ไท่หยวน, 15 ก.ย. (ซินหัว) — เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ภายใต้การบริหารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งก่อสร้างโดยบริษัทบีจีอาร์ไอเอ็มเอ็ม (BGRIMM) ของไทย ร่วมกับบริษัทจีน ไชน่า เอเนอร์จี คอนสตรักชัน กรุ๊ป ซานซี อิเล็กทริก พาวเวอร์ เซอร์เวย์ แอนด์ ดีไซน์ อินสติติว จำกัด ได้ดำเนินการเชื่อมต่อไฟฟ้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอย่างเต็มกำลัง

โครงการนี้ตั้งอยู่ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี บนพื้นที่ราว 760 ไร่ หรือเทียบเท่าสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน 170 สนาม มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 58.5 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์ 7 ชุด โมดูลเซลล์แสงอาทิตย์รวม 144,420 แผ่น และเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดของไทย

บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการกฟผ. กล่าวว่าไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งจะช่วยบรรเทาวิกฤตการณ์ด้านพลังงานของโลก ด้านเมิ่งชุนเหว่ย จากไชน่า เอเนอร์จีฯ กล่าวว่าเมื่อโครงการเริ่มดำเนินการจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 47,000 ตันต่อปี

จุดเด่นของโครงการคือสามารถปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำและแสงอาทิตย์ได้ โดยผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน และจากพลังงานน้ำในตอนกลางคืน ลดปัญหาความไม่แน่นอนในผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

เดือนมกราคม 2020 หลังลงนามในโครงการนี้อย่างเป็นทางการ ทีมงานทำงานตามข้อกำหนดของกฟผ. อย่างเต็มที่ เพิ่มประสิทธิภาพระบบยึดโยงใต้น้ำและอุปกรณ์ลอยน้ำ วางสายเคเบิลใต้น้ำโดยเลี่ยงการสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม วางระบบที่สามารถตรวจสอบพิกัดของทุ่นลอยได้แบบเรียลไทม์ เป็นต้น

ในอนาคต กฟฝ. จะใช้พื้นที่นี้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ นอกเหนือจากประโยชน์ด้านการชลประทาน การขนส่ง และการผลิตไฟฟ้า

(ภาพไม่ระบุวันที่จากไชน่า เอเนอร์จี คอนสตรักชัน ซานซี อินสติติว)

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :

Xinhua