยงานตรวจสอบความน่าเชื่อถือ การใช้ blockchain เพื่อทำธุรกรรมระหว่างวิสาหกิจ การพัฒนาระบบ cloud computing เป็นต้น ขณะที่ Galileo Exhibition Hall เน้นจัดแสดงการประยุกต์ใช้นวัตกรรม 5G เช่น การควบคุมเครื่องจักรภายในเหมือง การควบคุมอุปกรณ์การแพทย์เพื่อผ่าตัดทางไกล การถ่ายทอดสดผ่านกล่องสัญญาณขนาดกะทัดรัด การร่วมเล่นดนตรีโดยสมาชิกในวงอยู่กันคนละมุมโลก เป็นต้น ข้อมูลจากศูนย์จัดแสดงยังระบุว่า ปัจจุบัน จีนมีผู้ใช้บริการ 5G ทั้งหมด 140 ล้านคน และหัวเว่ยมีฐานรับส่งสัญญาณและฐานผู้ใช้บริการมากที่สุดในจีน
เมื่อทำความรู้จักหัวเว่ยผ่านศูนย์จัดแสดงทั้งสองแห่งนี้แล้ว หลายท่านคงเริ่มเห็นภาพว่า หัวเว่ยไม่ได้มีดีแค่สมาร์ทโฟนเท่านั้น และยิ่งเผชิญกับสงครามเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ยิ่งทำให้หัวเว่ยต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ cloud computing ซึ่งได้ให้บริการครอบคลุมทั้ง computing power cloud storage ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีความล้ำหน้ามากกว่าบริษัทอาลีบาบาและบริษัทเทนเซ็นต์ และยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเพื่อทำ public cloud อีกด้วย หัวเว่ยยังพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไร้คนขับ โดยได้ตั้งทีมพัฒนาไลดาร์เซนเซอร์ราคาประหยัดซึ่งใช้ในยานยนต์ไร้คนขับ โดยมีแผนจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีช่องรับส่งเลเซอร์ 100 – 200 ช่องในราคาไม่เกิน 500 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนแผนของทางการจีนที่จะให้รถยนต์ไร้คนขับเริ่มเข้าสู่ตลาดจีนภายในปี ค.ศ. 2025 อีกทั้งหัวเว่ยยังได้รับอนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่นให้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์อัจฉริยะที่เขตไป๋หยุนของนครกว่างโจวด้วย
เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓ บริษัทหัวเว่ยได้ตัดสินใจขายบริษัท Honor แบรนด์โทรศัพท์มือถือราคาประหยัดออกไป ซึ่งจะช่วยให้บริษัทหัวเว่ยสามารถโฟกัสกับแบรนด์สมาร์ทโฟนของตนเอง และที่สำคัญ มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างเต็มที่
สำหรับประเทศไทย “หัวเว่ย” เป็นชื่อที่รู้จักกันค่อนข้างแพร่หลาย โดยเฉพาะในฐานะแบรนด์สมาร์ทโฟนรายใหญ่ของจีน โดยบริษัทหัวเว่ยได้เข้ามาประกอบธุรกิจในไทยมาเป็นเวลา 21 ปีแล้ว มีพนักงานมากกว่า 3,200 คน ประมาณร้อยละ 80 เป็นคนไทย ทั้งนี้ ภายใต้นโยบายสำคัญของรัฐบาลอย่าง “Thailand 4.0” และ “EEC” เพื่อก้าวสู่การเป็นดิจิทัลฮับของไทยนั้น หัวเว่ยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาดังกล่าว เช่น การวางโครงข่ายพื้นฐาน 5G ในพื้นที่ EEC และจัดตั้ง OpenLab สำหรับวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการ รวมทั้งมีแพลตฟอร์มที่ให้มหาวิทยาลัยและ start-up ด้านเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานได้ และเมื่อเร็วๆ นี้ หัวเว่ยได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลฯ จัดตั้ง Thailand 5G Ecosystem Innovation Center (5G EIC) เพื่อเป็น platform สำหรับส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ ของไทย
นอกจากนี้ บริษัทหัวเว่ยยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะแรงงาน โดยร่วมกับกระทรวงแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานในด้านระบบและการติดตั้งอุปกรณ์โทรคมนาคม และร่วมกับมหาวิทยาลัยไทยเพื่อจัดโปรแกรมฝึกอบรมนักศึกษา เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมใน EEC ซึ่งยังขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพสูง
เห็นได้ว่า ด้วย “ขุมกำลัง” ทางเทคโนโลยีที่มีอยู่เต็มเปี่ยม หัวเว่ยสามารถมีบทบาทที่สร้างสรรค์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของไทยได้อย่างมากมาย และตามที่เคยมีผู้กล่าวว่า เทคโนโลยี 4G เป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยน lifestyle ของแต่ละบุคคล ส่วนเทคโนโลยี 5G จะเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงทั้งสังคม ดังนั้น 5G จึงแยกไม่ออกจากภาครัฐในฐานะผู้กำกับการพัฒนาว่า จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเป็นเวลา ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับรัฐและสังคมไทยที่ต้องครุ่นคิดอย่างจริงจังว่า เราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไรสำหรับ 5G, ยานยนต์ไร้คนขับ, cloud computing, blockchain, big data, ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ ในเมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้เริ่มปรากฏพร้อมอยู่ตรงหน้าแล้ว
——————————
นางสาวสุวิชญา กีปทอง เขียน
นายพิชญพัฒน์ เบ็ญจาศิริโรจน์ เรียบเรียง
16 ธันวาคม 2563
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://edition.cnn.com/2020/11/17/tech/huawei-honor-smartphone-intl-hnk/index.html
https://www.cnbc.com/2020/07/30/huawei-overtakes-samsung-to-be-no-1-smartphone-maker-thanks-to-china.html
https://eandt.theiet.org/content/articles/2020/09/harmony-os-will-come-to-huawei-phones-in-2021/
https://www.cnbc.com/2020/10/30/huawei-q3-smartphone-shipments-plunge-as-us-sanctions-continue-to-bite.html
https://www.cnbc.com/2020/07/30/huawei-overtakes-samsung-to-be-no-1-smartphone-maker-thanks-to-china.html
https://www.ft.com/content/209aa050-6e9c-4ba0-b83c-ac8df0bb4f86
https://www.bbc.com/news/technology-54266531
https://bit.ly/37hdWj5
http://autonews.gasgoo.com/china_news/70017813.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1584275281943863518&wfr=spider&for=pc
https://www.bangkokpost.com/thailand/pr/2032591/huawei-empowers-thailand-toward-asean-digital-hub-status-with-tech-synergies
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/35300
https://www.nationthailand.com/business/30316957