มณฑลกวางตุ้งปัดฝุ่นนโยบาย “ลดภาษีสำหรับโครงการวิจัยและพัฒนา” หวังยืนหนึ่งด้านนวัตกรรม

เราทุกคนคงทราบกันดีว่าหัวใจของการเกิด “นวัตกรรม” มาจาก “การวิจัยและพัฒนา” มณฑลกวางตุ้งซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีนได้ดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อการเป็นเบอร์หนึ่งด้านนวัตกรรมของจีน ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนได้จัดทำ “รายงานศักยภาพด้านนวัตกรรมของจีนประจำปี 2563” โดยศึกษาศักยภาพด้านการพัฒนานวัตกรรมของแต่ละพื้นที่ของจีน รายงานดังกล่าวระบุว่า มณฑลกวางตุ้งมีดัชนีศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมสูงเป็นอันดับ 1 ของจีน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 ปี ผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าอะไรทำให้ มณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีน โดยมีขนาด GDP มากที่สุดในจีนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 30 ปี ยังสามารถควบแชมป์ด้านนวัตกรรมเช่นนี้ได้ และอะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้

ทุ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา

เมื่อปี 2562 มณฑลกวางตุ้งใช้จ่ายงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนามูลค่า 309,850 ล้านหยวน (44,915 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยคิดเป็นร้อยละ 2.88 ของ GDP ของมณฑลกวางตุ้ง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในมณฑลกวางตุ้งจัดสรรงบประมาณและเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากเป็นอันดับ 1 ของจีนติดต่อกันนาน 3 ปี โดยมีมณฑลเจียงซูเป็นอันดับ 2 มูลค่า 277,950 ล้านหยวน (40,291 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) กรุงปักกิ่ง อันดับ 3 มูลค่า 223,360 ล้านหยวน (32,378 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นครเซี่ยงไฮ้ อันดับ 4 มูลค่า 152,460 ล้านหยวน (22,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมณฑลซานตง อันดับ 5 มูลค่า 149,470 ล้านหยวน (21,667 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

เดินหน้าปรับปรุงนโยบายด้านภาษี

ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญของจีน นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 โดยรัฐบาลกลางจีนได้ออกนโยบายเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาโดยมุ่งเน้นช่วยเหลือภาคเอกชนในการลดค่าใช้จ่ายด้วย “การลดภาษี” ซึ่งมณฑลกวางตุ้งก็ได้รับนโยบายดังกล่าวมาดำเนินการอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ภาคเอกชนบางรายอาจไม่สามารถใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวได้อย่างเต็มที่เนื่องจากความซับซ้อน และขั้นตอนที่ยุ่งยากในการขอรับการสนับสนุน ดังนั้น เพื่อให้การใช้นโยบายดังกล่าวมีความสะดวกมากขึ้น ลดความซับซ้อน และเพื่อสร้างความชัดเจนของประเภทโครงการวิจัยที่เข้าข่ายได้รับการสนับสนุน สำนักงานจัดเก็บภาษีประจำมณฑลกวางตุ้ง (Guangdong Provincial Tax Service) จึงได้จัดทำ “แนวทางการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมการวิจัยและพัฒนา” สำหรับโครงการวิจัยและพัฒนาใน 10 สาขาอุตสาหกรรม ซึ่งสำนักงานจัดเก็บภาษี ประจำมณฑลกวางตุ้งเรียบเรียงจากคู่มือการดำเนินนโยบาย   หักลดภาษีสำหรับโครงการพัฒนาและวิจัยที่ประกาศโดยกระทรวงการจัดเก็บภาษีจีน (State Taxation Administration) เมื่อปี 2561 โดยแบ่งตามสาขาการวิจัยและพัฒนา ดังนี้

  1. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรุ่นใหม่ (Next-Generation Information And Communication Technology) ได้แก่ โครงข่ายโทรคมนาคมยุคหน้า (Next Generation Network) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) เทคโนโลยีผสานเครือข่าย (Network Convergence) จอแบนรุ่นใหม่ (Next-Gen Flat-Panel Display) แผงวงจรรวมประสิทธิภาพสูง (High-Performance Integrated Circuit) และคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing)
  2. การผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูง (High-end Equipment Manufacturing) เช่น อุตสาหกรรมการผลิต
    ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือใช้อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า
  3. เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ (Green and Low-Carbon Technology) เช่น รถยนต์พลังงานใหม่ พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่
  4. ชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceutical) เช่น เทคโนโลยีการหาลำดับเบส (Next generation sequencing) ชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences) การรักษาโรคด้วยเซลล์ (Stem-cell Therapy) การตรวจหาโรคจากชิ้นเนื้อและของเหลว (liquid biopsy) การพิมพ์วัสดุชีวภาพสามมิติ (3D-bioprinting) แพทย์แผนจีนเพื่อสุขภาพ และวัคซีนใหม่ เป็นต้น
  5. เศรษฐกิจดิจิดัล (Digital Economy) เช่น ระบบซอฟต์แวร์ประมวลข้อมูล ซอฟต์แวร์พื้นฐาน การจัดเก็บข้อมูล และแอปพลิเคชัน เป็นต้น
  6. วัสดุใหม่ (New Materials) ได้แก่ (1) เทคโนโลยีวัสดุโลหะ (metallic materials) อาทิ เทคโนโลยีวัสดุสำหรับเซมิคอนดักเตอร์ (2) วัสดุที่ไม่ใช่โลหะ (Non-metallic materials) อาทิ เทคโนโลยีวัสดุเสริมความแข็งแกร่งของเซรามิก (3) วัสดุโพลีเมอร์ (Polymer Material) อาทิ เทคโนโลยีการรีไซเคิลโพลีเมอร์ (4) วัสดุชีวภาพทางการแพทย์ (Biomedical Materials) อาทิ เทคโนโลยีกระดูกเทียม (5) สารเคมีพิเศษ อาทิ เทคโนโลยีสารเคมีสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ (6) วัสดุใหม่ด้านศิลปะและวัฒนธรรม
  7. เศรษฐกิจทางทะเล (Marine Economy) ได้แก่ การประมงทะเล (Marine Fisheries) การขนส่งทางทะเล การต่อเรือเดินทะเล อุตสาหกรรมเกลือทะเล และการท่องเที่ยวทางทะเล
  8. อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์สมัยใหม่และการเกษตรความแม่นยำสูง (Modern Seed Industry and Precision Agriculture) ได้แก่ อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการเกษตรความแม่นยำสูง ความปลอดภัยของอาหาร และอุปกรณ์การเกษตรอัจฉริยะ
  9. วิศวกรรมสมัยใหม่ (Modern Engineering Technology) ได้แก่ เทคโนโลยีการก่อสร้างโครงการพื้นฐาน เทคโนโลยีการควบคุมบริหารจัดการและประหยัดน้ำ เทคโนโลยีการจัดสรรพื้นที่เมืองและการรีไซเคิล เทคโนโลยีอาคารสีเขียวอัจฉริยะ และเทคโนโลยีวิศวกรรมสมัยใหม่
  10. สารกึ่งตัวนำและวงจรรวม (Semiconductors and Integrated Circuits)

ลดภาษีสูงสุดร้อยละ 70 หวังสร้างสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นและกาเซลล์

นายหลิว เคอ (Liu Ke) ผู้อำนวยการกองภาษีรายได้นิติบุคคล กรมจัดเก็บภาษี ประจำมณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่า กรมจัดเก็บภาษี ประจำมณฑลกวางตุ้งได้จัดทำแนวทางเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมการวิจัยและพัฒนาใน 10 สาขาอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมโครงการวิจัยและพัฒนาที่ดำเนินในช่วงปี มกราคม 2561 – ธันวาคม 2563 โดยแบ่งออกเป็น 3 นโยบายสำคัญเรียกว่า “หนึ่งปรับ หนึ่งขยาย และหนึ่งเพิ่ม” ซึ่งประกอบด้วย (1) หนึ่งปรับ คือ ปรับอัตราส่วนการหักภาษีโครงการวิจัยและพัฒนาสูงสุดร้อยละ 70 จากเดิมร้อยละ 50 (2) หนึ่งขยาย คือ ขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาของโครงการฯ ที่สามารถรับประโยชน์จากนโยบายฯ ได้นานที่สุด 10 ปี จากเดิม 5 ปีและ (3) หนึ่งเพิ่ม คือ เพิ่มเงื่อนไขพิเศษให้กับบริษัทซอฟต์แวร์และแผงวงจรรวม โดยบริษัทเทคโนโลยี ศูนย์บ่มเพาะทางเทคโนโลยี (Technology Business Incubator) รวมถึงบริษัทที่ดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ (new business model company) ในมณฑลกวางตุ้ง สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์นี้

นายหลิวฯ ยังกล่าวด้วยว่า นโยบายหักลดภาษีให้แก่โครงการวิจัยและพัฒนาจะสามารถกระตุ้นให้มณฑลกวางตุ้ง  มีสิ่งแวดล้อมสำหรับการพัฒนานวัตกรรมที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งมณฑลกวางตุ้งมุ่งหวังที่จะสร้างบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วระดับยูนิคอร์น (unicorn) และบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วและมีผลกำไรมากระดับกาเซลล์ (gazelle company) ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

เชื่อได้ว่า นโยบายด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะใน 10 สาขาอุตสาหกรรมดังที่กล่าวมาข้างต้น จะนำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในมณฑลกวางตุ้งมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนด้านภาษีล้วนแล้วสอดคล้องกับสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งพัฒนาภายใต้โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) หากสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยในไทยสามารถมีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาในด้านต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วจะเป็นโอกาสอันดีที่ไทยกับมณฑลกวางตุ้งสามารถแบ่งปันผลงานการวิจัยเพื่อนำไปผลิตนวัตกรรมสำหรับการใช้ในไทย และเปลี่ยนเป็นแรงขับเคลื่อนให้แก่เศรษฐกิจไทยในยุคดิจิทัลต่อไป ในอนาคต

แหล่งที่มาของข้อมูล
มณฑลกวางตุ้งปัดฝุ่นนโยบาย “ลดภาษีสำหรับโครงการวิจัยและพัฒนา” หวังยืนหนึ่งด้านนวัตกรรม

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]