• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กว่างซีดัมป์ต้นทุน “เรือ+ราง” ติดปีกธุรกิจนำเข้า-ส่งออก – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

กว่างซีดัมป์ต้นทุน “เรือ+ราง” ติดปีกธุรกิจนำเข้า-ส่งออก – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • ความสะดวกรวดเร็วที่ได้รับจากการใช้บริการ ตลอดจนต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายที่ลดลง ทำให้โมเดลขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซีได้รับความนิยมในการใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น และยังรักษาระดับการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
  • เพื่อส่งเสริมและดึงดูดให้ผู้นำเข้า-ส่งออกหันมาใช้บริการการขนส่งในรูปแบบดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและงานบริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านพิธีการศุลกากร การส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ และการลดอุปสรรคเรื่องการขนส่งและโลจิสติกส์เฉพาะกรณี (case by case)
  • ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าทางเรือระหว่าง “ท่าเรือแหลมฉบัง/ท่าเรือกรุงเทพ – ท่าเรือชินโจว” มีเที่ยวเรือประจำหลายเที่ยวต่อสัปดาห์ ที่ผ่านมา สินค้าไทยส่วนใหญ่ที่มีการขนส่งผ่านท่าเรือดังกล่าว ได้แก่ วัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต สินค้าเกษตร และผลไม้ไทย
  • สำหรับประเทศไทย ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการขนส่งในรูปแบบ “เรือ+ราง” คือ ประสิทธิภาพงานบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความปลอดภัย คล่องตัว และตรงเวลา รวมทั้งประหยัดต้นทุนด้านการขนส่งและต้นทุนการประกอบการได้มากขึ้น การใช้ประโยชน์จาก “ท่าเรือชินโจว” เป็นจุดกระจายสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีนจึงเป็น “ทางเลือกใหม่” ที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะนครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน และมณฑลส่านซี ซึ่งเป็นฐานการผลิตและตลาดบริโภคแห่งใหม่ที่มีศักยภาพสูงของจีน นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังสามารถต่อยอดเส้นทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังตลาดเอเชียกลางและยุโรปได้อีกด้วย

 

โมเดลขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” กลายเป็นรูปแบบการขนส่งและโลจิสติกส์สำคัญที่ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างจีนกับต่างประเทศ ด้วยปัจจัยเชิงบวกทั้งประสิทธิภาพงานขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ความสะดวกรวดเร็วที่ได้รับจากการใช้บริการ ตลอดจนต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่ายที่ลดลง ทำให้ผู้ค้าหันมาใช้บริการการขนส่งในรูปแบบดังกล่าว และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ในฐานะ “ประตูการค้า” ออกสู่ทะเลของมณฑลทางภาคตะวันตก ปัจจุบัน ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กลายเป็น “ข้อต่อ” (connector) สำคัญของยุทธศาสตร์ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (International Land and Sea Trade Corridor – ILSTC) และยุทธศาสตร์ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land and Sea Corridor – NWLSC) โดยมีโมเดลงานขนส่ง “เรือ+ราง” เป็นหัวใจสำคัญ

โดย “ท่าเรือชินโจว” เป็นท่าเรือที่มีความพร้อมด้านระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์มากที่สุด และมีสถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจวอยู่ในบริเวณพื้นที่ท่าเรือ จึงได้รับการกำหนดตำแหน่งให้เป็น “ท่าเรือศูนย์กลาง” ของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ในการกระจายสินค้าผ่านการพัฒนาความเชื่อมโยงโมเดลตัว Y คือ เรือเข้าที่ท่าเรือชินโจวก่อนจะแยกไปท่าเรือฝางเฉิงก่างทางปีกซ้ายและท่าเรือเป๋ยไห่ทางปีกขวา ก่อนจะลำเลียงสินค้าต่อโดยรถไฟได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

จากข้อมูลพบว่า ช่วง 6 เดือนแรก ปี 2564 การขนส่งในโมเดล  “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจวมีรถไฟลำเลียงสินค้าวิ่งให้บริการ รวม 2,705 เที่ยว (+112% YoY) มีจำนวนตู้สินค้า 2.69 แสนTEUs (+319% YoY) ทั้งนี้ ทางการกว่างซีได้ตั้งเป้าหมายว่า ปี 2564 การขนส่งโมเดล “เรือ+ราง” จะมีรถไฟลำเลียงสินค้าวิ่งให้บริการ รวม 6,000 เที่ยว

เพื่อดึงดูดให้ผู้ค้าจากต่างมณฑลหันมาใช้บริการการขนส่งในรูปแบบดังกล่าว สำนักงานศุลกากรท้องถิ่นในหลายมณฑลได้ร่วมกันพัฒนากลไกการทำงานที่ใกล้ชิดเพื่อให้ผู้ค้าได้รับบริการด้านศุลกากรที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เช่น การยื่นสำแดงพิธีการศุลกากรล่วงหน้า การรับสินค้าก่อนและยื่นสำแดงเอกสารเพิ่มเติมทีหลัง (ยกเว้นสินค้าที่ต้องควบคุม) การขออนุญาตตรวจปล่อยที่ด่านปลายทาง และการรับตู้สินค้าทันทีที่ข้างเรือ

ด้านผู้ให้บริการรถไฟลำเลียงสินค้าที่ท่าเรือชินโจว บริษัท Guangxi Yanhai Railway (广西沿海铁路公司) ได้นำนโยบายค่าขนส่งทางรถไฟแบบราคาเดียวใน 45 เส้นทางทั่วประเทศ สินค้ากว่า 200 ประเภทได้รับสิทธิส่วนลดค่าขนส่งทางรถไฟ และกำลังวางแผนปรับลดต้นทุนค่าขนส่งและโลจิสติกส์ลงอีก นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้พัฒนาวิธีการใหม่ๆ เพื่อช่วยลดอุปสรรคเรื่องการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเฉพาะสินค้าที่มีเงื่อนไขพิเศษในการขนส่ง เช่น เยื่อกระดาษและม้วนกระดาษที่นำเข้าจากประเทศบราซิล และรถตักประกอบสำเร็จที่ต้องการส่งออกไปทั้งคัน ซึ่งสินค้าเหล่านี้ไม่สามารถบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ได้โดยตรง

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) ประกอบด้วยท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่ มีเส้นทางเดินทางเรือในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 50 เส้นทาง เพื่อเชื่อมกับท่าเรือ 300 กว่าแห่งใน 100 กว่าประเทศ/ดินแดนทั่วโลก รวมถึงท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของประเทศไทยด้วย

ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าทางเรือระหว่าง “ท่าเรือแหลมฉบัง/ท่าเรือกรุงเทพ – ท่าเรือชินโจว” มีเที่ยวเรือประจำหลายเที่ยวต่อสัปดาห์ ที่ผ่านมา สินค้าไทยส่วนใหญ่ที่มีการขนส่งผ่านท่าเรือดังกล่าว ได้แก่ วัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต สินค้าเกษตร และผลไม้ไทย (ท่าเรือชินโจว และท่าเรือฝางเฉิงก่าง ของกว่างซี ได้รับการอนุมัติให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ)

บีไอซี เห็นว่า สำหรับประเทศไทย ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการขนส่งในรูปแบบ “เรือ+ราง” คือ ประสิทธิภาพงานบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความปลอดภัย คล่องตัว และตรงเวลา รวมทั้งประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และต้นทุนการประกอบการได้มากยิ่งขึ้น การใช้ประโยชน์จาก “ท่าเรือชินโจว” เป็นจุดกระจายสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีนจึงเป็น “ทางเลือกใหม่” ที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะนครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน และมณฑลส่านซี ซึ่งเป็นฐานการผลิตและตลาดบริโภคแห่งใหม่ที่มีศักยภาพสูงของจีน นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังสามารถต่อยอดเส้นทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังตลาดเอเชียกลางและยุโรปได้อีกด้วย

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.xinhuanet.com (新华社新媒体) วันที่ 14 กันยายน 2564
      เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 14 กันยายน 2564

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]