โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
ภาพรวมการพัฒนาชาขาวของจีน
จีนเป็นต้นกำเนิดของการผลิตชาขาวและเป็นประเทศที่มีการผลิตชาขาวได้ปริมาณมากที่สุดของโลก ชาขาวส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน รวมถึงมณฑลฝูเจี้ยน โดยปริมาณการผลิตชาขาวของมณฑลฝูเจี้ยนคิดเป็นสัดส่วนสำคัญของประเทศ โดยในปี 2562 จีนผลิตชาขาวกว่า 49,600 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.2 เทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นร้อยละ 1.8 ของชาทุกประเภท มีมูลค่าเท่ากับ 6.29 พันล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 2.3 ของมูลค่าการจำหน่ายใบชาทั้งหมดของประเทศ โดยราคาชาขาวเฉลี่ยกิโลกรัมละ 149 หยวน สูงเป็นอันดับ 2 จากชา 6 ประเภทของจีน รองจากชาแดง (179 หยวนต่อกิโลกรัม) ทั้งนี้ ราคาเฉลี่ยของชาเขียวอยู่ที่ 132 หยวนต่อกิโลกรัม ชาอูหลง 131 หยวนต่อกิโลกรัม ชาเหลือง 120 หยวนต่อกิโลกรัมและชาดำ 94 หยวนต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ จีนส่งออกชาขาวร้อยละ 15 ของปริมาณที่ผลิตได้ไปยังต่างประเทศ ซึ่งตลาด ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป สหรัฐฯ และสิงคโปร์
ภาพรวมการพัฒนาชาขาวของอำเภอฝูติง เมืองหนิงเต๋อ มณฑลฝูเจี้ยน
อำเภอฝูติง เจิ้งเหอ ซงซีและเจี้ยนหยางเป็นแหล่งผลิตชาขาวที่สำคัญของมณฑลฝูเจี้ยน โดยเฉพาะอำเภอฝูติงของเมืองหนิงเต๋อ เป็นพื้นที่ปลูกชาที่สำคัญทั้งในระดับมณฑลฝูเจี้ยนและประเทศ โดยเน้นการปลูกชาขาวเป็นหลัก จึงขึ้นชื่อว่าเป็น “ต้นกำเนิดแห่งชาขาวของจีน” และได้รับการขนานนามว่า “ชาขาวแห่งโลกอยู่ที่จีน และชาขาวแห่งจีนอยู่ที่ฝูติง” ในปี 2560 อำเภอฝูติงได้รับการคัดเลือกเป็น “อำเภอสาธิตการพัฒนาอุตสาหกรรมใบชาแห่งประเทศจีนประจำปี 2559” ในปี 2562 อำเภอฝูติงได้รับการจัดอันดับเป็น “อำเภอที่มีอุตสาหกรรมใบชาที่มีศักยภาพติด 1 ใน 10 อันดับแรกของประเทศ” และ “อำเภอใบชาเกษตรอินทรีย์ 1 ใน 10 อันดับแรกของประเทศ”
อุตสาหกรรมชาขาวเป็นอุตสาหกรรมเกษตรหลักที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของอำเภอฝูติง มูลค่าการผลิตชาขาวคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่า GDP ของอำเภอฝูติง ในปี 2562 อำเภอฝูติงผลิตใบชาได้มากกว่า 29,200 ตัน โดยเป็นชาขาวกว่า 23,300 ตัน เท่ากับร้อยละ 47 ของปริมาณการผลิตชาขาว ทั่วประเทศ สูงเป็นอันดับ 1 ของจีน
ปัจจุบันอำเภอฝูติงมีประชากรกว่า 380,000 คน (ประชากรรวมประมาณ 600,000 คน) ที่ทำงานในอุตสาหกรรมใบชา คิดเป็นร้อยละ 63 ของประชากรอำเภอ และมีผู้ประกอบการชาขาวรวมกว่า 2,000 แห่ง รัฐบาลฝูติงได้ออกนโยบาย “รวยเพราะชา และพัฒนาได้เพราะชา” เพื่อส่งเสริมให้ชาวฝูติงปลูกชาขาวอย่างแพร่หลาย และชาวเกษตรสามารถนำใบชาที่ปลูกเองไปขายให้กับโรงงานโดยตรง โดยในปี 2562 รายได้เฉลี่ยสุทธิที่นำไปใช้ได้จริงของชาวชนบทประมาณ 17,880 หยวน ซึ่งรายได้กว่าครึ่งหนึ่งมาจากการจำหน่ายใบชา
ศูนย์บีไอซีขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จีนเป็นตลาดที่มีการบริโภคชาขาวขนาดใหญ่ โดยในปี 2562 จีนมีการจำหน่ายชาขาวภายในประเทศกว่า 42,200 ตัน คิดเป็นร้อยละ 85 ของการผลิตชาขาวทั่วประเทศ ทั้งนี้ นอกจากเป็นแหล่งผลิตชาขาวอันดับ 1 ของจีนแล้ว อำเภอฝูติงยังมีความได้เปรียบในด้านสินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ภายใต้ชื่อ “ชาขาวฝูติง” โดยชาวจีนมีคำกล่าวว่า “ชาขาวที่ไม่ได้ผลิตจากฝูติง ไม่ใช่ชาขาวแท้” ปัจจุบัน “ชาวขาวฝูติง” มีมูลค่ากว่า 4.49 พันล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 4 ของมูลค่าตราสินค้าอุตสาหกรรมใบชาทั้งหมดของจีน
สำหรับไทยซึ่งภายในประเทศมีการบริโภคใบชาอย่างแพร่หลาย แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยคุ้นเคยชาขาวเมื่อเทียบกับชาประเภทอื่น ๆ อาทิ ชาอูหลง ชาแดง การพัฒนาอุตสาหกรรมชาขาวอำเภอฝูติงจึงเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับภาคธุรกิจของไทย โดยเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการผลิตใบชาของไทยสามารถเรียนรู้ประสบการณ์และเทคนิคการผลิตชาขาวของอำเภอฝูติง
แหล่งอ้างอิง http://www.fjtea.cn/index.php/News/detail/id/36887.html
http://www.fuding.gov.cn/zwgk/bsyw/202005/t20200506_1306842.htm
http://www.fujian.gov.cn/xw/ztzl/gjcjgxgg/xld/202008/t20200802_5336233.htm