“ด่านทางบกตงซิง” ประเดิมรับผลไม้ไทยล็อตแรกแล้ว

ไฮไลท์

  • หลายปีมานี้ ปริมาณการส่งออกผลไม้ไทยผ่านทางบกไปจีนที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูผลไม้ กอปรกับเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของจีน ได้ส่งออกสินค้าไปจีนผ่านด่านโหย่วอี้กวานมากขึ้นเช่นกัน จึงส่งผลให้เกิดปัญหารถบรรทุกสินค้า(ผลไม้ไทย)ติดค้างอยู่บริเวณนอกด่านโหย่วอี้กวานจำนวนมาก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนที่สุกงอมก่อนถึงมือผู้บริโภค
  • เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นับเป็นฤกษ์งามยามดีที่ผลไม้ไทยล็อตแรกได้ผ่านเข้า “ด่านทางบกตงซิง” (Dongxing Border Gate) ในอำเภอระดับเมืองตงซิงของเมืองฝางเฉิงก่าง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงแล้ว ประกอบด้วยทุเรียน จำนวน 7 ตู้คอนเทนเนอร์ รวมน้ำหนัก 116.2 ตัน มูลค่าสินค้า 4.324 ล้านหยวน นอกจากนี้ ยังมีขนุนและแก้วมังกรของเวียดนามด้วย
  • “ด่านทางบกตงซิง” เป็นโอกาสและทางเลือกแห่งใหม่ที่สามารถใช้ส่งออกผลไม้ไทยไปจีนได้อย่างคล่องตัว โดยใช้ระยะเวลาในการขนส่งออกจากไทยไปเข้าที่ด่านตงซิงภายใน 2 วันเท่านั้น และเป็นช่องทางใหม่ที่ใช้หลีกเลี่ยงปัญหาการกระจุกตัวของรถบรรทุกบริเวณนอกด่านโหย่วอี้กวาน ซึ่งอาจส่งผลให้ผลไม้สดได้รับความเสียหายได้
  • อย่างไรก็ดี การส่งออกผลไม้ไทยผ่านด่านตงซิงในช่วงแรก ซึ่งเป็นด่านใหม่และอยู่ในช่วงการปรับตัว กระบวนการนำเข้า-ส่งออกอาจประสบความท้าทายจากความไม่ลงตัวของระบบบริหารจัดการ ซึ่งผู้ส่งออกไทยควรเตรียมใจ ติดตามสถานการณ์ และวางแผนไว้ล่วงหน้าเช่นกัน

 

การขนส่งผลไม้สดจากไทยไปจีนผ่านทางบกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะความได้เปรียบด้านระยะทางที่สั้นและใช้เวลาน้อยกว่าทางเรือ ซึ่งช่วยรักษาคุณภาพและความสดใหม่ของผลไม้ไทยไว้ได้ยาวนานเพื่อกระจายต่อไปยังตลาดในมณฑลอื่นทั่วจีน โดยถนน R12 (นครพนม) กับ R9 (มุกดาหาร) เป็นทางเลือกอันดับต้นของผู้ส่งออก โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ “ด่านโหย่วอี้กวาน” ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

หลายปีมานี้ ปริมาณการส่งออกผลไม้ไทยผ่านทางบกไปจีนที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูผลไม้ กอปรกับเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของจีน ได้ส่งออกสินค้าไปจีนผ่านด่านโหย่วอี้กวานมากขึ้นเช่นกัน จึงส่งผลให้เกิดปัญหารถบรรทุกสินค้า(ผลไม้ไทย)ติดค้างอยู่บริเวณนอกด่านโหย่วอี้กวานจำนวนมาก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนที่สุกงอมก่อนถึงมือผู้บริโภค

ด้วยเหตุนี้ การบุกเบิกช่องทางใหม่สำหรับการส่งออกสินค้าไปจีนจึงเป็นทางออกของปัญหาข้างต้น และด้วยความพยายามของทุกฝ่าย เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 “ด่านทางบกตงซิง” (Dongxing Border Gate/东兴口岸)  ในอำเภอระดับเมืองตงซิง ของเมืองฝางเฉิงก่าง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้เปิดรับผลไม้นำเข้าจากประเทศไทยและเวียดนามเป็นล็อตแรก โดยผลไม้ไทยล็อตแรก ประกอบด้วยทุเรียน จำนวน 7 ตู้คอนเทนเนอร์ รวมน้ำหนัก 116.2 ตัน มูลค่าสินค้า 4.324 ล้านหยวน นอกจากนี้ ยังมีขนุนและแก้วมังกรของเวียดนามด้วย โดยกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ได้เข้าร่วมเป็นเกียรติและกล่าวในพิธีต้อนรับการนำเข้าผลไม้ไทยล็อตแรกผ่าน “ด่านทางบกตงซิง” ด้วย

     เส้นทางการพัฒนา “ด่านทางบกตงซิง” เป็นด่านนำเข้าผลไม้(ไทย) สรุปโดยสังเขป ดังนี้

  • วันที่ 7 มีนาคม 2561 สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้อนุมัติในหลักการให้ “ด่านตงซิง” เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ นับเป็นด่านนำเข้าผลไม้ทางบกแห่งที่ 3 ของเขตฯ กว่างซีจ้วง ต่อจากด่านโหย่วอี้กวาน และด่านรถไฟผิงเสียง
  • วันที่ 29 เมษายน 2563 พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สามเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยและ GACC ได้ร่วมกันลงนาม มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
  • วันที่ 27 เมษายน 2564 พื้นที่ตรวจกักกันผลไม้นำเข้า ณ ด่านทางบกตงซิง (สะพานข้ามแม่น้ำเป่ยหลุน แห่งที่ 2) ในด่านตงซิงผ่านเกณฑ์มาตรฐานในการตรวจรับรองจาก GACC
  • วันที่29 เมษายน 2564 GACC ประกาศรายชื่อของพื้นที่ตรวจกักกันผลไม้นำเข้า ณ ด่านทางบกตงซิง (สะพานข้ามแม่น้ำเป่ยหลุน แห่งที่ 2) บนเว็บไซต์ GACC ซึ่งหมายความว่า “ด่านตงซิง” ได้ผ่านการตรวจรับจาก GACC และสามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้อย่างเป็นทางการ
  • วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ด่านตงซิงทดลองระบบการนำเข้าทุเรียนไทย 2 ตู้ น้ำหนัก 36 ตัน
  • วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 อำเภอระดับเมืองตงซิงจัดพิธีต้อนรับการนำเข้าผลไม้ไทยล็อตแรกผ่าน “ด่านตงซิง”

รู้จัก ด่านตงซิง แห่งที่ 2 ด่านสากลทางบกที่ตั้งอยู่ในอำเภอระดับเมืองตงซิงของเมืองฝางเฉิงก่าง ตรงข้ามกับด่านม๊องก๋าย (Mongcai) จังหวัดกว่างนิงห์ (Quang Ninh) ของเวียดนาม มีแม่น้ำเป่ยหลุนเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติที่ไหลออกสู่ทะเลอ่าวตังเกี๋ย ตั้งอยู่ห่างจากกรุงฮานอยไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากรุงฮานอยราว 300 กิโลเมตร

ในภาพรวม หากเปรียบเทียบกับด่านโหย่วอี้กวานแล้ว นับว่า ด่านตงซิง แห่งที่ 2 มีความพร้อมมากกว่า กล่าวคือ

  • ด้านกายภาพ บริเวณพรมแดนตงซิง-ม๊องก๋ายเป็นพื้นที่ราบ สะพานข้ามแม่น้ำมี 6 ช่องจราจร มีความพร้อมมากกว่าด่านโหย่วอี้กวานที่มีข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศที่เป็นช่องเขาแคบ (ลักษณะคอขวด) และเป็น landlock รวมทั้งการจราจรที่อิ่มตัวบริเวณด่าน ทำให้เกิดปัญหารถบรรทุกแออัด/ตกค้างจนสินค้าสดได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะช่วงฤดูผลไม้
  • ด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน สะพานแห่งที่ 2 มีความพร้อมใช้งานแล้ว งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกได้ดำเนินการแล้วเสร็จ รวมถึงอาคารศูนย์อำนวยการกลางสำหรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) ลานรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่สามารถรองรับรถบรรทุกหมุนเวียนเข้า-ออกได้วันละ 2,000 คัน ช่องไม้กั้นรถบรรทุกมีจำนวน 10 ช่อง (ปัจจุบัน ด่านโหย่วอี้กวานสามารถรองรับรถบรรทุกได้วันละ 1,200 คัน และกำลังจะเปิดใช้งานช่องไม้กั้นรถบรรทุก 12 ช่อง) สามารถรองรับรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถบรรทุกขนาดใหญ่พิเศษ (รถบรรทุกใช้เวลาวิ่งผ่านไม้กั้นแค่ 30 วินาที และรถบรรทุกที่ไม่ต้องสุ่มตรวจจะใช้เวลาเพียง 10 นาที ก็สามารถวิ่งออกจากเขตอารักขาศุลกากรได้)
  • ด้านระบบตรวจสอบและกักกันโรคพืช ได้ก่อสร้างลานสุ่มตรวจสินค้าแล้วเสร็จ มีความทันสมัย มีเครื่องเอ็กซเรย์ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์เพื่อป้องกันสิ่งปลอมปน มีโกดังควบคุมอุณหภูมิความเย็นไว้รองรับการเก็บผลไม้ มีช่องสำหรับรถบรรทุกเข้าสุ่มตรวจสินค้าทั้งหมด 14 ช่อง มีห้องปฏิบัติการสุ่มตรวจสินค้าเบื้องต้นและห้องปฏิบัติการทดลองสำหรับงานตรวจวิเคราะห์เชิงลึก ห้องรมยา และห้องกำจัดสินค้าที่มีปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชกักกัน

บีไอซี เห็นว่า “ด่านทางบกตงซิง” เป็นทางเลือกแห่งใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้เพื่อการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนได้อย่างคล่องตัว ช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับผู้ส่งออกไทย โดยใช้ระยะเวลาในการขนส่งออกจากไทยไปเข้าที่ด่านตงซิงภายใน 2 วันเท่านั้น จึงเป็นช่องทางใหม่ที่ใช้หลีกเลี่ยงปัญหาการกระจุกตัวของรถบรรทุกบริเวณนอกด่านโหย่วอี้กวาน ซึ่งอาจส่งผลให้ผลไม้สดได้รับความเสียหายได้

อย่างไรก็ดี แม้ว่า “ด่านตงซิง แห่งที่ 2” เป็นช่องทางเพิ่มโอกาสในการส่งออกผลไม้ไทยและช่วยลดอุปสรรคการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนได้มากขึ้น แต่ช่วงแรกยังคงมีความท้าทาย เนื่องจากเป็นช่วงปรับตัว การนำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านใหม่อาจประสบปัญหาจากความไม่ลงตัวของระบบบริหารจัดการ ซึ่งผู้ส่งออกไทยควรเตรียมใจ ติดตามสถานการณ์ และวางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย (เหมือนตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นตอนที่ด่านโหย่วอี้กวานเปลี่ยนระบบการผ่านด่านของรถบรรทุกในปีที่ผ่านมา) นอกจากนี้ การส่งผลไม้ไทยไปจีน ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่าย ผู้ส่งออกควรคำนึงถึง “ตลาดปลายทาง” ว่าอยู่ที่ไหน เพื่อใช้ประโยชน์จากด่านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ไม่ว่าจะทางถนน ทางรถไฟ หรือทางเครื่องบินก็ตาม

ที่สำคัญ ชาวสวนและผู้ส่งออกไทยต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานการจัดการสวนผลไม้และโรงคัดบรรจุที่จำเป็นต้องมีกระบวนการควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูพืช ปริมาณสารตกค้าง และกระบวนการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของผลไม้ไทยในระบบศุลกากรจีนและในสายตาของผู้บริโภคชาวจีนอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

 

…เกาะติดทุกสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงในจีนได้ทางเว็บไซต์ www.thaibizchina.com…

 

 

ขอบคุณภาพ  防城港市新闻网

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]