หลานโจว ผลิตเครื่องปฏิกรณ์ไฮโดรเจนเย็น Made in China ได้เป็นครั้งแรกในจีน

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 บริษัท Lanshi Group (兰石集团) วิสาหกิจท้องถิ่นของมณฑลกานซู เปิดตัวเครื่องปฏิกรณ์ไฮโดรเจนเย็น (Cold Hydrogenation Reactor: 材质冷氢化反应器) ซึ่งทำจากโลหะผสมเหล็กและนิกเกิลได้เป็นชุดแรกในจีน ภายใต้การสนับสนุนจากบริษัท Asia Silicon Industry (Qinghai) Co., Ltd. (亚洲硅业(青海) 股份有限公司)

เครื่องปฏิกรณ์ไฮโดรเจนเย็นดังกล่าว นอกจากจะทำให้สามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนและเครื่องจักรจากต่างประเทศแล้ว ยังมีความสำคัญในแง่การเพิ่มกำลังการผลิตให้กับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนโพลีซิลีกอน (Polysilicon:多晶硅) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ที่จีนมุ่งให้ความสำคัญต่อการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดอีกด้วย

ในการดำเนินการครั้งนี้ บริษัท Lanshi Group ใช้เวลากว่า 4 เดือนในการศึกษาวิจัยแร่ทดแทนนิกเกิล(ซึ่งเป็นแร่หลักในการผลิตโพลีซิลิกอน) เพื่อลดการนำเข้าแร่นิกเกิลจากต่างประเทศ โดยหันมาวิจัยการนำโลหะผสมเหล็กและนิกเกิล มาใช้ทดแทน และได้ผลลัพธ์ที่ดีจนสามารถนำมาผลิตเครื่องปฏิกรณ์ดังกล่าว  อันเป็นหมุดหมายสำคัญในความก้าวหน้าครั้งใหม่ของอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าของประเทศจีน

ผลงานความสำเร็จในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของวิสาหกิจชั้นนำด้านพลังงานใหม่ของจีน อาทิ  บริษัท Asia Silicon Industry (Qinghai) Co., Ltd. (亚洲硅业 (青海) 股份有限公司) บริษัท East Hope (东方希望集团) และบริษัท Xinjiang Great New Energy Co., Ltd. (新疆大全新能源股份有限公司) ที่นอกจากจะสามารถผลิตเครื่องปฏิกรณ์ไฮโดรเจนเย็นแล้ว ที่ผ่านมา วิสาหกิจต่าง ๆ ยังร่วมกันวิจัยและผลิตอุปกรณ์หลักของถังแรงดัน (Core pressure vessel equipment) ได้แก่ Gas-gas heaters (GGH: 气气换热器), Columns (塔器), Spherical tank (球罐), Reduction furnace (还原炉) เพื่อใช้ในประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ ความสำเร็จในครั้งนี้ ยังถือเป็นความก้าวหน้าของการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมพลังงานของมณฑลกานซู ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการรับแสงแดดได้สูงสุดแห่งหนึ่งในจีนราว 3,000 ชั่วโมง/ปี มีปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ทั้งปีราว 4,190-5,016 เมกะจูลต่อตารางเมตร (MJ/m2) ตลอดจนมีพายุทะเลทรายหลายครั้ง/ปี ส่งผลดีต่อการนำพลังงานแสงอาทิตย์และลมมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ตลอดหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลกลางมีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานข้างต้นเพื่อสร้างสังคมกินดีอยู่ดีและยกระดับความมั่งคั่งของพื้นที่ แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ ผ่านมา มณฑลกานซูประสบปัญหาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ไม่สามารถสร้างรายได้และตอบโจทย์ความต้องการของรัฐบาล โดยเฉพาะในปี 2560 ข้อมูลจากกรมพลังงานแห่งชาติ ระบุว่า มณฑลกานซูกลับเป็นมณฑลที่มีปริมาณการสูญเปล่าของไฟฟ้าจากพลังงานลมมากที่สุดในประเทศ สาเหตุหลักมาจาก Over Supply และระบบเชื่อมโยงไฟฟ้า (Grid System) ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ต่อมาในปี 2561 กรมพลังงานแห่งชาติยังได้ประกาศให้ระงับการก่อสร้างโครงการก่อสร้างที่ได้รับการอนุมัติไปแล้ว / ชะลอการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมโครงการใหม่ใน 3 มณฑล ได้แก่ มณฑลกานซู เขตฯ ซินเจียงอุยกูร์ (รวมพื้นที่เขตปกครองทางทหาร) และมณฑลจี๋หลิน จึงทำให้รัฐบาลท้องถิ่นเริ่มเพิ่มการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แทน  ปัจจุบัน มณฑลกานซูมีวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ลงทุนในกิจการพลังงานแสงอาทิตย์หลายแห่ง อาทิ Gansu Datang New Energy Co., Ltd., Gansu Ruitang New Energy Co., Ltd, Gansu Dunhuang Solar Park, และ Gansu Jintai Solar Facility เมื่อปี 2562 กานซูผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ 22.38 ล้านเมกะวัตต์ในปี 2561 รัฐบาลกานซูได้ประกาศแผนพัฒนา 10 เศรษฐกิจสีเขียว (Green Ecological Industry) ที่ครอบคลุมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงานอาทิตย์ ตอกย้ำการตื่นตัวกับวิกฤตพลังงานโลกและสภาวะโลกร้อน ทำให้ความต้องการพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นและทำให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญทั่วโลก ซึ่งการผลิตเครื่องปฏิกรณ์ไฮโดรเจนเย็นได้สำเร็จครั้งนี้ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้โซลาร์เซลล์ซิลิคอน (Silicon solar cell:硅太阳能电池) เป็นโซลาร์เซลล์ที่ดีที่สุดและใช้มากที่สุดในตลาด คิดเป็น 91.25% ของตลาดโลก

แหล่งที่มา

http://www.gansu.gov.cn/gsszf/c100002/c100006/c100007/202109/1806619.shtml)

http://www.ccin.com.cn/detail/1c743187139104b05e3018ed6ac5e446

https://www.chyxx.com/industry/202005/867518.html

http://www.eppo.go.th/images/POLICY/PDF/AEDP2015.pdf

https://siamrath.co.th/n/247997

http://finance.sina.com.cn/roll/2021-10-26/doc-iktzqtyu3588238.shtml

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]