เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมการลงทุนมณฑลกุ้ยโจวและกลุ่มผู้ประกอบการได้ร่วมหารือและวิเคราะห์ความคืบหน้าด้านการลงทุนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ในมณฑลกุ้ยโจวตลอดช่วง 5 ปี ระหว่างปี 2558-2562 โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของมณฑลกุ้ยโจวเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 กุ้ยโจวสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 61,500 ล้านหยวน ก่อนเพิ่มเป็น 113,600 ล้านหยวนในปี 2562 โครงการลงทุนที่ได้รับความนิยม ได้แก่ โครงการแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและรีสอร์ท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.8 โครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 โครงการท่องเที่ยวจุดชมวิวและทัศนาจร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.9 โครงการท่องเที่ยววัฒนธรรมพื้นเมือง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.3 และโครงการท่องเที่ยวชนบท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.2
- จุดเด่นด้านการท่องเที่ยวของมณฑลกุ้ยโจว ได้แก่ (1) มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม แหล่งท่องเที่ยวชนกลุ่มน้อยที่มีถึง 17 ชนเผ่า และแหล่งท่องเที่ยว “สีแดง” (Red Tourism) ที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์การเดินทัพทางไกลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (2) มีอากาศที่ไม่ร้อนและหนาวเกินไป โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงฤดูร้อนอยู่ที่ 23 องศาเซลเซียส และมีป่าไม้คลอบคลุมเกือบร้อยละ 60 ของพื้นที่มณฑล ด้วยเหตุนี้มณฑลกุ้ยโจวจึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสวนสาธารณะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น (3) มีระบบการคมนาคมที่สะดวกต่อการเดินทาง โดยมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 1,342 กิโลเมตร และทางด่วนมากกว่า 7,000 กิโลเมตร
- สิ่งที่ต้องพัฒนาสำหรับการท่องเที่ยวของมณฑลกุ้ยโจว ได้แก่ (1) แหล่งท่องเที่ยวของมณฑลกุ้ยโจวยังมีความหลากหลายไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา กุ้ยโจวได้พยายามพัฒนาโครงการการลงทุนด้านการท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์เพิ่มขึ้น เช่น แหล่งท่องเที่ยว FAST (กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ใหญ่ที่สุดในโลกของจีน) ที่ผสมผสานวิทยาศาสตร์และการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทั้งโรงแรมห้าดาว แหล่งช้อปปิง และพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์ (2) ค่าใช้จ่ายโดยรวมเฉลี่ยต่อคนของนักท่องเที่ยวในมณฑลกุ้ยโจวอยู่ที่ 1,085 หยวน ซึ่งน้อยกว่ามณฑลอื่น เช่น กรุงปักกิ่ง 1,933 หยวน มณฑลเจ้อเจียง 1,502 หยวน และมณฑลยูนนาน 1,367 หยวน
- ทิศทางการลงทุนด้านการท่องเที่ยวของมณฑลกุ้ยโจวในอนาคต ได้แก่ (1) การลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหลักของมณฑล เช่น การปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวระดับ 4A กว่าร้อยแห่งให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น (2) การพัฒนาโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น สวนสาธารณะขึ้นชื่อของมณฑลที่ใครมาต้องนึกถึง และโฮมสเตย์ชนกลุ่มน้อยระดับไฮเอนด์ (3) สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น บิ๊กดาต้าที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เครื่องจำหน่ายตั๋วอัจฉริยะ การคมนาคมอัจฉริยะ การท่องเที่ยวอัจฉริยะ และการท่องเที่ยวเชิงกีฬา
ที่มา: http://www.gz.xinhuanet.com/2020-11/27/c_1126792173.htm
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู