
ปักกิ่ง, 22 เม.ย. (ซินหัว) — เมื่อวันอังคาร (20 เม.ย.) จีนเริ่มเปิดใช้งานโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแห่งอนาคต หรือ เอฟไอทีไอ (FITI) ซึ่งเป็นโครงข่ายการสื่อสารสมรรถนะสูงของประเทศ โดยโครงการดังกล่าวจะสร้างสภาพแวดล้อมการทดสอบขั้นสูงที่เปิดกว้างสำหรับการวิจัยและออกแบบระบบอินเทอร์เน็ตแห่งอนาคต
อู๋เจี้ยนผิง ศาสตราจารย์จากภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University) ระบุว่าเอฟไอทีไอถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโปรโตคอลรุ่นที่ 6 (IPv6) โดยมหาวิทยาลัยจีน 40 แห่ง ซึ่งมีการติดตั้งสถานีหลักของโครงข่ายการสื่อสารดังกล่าวไว้ในมหาวิทยาลัย 40 แห่ง ใน 35 เมืองทั่วประเทศ
เอฟไอทีไอมุ่งให้บริการการทดสอบชั้นสื่อสารกายภาพ (physical layer) ชั้นสื่อสารเชื่อมต่อข้อมูล (data link layer) ชั้นสื่อสารเครือข่าย (network layer) ชั้นสื่อสารนำส่งข้อมูล (transmission layer) และชั้นสื่อสารการประยุกต์ (application layer) โดยแบนด์วิธสูงสุดระหว่างกลุ่มสถานีหลักอยู่ที่ 200 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) และยังเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐาน IPv4 และ IPv6 ระดับโลกได้อย่างแนบเนียน
เมื่อนับถึงเดือนเมษายน 2021 จีนมีจำนวนที่อยู่ (address) ของ IPv6 มากที่สุดในโลก โดย IPv6 เป็นโปรโตคอลการสื่อสารที่ให้ระบบการระบุตัวตนและการบอกตำแหน่ง สำหรับคอมพิวเตอร์บนเครือข่ายและเส้นทางส่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Xinhua