จีนเริ่มสร้าง ‘กล้องโทรทรรศน์ห้วงอวกาศแบบกว้าง’ | XinhuaThai

(แฟ้มภาพซินหัว : กล้องโทรทรรศน์ที่สถานีการสื่อสารควอนตัมภาคพื้นดิน ในเต๋อลิ่งฮวา มณฑลชิงไห่ทางตะวันออกของจีน วันที่ 14 ธ.ค. 2016)

ซีหนิง, 12 พ.ค. (ซินหัว) — คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนกำลังดำเนินการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์สำรวจห้วงอวกาศแบบกว้าง (WFST) ซึ่งมีขอบเขตการสำรวจกว้างและมีความละเอียดสูง ในมณฑลชิงไห่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยกล้องโทรทรรศน์นี้ช่วยให้สามารถสำรวจทั่วท้องฟ้าของซีกโลกเหนือได้

นักวิทยาศาสตร์เริ่มการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์สำรวจห้วงอวกาศแบบกว้าง ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เมตร ที่ตำบลเหลิ่งหู ซึ่งมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 4,200 เมตร และมีชื่อเล่นว่าเป็น “ค่ายดาวอังคาร” ของจีน เนื่องจากมีลักษณะภูมิประเทศเป็นทะเลทรายที่ถูกกัดกร่อนอย่างน่าประหลาด ดูคล้ายกับพื้นผิวของดาวอังคาร

โครงการกล้องโทรทรรศน์นี้ เริ่มต้นขึ้นในปี 2017 ด้วยเงินลงทุน 200 ล้านหยวน (ราว 968 ล้านบาท) ผ่านความร่วมมือจากหลายสถาบันวิจัย ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน และหอดูดาวจื่อจินซาน (Purple Mountain Observatory) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถสำรวจทั่วทั้งท้องฟ้าตอนเหนือได้ทุกๆ 3 คืน

“มันจะกลายเป็นกล้องโทรทรรศน์สำรวจท้องฟ้าทรงพลังที่สุดในซีกโลกเหนือ” ข่งซวี่ หัวหน้านักออกแบบของโครงการ และศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยฯ กล่าวระหว่างพิธีเปิดตัวโครงการ เมื่อวันอังคาร (11 พ.ค.)

ข่งกล่าวว่ากล้องโทรทรรศน์นี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สร้างความก้าวหน้าในหลายด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลงของวัตถุท้องฟ้าตามกาลเวลา (time-domain astronomy) การค้นหาวัตถุท้องฟ้าในระบบสุริยะชั้นนอก และการศึกษาโครงสร้างกาแล็กซีทางช้างเผือก

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :

Xinhua

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]