หลานโจว, 30 มี.ค. (ซินหัว) — เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยจีนได้จัดทำชุดข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการกระจายตัวเชิงพื้นที่และรูปแบบต่างๆ ของการกระจายตัวของหิมะที่ตกในบริเวณเชิงเขาทางตอนใต้ของเทือกเขาอัลไต ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
จงซินเย่ว์ ผู้นำการวิจัยและนักวิจัยจากสถาบันสภาพแวดล้อมเชิงนิเวศวิทยาและทรัพยากรซีเป่ย หรือ เอ็นไออีอีอาร์ (NIEER) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่าชุดข้อมูลดังกล่าวจะให้ข้อมูลที่ใช้ยืนยันความถูกต้องอันสำคัญต่อการสำรวจระยะไกล รวมถึงแบบจำลองทางอุทกวิทยาของเทือกเขาอัลไต ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่หลักที่มีการกระจายตัวของหิมะในประเทศจีน
การศึกษานี้ซึ่งทำร่วมกันโดยนักวิจัยจากเอ็นไออีอีอาร์ มหาวิทยาลัยหลานโจว และสถาบันอื่นๆ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารความก้าวหน้าในงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Advances in Climate Change Research) โดยบรรดานักวิจัยได้รวบรวมและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความลึกของหิมะ ปริมาณน้ำหิมะ (SWE) และความหนาแน่นของหิมะ บริเวณเชิงเขาทางตอนใต้ของเทือกเขาอัลไต
ปริมาณหิมะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากคุณสมบัติและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของหิมะให้ข้อมูลที่สำคัญต่อการทำความเข้าใจกระบวนการทางอุทกวิทยา แบบแผนของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิดิน และสมดุลพลังงานของพื้นผิว
จงกล่าวว่า “คุณลักษณะในการกระจายตัวของหิมะได้รับอิทธิพลจากลักษณะภูมิประเทศและพืชพันธุ์ในพื้นที่ทางตอนใต้ของเทือกเขาอัลไตเป็นอย่างมาก ระดับความสูงและพิกัดละติจูดเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อความสูงของหิมะและปริมาณน้ำหิมะ ขณะที่พิกัดลองจิจูดส่งผลกระทบอย่างมากต่อความหนาแน่นของหิมะ”
จงเสริมว่าการศึกษานี้ยังช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหิมะ ภูมิประเทศ และภูมิอากาศบนภูเขาสูงในเอเชียด้วย
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Xinhua