1. Health Code เทคโนโลยีต่อสู้เชื้อไวรัส COVID-19 ของจีน

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลก ในขณะที่ยังไม่มีประเทศ หรือหน่วยงานองค์กรใด ๆ สามารถคิดค้นวัคซีนและยารักษาได้สำเร็จ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีบทบาทสำคัญในการจัดการและแก้ไขปัญหาวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ หลายประเทศได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือเพื่อติดตามและบันทึกข้อมูลกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คน และนำข้อมูลไปใช้ในงานสาธารณสุขเพื่อป้องกันความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในวงกว้าง ดังเห็นได้ในรูปแบบแอพพลิเคชันไทยชนะที่รัฐบาลไทยนำมาใช้ รวมถึงหลายประเทศทั่วโลก อาทิ Bluezone ของเวียดนาม COVIDsafe ออสเตรเลีย NHS COVID-19 ของอังกฤษ และ TraceTogether ของสิงคโปร์

รหัสสุขภาพ (Health Code) ของจีน เป็นระบบตรวจสอบและติดตามข้อมูลสถานะสุขภาพและการเดินทางของประชาชนผ่านโทรศัพท์มือถือด้วย QR Code ซึ่งสามารถระบุระดับความเสี่ยงของบุคคลตามประวัติการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยสถานะระดับความเสี่ยงจะเป็นตัวชี้วัด ควบคุมกิจกรรมและการเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ของประชาชนแต่ละคน เพื่อผ่อนคลายการปิดเมืองอย่างระมัดระวัง ส่งเสริมกลับมาทำงานของประชาชน กิจกรรมการผลิตในโรงงาน การเริ่มการเรียนการสอนในสถานศึกษา และนำไปสู่การกลับมาใช้ชีวิตตามปกติในที่สุด

1.1 ปัญหา Health Code ท้องถิ่น

ระบบ Health Code ถูกนำออกมาใช้ในหลายพื้นที่ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งมีรัฐบาลท้องถิ่นเมืองเซินเจิ้นและเมืองหางโจวเป็นสองเมืองแรกที่นำระบบนี้ออกมาทดลองใช้ ในชื่อ เซินเจิ้นรักคุณ ( 深i您) และรหัสสุขภาพเมืองหางโจว ภายหลังเมืองต่าง ๆ กว่า 200 เมืองทั่วประเทศจีนได้พัฒนาและนำระบบสุขภาพของตนออกมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตให้แก่ประชาชน

ระบบ Health Code ของจีนถูกนำมาใช้อย่างรวดเร็ว ด้วยรูปแบบการใช้งานที่คล้ายกับการชำระเงินออนไลน์ด้วยโทรศัพท์มือถือที่ชาวจีนมีความคุ้นเคย ประชาชนสามารถเข้าสู่ระบบ Health Code ได้ในแอพพลิเคชันที่ใช้การอย่างแพร่หลายในประเทศจีนอย่าง Wechat และ Alipay ในรูปแบบของ Mini Program หรือส่วนเชื่อมต่อที่อยู่ภายในแอพฯ ทั้งสอง ซึ่งสะดวกต่อการใช้งาน ไม่จำเป็นต้องติดตั้งแอพพลิเคชั่นเพิ่มเติม โดยผู้ใช้จะต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวเข้าสู่ระบบเพื่อสร้าง QR Code ส่วนบุคคลที่แสดงสถานะสุขภาพ Health Code โดยระบบจะทำการปรับปรุงสถานะเมื่อมีการกรอกข้อมูลใหม่หรือข้อมูลประวัติการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ และประชาชนแต่ละคนจะต้องแสดง Health Code ของตนให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ก่อนจะได้รับอนุญาตให้เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เข้าออกสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงการเดินทางข้ามพื้นที่เมือง Health Code ของแต่ละคนจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากตรวจพบผู้ที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงเกินกำหนดหรือมีความเสี่ยงสูง ข้อมูลจะถูกส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนของผู้ป่วยต้องสงสัย เพื่อติดตามและกักกันผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัสกับผู้ป่วยต้องสงสัยในทันที

อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกผู้คนกลับประสบปัญหาในการใช้ Health Code ที่แตกต่างกันระหว่างเมืองและมณฑล เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 คณะกรรมาธิการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Commission) ได้แถลงการณ์ชี้แจงปัญหาเรื่อง Health Code ของแต่ละเมืองไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเดินทางกลับเข้าทำงานของประชาชน หน่วยงานท้องถิ่นต่างดำเนินการพัฒนาระบบรหัสสุขภาพของตนเอง ทำให้ประชาชนต้องยื่นขอ Health Code ของหลายพื้นที่หากจำเป็นต้องเดินทางไปต่างเมือง โดยยังไม่มี Health Code กลางที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ ด้วยสาเหตุ ดังนี้

(1) ระดับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ของแต่ละมณฑลมีความแตกต่างกัน มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของแต่ละพื้นที่จึงมีความแตกต่างกัน

(2) มาตรฐานของแต่ระบบมีความแตกต่างกัน บางระบบอ้างอิงฐานข้อมูลระดับประเทศของทางการ บางระบบอ้างอิงข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้ หรือเพียงแค่ข้อมูลอุณหภูมิร่างกายที่ผู้ใช้กรอกในระบบ

(3) รหัสสุขภาพ นั้นบอกได้เพียงภาวะสุขภาพของผู้ใช้ ณ เวลาที่ตรวจ แต่ไม่สามารถคาดการณ์ภาวะสุขภาพในอนาคต หากไม่มีการกรอกข้อมูลต่อเนื่อง

1.2 แนวทางการแก้ไขปัญหา

ในช่วงเดือนเมษายน 2563 National Health Commission ได้แก้ปัญหาการแยกพัฒนาระบบ Health Code ของแต่ละเขตพื้นที่ ด้วยการร่วมมือกับ Alipay พัฒนาระบบรหัสสุขภาพระดับประเทศ (National Health Code System) ซึ่งคล้ายคลึงกับระบบที่ใช้ในเมือง Hangzhou มณฑล Zhejiang เพื่อสร้างระบบรหัสสุขภาพกลางที่สามารถใช้เดินทางได้ทั่วประเทศ และเผยแพร่ข้อมูลความเสี่ยงการระบาดของไวรัส COVID-19 และแนวทางการป้องกันให้แก่หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับพัฒนาระบบ Health Code ให้มีมาตรฐานข้อมูลที่ตรงกัน ซึ่งประกอบไปด้วย ฐานข้อมูลลักษณะผู้มีอาการป่วย ฐานข้อมูลผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ฐานข้อมูลเขตความเสี่ยง เป็นต้น 

QR CODE สำหรับดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น หรือเข้าสู่ Mini Program ของ National Health Commission

ที่มา http://gjzwfw.www.gov.cn/col/col641/index.html

National Health Code System เป็นเพียงระบบที่รัฐบาลกลางสร้างขึ้นเพิ่มเติม โดยยังอนุญาตให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นยังคงใช้ระบบ  Health Code ของตนเอง และกำหนดมาตรฐานเพื่อแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่าง Health Code ของพื้นที่ต่าง ๆ โดยเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2563 National Health Commission ได้ประกาศบังคับใช้มาตรฐานของระบบ Health Code เพื่อส่งเสริมให้ระบบของแต่ละท้องถิ่นสามารถใช้ร่วมกันได้ ใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน และแสดงข้อมูลภายใต้มาตรฐานเดียวกัน โดยนอกจากข้อมูลที่ผู้ใช้กรอกด้วยตนเอง ยังมีการอ้างอิงข้อมูลผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลการเดินทางของประชาชน ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้จากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมาประมวลผลและวิเคราะห์ร่วม ก่อนแสดงผลออกมาเป็น QR ที่แสดงระดับความเสี่ยงของบุคคลนั้น ๆ ตัวแปรที่จะกำหนดระดับความเสี่ยง ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ ประวัติการเดินทาง ระยะเวลาที่พำนักอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค และความสัมพันธ์กับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ นอกจากนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการเพิ่มเติมในการปรับหรือจับ กรณีตรวจพบการกรอกข้อมูลเท็จ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

1.3 International Health Code สำหรับผู้เดินทางกลับประเทศ

นอกเหนือจาก Health Code ที่ใช้งานภายในประเทศ ทางการจีนยังพัฒนาระบบรหัสสุขภาพฉบับนานาชาติ ซึ่งทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติของจีนได้ประกาศเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 กำหนดให้ประชาชนที่เดินทางเข้าประเทศจีนจาก 26 ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ กรอกข้อมูลในระบบรหัสสุขภาพฉบับนานาชาติ โดยจะต้องกรอกข้อมูลติดต่อกัน 14 วัน จึงจะได้รับ Health Code ที่สามารถนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ของสายการบินในขณะเดินทางกลับเข้าประเทศจีน เพื่อป้องกันการนำเข้าผู้ป่วยติดเชื้อเข้าประเทศ ทั้งนี้ ผู้ที่เดินทางกลับเข้าประเทศยังคงต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ก่อนจะได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับบ้าน

2. ความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานผลสำรวจความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ว่า มีสถาบันวิจัย บริษัทยา และองค์กรไม่แสวงผลกำไรทั่วโลกกำลังดำเนินการวิจัยรวม 131 โครงการ ในจำนวนดังกล่าวมีโครงการคืบหน้าถึงขั้นทดลองทางคลินิกหรือขั้นทดลองในมนุษย์แล้ว 10 โครงการ แบ่งเป็นโครงการที่กำลังทดลองในระยะที่ 1 จำนวน 2 โครงการ โครงการที่กำลังทดลองในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 พร้อมกันจำนวน 7 โครงการ และอีกหนึ่งโครงการที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัย Oxford ร่วมกับAstraZeneca ที่เข้าสู่การทดลองในระยะที่ 3 แล้ว

จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีวัคซีนในขั้นทดลองมนุษย์มากที่สุดรวมจำนวน 5 โครงการ ซึ่งมีผู้พัฒนา 4 รายอยู่ในระยะที่ 1 และ 2 ได้แก่ 

(1) CanSino Biological Inc. / Beijing Institute of Biotechnology 

(2) Wuhan Institute of Biological Products / Sinopharm

(3) Beijing Institute of Biological Products / Sinopharm

(4) Sinovac

และโครงการของ Institute of Medical Biology, Chinese Academy of Medical Sciences ที่อยู่ในขั้นตอนการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1

ข้อมูลวัคซีนที่อยู่ในขั้นทดลองในมนุษย์ ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2563 (แหล่งที่มา WHO)

การแข่งขันพัฒนาวัคซีนเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 จีนได้ตอบโต้สหรัฐฯ ที่กล่าวหาว่าจีนพยายามขโมยข้อมูลการวิจัยวัคซีนและยารักษา COVID-19 โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนตอบคำถามในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ทั้งสองประเทศพัฒนาวัคซีนในรูปแบบทีต่างกัน จีนมุ่งพัฒนาวัคซีนจากเชื้อไวรัสที่ตายแล้ว (Inactivated Vaccine) ส่วนสหรัฐฯ กำลังพัฒนา DNA และ RNA Vaccine ซึ่งข้อมูลการวิจัยมีความเกี่ยวข้องกันน้อยมาก

จีนยังพยายามสร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ทั้งสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเยอรมันเพื่อเร่งพัฒนาวัคซีนให้ได้เป็นประเทศแรก ขณะที่ผู้พัฒนาในประเทศมีความคืบหน้าไปอย่างมาก โดยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ประธาน Sinovac ได้ประกาศว่าบริษัทจะเริ่มทดลองผลิตวัคซีนอย่างเร็วที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2563

อ้างอิง