อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะ “หัวจักร” ขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจที่มีคุณภาพสูงของมณฑลหูหนานในปัจจุบัน โดยตลอดช่วงแปดเดือนแรกของปี 2563 อุตสาหกรรมสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ของมณฑลหูหนานสร้างรายได้รวมกว่า 182,250 ล้านหยวน (ประมาณ 27,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 12.7 ที่สำคัญ ในช่วงเดียวกันนี้ มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมการสื่อสาร และภาคการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของมณฑลหูหนานเติบโตรวมกันถึงร้อยละ 82 นับเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดของมณฑลในช่วงดังกล่าว
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นครฉางซายังเป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุมและนิทรรศการด้านคอมพิวเตอร์ระดับโลก “2020 World Computer Congress” ซึ่งภายในงานมีบริษัทชั้นนำของมณฑลหูหนานจำนวนมากได้แสดงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางคอมพิวเตอร์ เช่น บริษัท Hunan Greatwall Technology Information ที่ได้จัดแสดงคอมพิวเตอร์ซึ่งชิ้นส่วนสำคัญทั้งหมดผลิตขึ้นในประเทศจีน กล่าวคือ ตัวคอมพิวเตอร์ผลิตขึ้นในเมืองจูโจวของมณฑลหูหนาน ขณะที่ส่วนตัวเครื่อง (CPU) ผลิตโดยบริษัท Phytium ผู้ผลิตชิปชั้นนำของจีน ระบบประมวลภาพผลิตขึ้นโดยบริษัท Jingjia Micro ของมณฑลหูหนาน เช่นเดียวกับระบบหน่วยความจำที่พัฒนาและผลิตขึ้นโดยบริษัท Hunan Goke Microelectronics ของมณฑลหูหนาน และใช้ระบบปฏิบัติการ Kylin ของจีน
ทั้งนี้ จีนใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนาการผลิตคอมพิวเตอร์ “ในบ้าน” เครื่องดังกล่าวกว่า 10 ปี ตั้งแต่สภาพ “ใช้การไม่ได้” จนสามารถ “ใช้งานได้ขั้นพื้นฐาน” และมีขนาด “เหมาะสม” มากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตชิปของจีน โดยบริษัท Hunan Goke Microelectronics ผู้พัฒนาระบบหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์เครื่องดังกล่าว ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 นับเป็นบริษัทแรกในจีนที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาการผลิตโซลิดสเตตไดรฟ์ (Solid State Drive: SSD) ระบบหน่วยความจำที่มีชิปวงจรรวมเป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทแห่งนี้ได้พัฒนาชิป SSD มาแล้ว 3 รุ่น นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาชิประบุตำแหน่ง (positioning chip) ที่เชื่อมโยงการทำงานกับระบบดาวเทียมนำทาง “เป๋ยโต่ว” (BeiDou Navigation Satellite System: BDS) ของจีน ชิปตรวจสอบสถานะอัจฉริยะ (smart monitoring chip) ชิปถอดรหัสความละเอียดสูง (HD decoding chip) รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มุ่งยกระดับการดำเนินชีวิตของประชาชนและภาคการผลิต
โดยในส่วนการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน มณฑลหูหนานได้ผนวกอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเข้ากับการดำเนินชีวิตด้านต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การเปิดใช้งานระบบแท๊กซี่อัจฉริยะภายในเขตเมืองใหม่เซียงเจียงมณฑลหูหนาน (Hunan Xiangjiang New Area) ที่ได้เริ่มทดลองให้บริการแท๊กซี่อัจฉริยะไร้คนขับตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 และต่อมาได้ขยายพื้นที่ทดลองให้บริการเข้าไปภายในเขตตัวเมืองนครฉางซา ได้แก่ แขวงเหมยซีหูเมื่อเดือนเมษายน 2563 และแขวงหยางหูเมื่อเดือนสิงหาคม 2563
ปัจจุบัน นครฉางซายังเป็นที่ตั้งหนึ่งในพื้นที่ทดสอบการขับขี่อัจฉริยะที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศจีน ได้แก่ พื้นที่ทดลองรถยนต์อัจฉริยะระดับชาติ (นครฉางซา) (National Intelligent Connected Vehicle (Changsha) Testing Zone) ภายในเขตเมืองใหม่เซียงเจียง ซึ่งในขณะนี้สามารถรวบรวมวิสาหกิจชั้นนำในด้านนี้ได้มากกว่า 300 ราย และในระยะยาว จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างจุดศูนย์รวม (cluster) ของอุตสาหกรรมรถยนต์อัจฉริยะในมณฑลหูหนาน สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวในมณฑลที่กำลังจะสามารถสร้างรายได้ระดับแสนล้านหยวนในอีกไม่ช้า
ภายในงาน “2020 World Computer Congress” ในนครฉางซาที่ผ่านมา ยังมีการจัดแสดงเทคโนโลยีการแปลภาษามือ ซึ่งสามารถแปลงสารคำพูดไปแสดงเป็นภาษามือผ่านตัวละครเสมือนจริงบนหน้าจอได้ตามเวลาจริง (real-time) โดยเทคโนโลยีนี้คิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Changsha Keenbow Information Technology ในนครฉางซา ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีแอนิเมชันเข้ากับระบบบิ๊กดาต้า ซึ่งมีการนำไปใช้ประโยชน์จริงแล้วในขณะนี้ระหว่างการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ในนครฉางซา
ในภาพรวมช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มณฑลหูหนานได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นอย่างสูง โดยมุ่งเสริมสร้างรากฐานสำคัญของภาคเศรษฐกิจดังกล่าวทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการยกระดับการผลิตอัจฉริยะ อินเทอร์เน็ตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Internet) การประยุกต์ใช้ 5G และอินเทอร์เน็ตไร้สาย (Mobile Internet) เพื่อช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านและยกระดับภาคอุตสาหกรรมในมณฑลไปสู่ระบบดิจิทัล
ทั้งนี้ ในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่ระบบดิจิทัล มณฑลหูหนานได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก โดยภายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีนครฉางซา (Changsha Economic and Technological Development Zone) มีวิสาหกิจจำนวนมากที่ได้เริ่มจัดตั้งแพลตฟอร์มดิจิทัลของตน อาทิ บริษัท SANY ผู้ผลิตเครื่องจักรก่อสร้างและขุดเจาะเหมืองชั้นนำระดับโลกของมณฑลหูหนาน บริษัท China Railway Construction Heavy Industry ผู้ผลิตเครื่องจักรขุดเจาะสำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระบบราง และบริษัท Sunward ผู้ผลิตเครื่องจักรระดับสูงของมณฑลหูหนาน เป็นต้น โดยปัจจุบัน มณฑลหูหนานมีแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตภาคอุตสาหกรรมในมณฑลรวมเกือบ 100 แพลตฟอร์ม สามารถเชื่อมโยงอุปกรณ์ในภาคอุตสาหกรรมกว่า 2,150,000 ชิ้น สร้างประโยชน์ให้กับภาคส่วนในอุตสาหกรรมกว่า 100 หน่วย และมีผู้ใช้งานมากกว่า 70,000 ราย นับเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของบทบาทอินเทอร์เน็ตภาคอุตสาหกรรมในการส่งเสริมและสร้างเอกลักษณ์การพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของมณฑลหูหนาน
ที่มา: http://www.enghunan.gov.cn/hneng/News/FMEH/202012/t20201207_13978560.html