(แฟ้มภาพซินหัว : สายฟ้าผ่าในเมืองอันซุ่น มณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 12 ส.ค. 2017)

ปักกิ่ง, 3 ส.ค. (ซินหัว) — นักวิจัยชาวจีนได้เพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์การเกิดฝนพาความร้อน (Convective Rain) ในระยะสั้น โดยใช้ข้อมูลจากเหตุฟ้าผ่า

ปรากฎการณ์ฟ้าผ่า เป็นผลมาจากการไหลเวียนของกระแสอากาศอย่างรุนแรง (Strong Convection) ซึ่งฟ้าผ่านั้นจะสามารถช่วยระบุการเคลื่อนที่ขึ้นสู่ด้านบน และกระบวนการทางไมโครฟิสิกส์ (microphysics) ภายในเมฆเย็นของพายุฝนฟ้าคะนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เทคโนโลยีการตรวจจับและการระบุตำแหน่งฟ้าผ่าพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันเทคโนโลยีการทำแผนที่ฟ้าผ่าแบบ 3 มิติ ได้ลดความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งการเกิดฟ้าผ่าแนวนอน ลงเหลือเพียงหลักหลายเมตร

เพื่อให้ได้ข้อมูลตำแหน่งที่เกิดฟ้าผ่าที่เชื่อถือได้ รวมถึงส่งเสริมการใช้ข้อมูลฟ้าผ่าในการปรับปรุงงานพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในระยะสั้นและกระชั้นชิด เหล่านักวิจัยจากสถาบันฟิสิกส์บรรยากาศ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้ดำเนินโครงการภาคสนามในฤดูที่อากาศอบอุ่นติดต่อกันหลายปี ในกรุงปักกิ่งและพื้นที่โดยรอบ โดยได้ศึกษาลักษณะเฉพาะและรูปแบบของระบบสภาพอากาศที่ก่อให้เกิดผลกระทบสูง

นักวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างฟ้าผ่าและลักษณะทางกายภาพทางไมโครฟิสิกส์ เช่น ปริมาณของสสารประเภทน้ำแข็งและน้ำ

นักวิจัยดึงข้อมูลการสังเกตการณ์สนามไฟฟ้าการพาความร้อนที่มีพลวัต มาเทียบเคียงกับข้อมูลฟ้าผ่า โดยอิงจากข้อมูลความเชื่อมโยงทางกายภาพระหว่างฟ้าผ่าและการเคลื่อนที่ขึ้นอย่างรุนแรงภายในเมฆ

ทั้งนี้ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนคาดว่า การใช้ข้อมูลฟ้าผ่าจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการไหลเวียนของกระแสอากาศที่มีขอบเขตไม่กว้างนัก ในพื้นที่ห่างไกลต่างๆ ที่ไม่มีข้อมูลเรดาร์เพียงพอ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแม่นยำของการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในระดับท้องถิ่น

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :

Xinhua