เมื่อวานนี้ (27 กันยายน 2562) ในรายวิชาการจัดการธุรกิจดิจิทัล ระดับปริญญาตรี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งผมเป็นอาจารย์พิเศษผู้รับผิดชอบวิชานี้ในเทอมนี้ ผมได้สอนนักศึกษาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การสร้าง Brand” ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่ามีเนื้อหาบางส่วนที่สามารถนำมาแชร์ในพื้นที่อ้ายจงได้ จึงขอนำมาบอกเล่าประมาณนี้ครับ

– ไม่ใช่แค่สินค้าหรือบริการที่จะต้องมีแบรนด์ แต่ทุกสิ่งในโลกใบนี้แม้แต่ตัวเราเองก็มีแบรนด์ สามารถสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำได้ ง่ายๆเลยก็เวลาเราเขียนบนFacebookส่วนตัวของเรา เรายังเขียนให้ดูน่าสนใจเพื่อให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับตัวเราเลย จริงไหมครับ

– ในเชิงการตลาดจีนก็เช่นกัน มีผู้ประกอบการจำนวนมาก เวลามาปรึกษา จะยื่นโจทย์

“ทำอย่างไรก็ได้ ให้ขายได้ในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง อยู่เสมอ” เพราะนั่นคือการตลาดไงครับ การตลาดคือการทำให้ขายได้

แต่ผมจะถามกลับไปทุกครั้งว่า “เราต้องวิเคราะห์ก่อนนะครับว่า กลุ่มเป้าหมายเราคือกลุ่มไหน จะเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทย หรือกลุ่มผู้บริโภคในจีน (หากมีช่องทางการขายในจีนแล้ว) หรือทั้ง2กลุ่ม และต้องวิเคราะห์ต่อด้วยว่า กลุ่มเป้าหมายมีการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์เราอย่างไรบ้าง? ที่ต้องวิเคราะห์แบบนี้ เพราะเราจะได้ทำแบบยั่งยืนครับ

มีคนจำนวนไม่น้อย โปรโทและทำการตลาดในจีนแบบฉาบฉวย ดันสินค้าบางตัวแบบลดแหลกแจกแถม และทุ่มเงินมหาศาลเพื่อให้เกิดการซื้อในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งถามว่ามีข้อดีไหม? ดีสิครับ เพราะเราขายได้

แต่… แทบจะเกือบ100%ที่ทำแบบข้างต้น พอเราเลิกทุ่มเงินโปรโมทแบบDirect sale คนจะลืมและไม่เห็นสินค้าหรือบริการของเรา คือไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “สินค้านั้นชื่อแบรนด์อะไร” เหมือนจุดพลุขึ้นฟ้า ส่องแสงสวยงามแค่ชั่วครู่ จากนั้นก็มลายหายไป แถมโดน copyง่ายอีกต่างหาก

ปัญหาคือ เราไม่ได้ “สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รับรู้อย่างยั่งยืน” ครับ

เคล็ดลับการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในจีน สรุปคร่าวๆจากประสบการณ์กว่า8ปีของผมได้ดังนี้

1. หากลุ่มเป้าหมายของเราให้เจอ
2. หาจุดเด่นจุดด้อยของเราให้ได้ และต้องรู้ว่าคู่แข่งดีหรือด้อยกว่าเราอย่างไรด้วย
3. จากข้อ2 จะนำพาเราไปสู่ตำแหน่งผู้ริเรื่มและผู้นำในน่านน้ำสีคราม (Blue ocean) ของโลกธุรกิจ

4. สื่อสารให้ตรงจุด อย่ายัดเยียดเข้าสู้มือผู้บริโภคจนเกินไป ให้ระลึกไว้ว่า การสื่อสารที่ดี ต้องมี Content is King เนื้อหาสารที่สื่อไปต้องมีคุณภาพ มีความ Creative และ Contentของตัวสินค้าหรือบริการก็ต้องมีจุดเด่นในตนเองด้วย

และที่ขาดไม่ได้ การสื่อสารออกไป ต้องดูว่า ตรงกับ Context หรือบริบทของกลุ่มเป้าหมายไหม เช่น D&Gแบรนด์อิตาลีที่เคยโดยคนจีนแบนไป เพราะดราม่าคลิปที่คนจีนมองว่าดูถูกจีน เขาทำผิดบริบท เนื่องจากไม่ดูว่า คนจีนไม่ได้ใช้ตะเกียบคีบทุกอย่าง และคนจีนมีความ unity หากคนจีนรู้สึกว่าโดนดูถูก ทำให้เสียหน้า จะเรื่องใหญ่มาก

5.รู้จักการปรับตัว ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดได้ตลอดเวลา

ตัวอย่างของแบรนด์ไทยที่สร้างการรับรู้ในตัวแบรนด์ได้ดีมาก เช่น ยาอมตราตะขาบ หรือกระเป๋า Naraya ที่คนจีนถึงขั้นเรียกว่า กระเป๋ากรุงเทพ 曼谷包 โดยทั้งคู่ต่างเริ่มสร้างแบรนด์โเยเลือกกลุ่มเป้าหายคือนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทย เพื่อให้เกิดการบอกต่อ และจากนั้นก็เน้นการสื่อสารก่รตลาดแบบเต็มรูปแบบ

สำหรับครั้งนี้ พอเขียนเล่าเท่านี้ก่อนครับ เดี๋ยวขอมาต่อคราวหน้า เพราะตอนนี้ต้องไปจัดการรายการ FM104.5แล้วครับ มาฟังกันได้นะ ^^

——–

ปอ ภากร กัทชลี เจ้าของเพจอ้ายจง เล่าเมื่อ 28 กันยายน 2562 ณ ร้านกาแฟบรรยากาศชิลชิลแห่งหนึ่งย่านราชพฤกษ์

#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #การตลาดจีน

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง