มณฑลกานซูประกาศหลุดพ้นเกณฑ์ความยากจนแล้ว – thaibizchina

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2563 รัฐบาลมณฑลกานซูแถลง 8 อำเภอสุดท้ายของมณฑลกานซูพ้นเกณฑ์ความยากจนแล้ว ภายหลังได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานทั้งในและนอกพื้นที่

ในอดีต มณฑลกานซูเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายการขจัดความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนของรัฐบาลจีน ด้วยเคยเป็นมณฑลที่มีอันดับ GDP Per Capita รั้งท้ายของประเทศ และมีพื้นที่ที่อยู่ในเกณฑ์ความยากจนมากถึง 75 อำเภอ โดยในปี 2562 มณฑลกานซูได้ประกาศให้ 67 อำเภอหลุดพ้นเกณฑ์ความยากจน รายได้เกษตรกรต่อหัว (Disposable Income Per Capita of Farmers) เฉลี่ย 7,572 หยวน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2557 มากถึง 1.7 เท่า หรือเฉลี่ยร้อยละ 14 ต่อปี อัตราการเกิดความยากจน (Poverty Rate) ลดลงเหลือร้อยละ 3.2 โดยรัฐบาลมณฑลกานซูได้ลงทุนในโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค (ที่พักอาศัย น้ำประปา ไฟฟ้า การศึกษาภาคบังคับ และการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน) รวมถึงการพัฒนาระบบคมนาคมระหว่างเมืองใหญ่ในมณฑลและหัวเมืองหลักนอกมณฑลอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2563 รัฐบาลมณฑลกานซูได้เร่งแก้ไขปัญหาความยากจนในอีก 8 อำเภอที่เหลือ ได้แก่ อ. ตงเซียง อ. หลินเซี่ย ของเมืองปกครองตนเองหลินเซี่ยหุย (Linxia Hui Autonomous Prefecture) อ. ทั่นชาง อ. ซีเหอ อ. หลี่ ของเมืองหล่งหนาน อ. ทงเว่ย อ. หมินของเมืองติ้งซี และ อ. เจิ้นหยวนของเมืองชิ่งหยาง ซึ่งมีประชากรรวมกันมากถึง 101,400 คน โดยรัฐบาลมณฑลกานซูสนับสนุนการย้ายถิ่นฐานของประชากรที่ประสบปัญหาการหาเลี้ยงชีพ ปรับปรุงการเข้าถึงระบบการศึกษาภาคบังคับ การพัฒนาแหล่งน้ำประปาดื่มได้ พัฒนาระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ตลอดจนสร้างงานในท้องถิ่น โดยผลจากความพยายามนี้ ได้ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตประชากรใน 8 อำเภอยากจนนี้ให้กินดีอยู่ดีและมีอาชีพเลี้ยงครอบครัว ข้อมูลจาก สนง. สถิติมณฑลกานซูระบุว่า จนถึงเดือน ส.ค. 2563 รายได้สุทธิต่อหัวของประชากรใน 8 อำเภอ (Net Income Per Capita) สูงถึง 8,690 หยวน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมมากถึง 1.01 เท่า   

ล่าสุด รัฐบาลมณฑลกานซูยังได้เดินหน้าดึงดูดการลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2563 รัฐบาลมณฑลกานซูได้ลงนามความร่วมมือกับวิสาหกิจในโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและอุตสาหกรรมการผลิตจำนวน 10 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 9,561 ล้านหยวน โดยมีโครงการที่น่าสนใจได้แก่ (1) การก่อสร้างท่าการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing Enterprise Port) (2) การก่อสร้างสายการผลิตอาหารและฐานการจัดจำหน่ายสินค้าประจำภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซูเปอร์มาร์เก็ต Hualian (3) การก่อสร้างโครงการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า กำลังการผลิต 150,000 ชุด/ปี (4) การความร่วมมือระหว่างเขตโลจิสติกส์นานาชาตินครหลานโจวกับ Beijing Hualian Group และ (5) โครงการสถาบันนวัตกรรมการบินและอวกาศเชิงพาณิชย์

ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียวที่รัฐบาลมณฑลกานซูมุ่งพัฒนาให้เป็นฐานอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ตลอดจนการยกระดับศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ โดยรัฐบาลมณฑลกานซูเร่งดำเนินการให้มีการลงทุนจากวิสาหกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับประเทศอย่างน้อย 1 ราย และวิสาหกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับมณฑลเกิดใหม่ไม่น้อยกว่า 10 รายที่ได้เคยประกาศไว้ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจประจำปี 2562

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://paper.people.com.cn/rmrbhwb/html/2020-11/23/content_2019562.htm
  2. http://www.gansu.gov.cn/art/2020/3/4/art_36_448528.html

 

 

 

webmaster

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]