ไฮไลท์
- เมืองกุ้ยหลินพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงานนิทรรศการท่องเที่ยวและฟอรัมวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 8-10 ธันวาคม 2563 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Expo (CAEXPO) โดยจะจัดในรูปแบบผสมออฟไลน์กับออนไลน์
- ความน่าสนใจของงานนิทรรศการการท่องเที่ยวจีน-อาเซียน เป็นเรื่องการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและสร้างสรรค์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวดิจิทัล เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ อินเทอร์เน็ต 5G และเมืองอัจฉริยะ
- ขณะที่ฟอรัมวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 15 ในปีนี้ จะเน้นเรื่องการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รูปแบบ และแนวทางการอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม พร้อมกับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน
- ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่ปกติจากโควิด-19 ที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับตัว งานดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของไทยในการศึกษาเรียนรู้และนำประสบการณ์ของจีนไปปรับใช้กับธุรกิจท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะประเด็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งผู้จัดได้เปิดช่องทางออนไลน์สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเดินทางไปชมงานดังกล่าวไว้ด้วย
กรมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง แถลงข่าวยืนยันความพร้อมในการจัดงานนิทรรศการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมย่อยของงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Expo (CAEXPO) ระหว่างวันที่ 8-10 ธันวาคม 2563 ที่เมืองกุ้ยหลิน เขตฯ กว่างซีจ้วง โดยจะจัดในรูปแบบผสมออฟไลน์กับออนไลน์
งานนิทรรศการการท่องเที่ยวจีน-อาเซียน ประจำปี 2563 (2020 China-ASEAN Expo Tourism Exhibition) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ร่วมพัฒนาหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ร่วมแบ่งปันการท่องเที่ยวดิจิทัล” เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยวระหว่างจีนกับอาเซียน โดยเฉพาะเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและสร้างสรรค์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวดิจิทัล เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ อินเทอร์เน็ต 5G และเมืองอัจฉริยะ
ขณะนี้ มีหน่วยงานการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ 20 แห่ง และผู้ประกอบการการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเกือบ 100 ราย ยืนยันการเข้าร่วมงาน โดยฟิลิปปินส์ได้รับเกียรติให้เป็นประเทศเกียรติยศ (Country of Honor) ของงานในปีนี้
งานดังกล่าวมีกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งชาติจีนและรัฐบาลเขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นผู้จัดงาน มีพื้นที่จัดแสดง 25,000 ตร.ม. คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 1 แสนคน/ครั้ง โดยงานในปีนี้ได้จัดสรรพื้นที่ออกเป็น 6 ฟังก์ชัน ได้แก่ ภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว การบริโภคด้านการท่องเที่ยว เทคโนโลยีการท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรม และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ฟอรัมย่อยด้านการท่องเที่ยว การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และการลงนามโครงการด้านการท่องเที่ยว
ไฮไลท์สำคัญของงาน China-ASEAN Expo Tourism Exhibition ในปีนี้ ได้แก่
- เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการพัฒนาแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยน การซื้อขาย และการจัดแสดงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ในภาคการท่องเที่ยวระหว่างจีนกับอาเซียน
- หล่อหลอมวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยวระหว่างจีนกับอาเซียนผ่านโซนจัดแสดงทางวัฒนธรรมและฟอรัมความร่วมมือเฉพาะด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
- ส่งเสริมการจับคู่ทางธุรกิจและการประชาสัมพันธ์โครงการลงทุนด้านการท่องเที่ยว
- รูปแบบผสมผสานออฟไลน์กับออนไลน์ ชูนิทรรศการท่องเที่ยวออนไลน์ผ่านเทคโนโลยีคลาวด์
- ส่งเสริมให้มณฑล/เมืองเกียรติยศ จัดกิจกรรมส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวของตน
นอกจากนี้ ในปีนี้ มีการเปลี่ยนสถานที่จัดงาน “ฟอรัมวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 15” (15th China-ASEAN Cultural Forum) ไปที่เมืองกุ้ยหลินเป็นครั้งแรก (ที่ผ่านมา จัดขึ้นที่นครหนานหนิง) ภายใต้แนวคิด “การอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมกับการบุกเบิกพัฒนาด้านการท่องเที่ยว” เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน เสวนาในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยว รวมถึงความสอดคล้องของรูปแบบและแนวทางการพัฒนา และการพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอาเซียน โดยรูปแบบการจัดงานจะเป็นแบบผสมผสาน ทั้งออฟไลน์กับออนไลน์เช่นเดียวกัน
บีไอซี เห็นว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่ปกติจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เชื่อว่างานนิทรรศการข้างต้นจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของไทยในการศึกษาเรียนรู้และนำประสบการณ์ของจีนไปปรับใช้กับธุรกิจท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะประเด็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งผู้จัดได้พัฒนาช่องทางออนไลน์ไว้สำหรับผู้ประกอบการต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางไปเข้าร่วมชมงานดังกล่าวได้
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ https://new.qq.com (腾讯网) วันที่ 26 ตุลาคม 2563
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 24 ตุลาคม 2563
เว็บไซต์ www.nanning.gov.cn (南宁人民政府网) วันที่ 24 ตุลาคม 2563
ภาพประกอบ www.sohu.com และ http://asean.gxnews.com.cn
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู