• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ค้ากับจีนต้องทำให้ถูก กว่างซีจับการลักลอบนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ค้ากับจีนต้องทำให้ถูก กว่างซีจับการลักลอบนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • ในแต่ละปี การนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนผ่านด่านในกว่างซีมีสัดส่วนถึง 60%-70% ของทั้งประเทศ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ชนิดและปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนจากต่างประเทศผ่านทางกว่างซีพุ่งสูงขึ้น กว่างซีมีด่านที่ได้รับอนุญาตการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีน 4 แห่ง ได้แก่ ด่านนครหนานหนิง ด่านทางบกผิงเสียง ด่านทางบกตงซิง และด่านทางบกหลงปัง
  • ช่วง 2-3 ปีมานี้ ข่าวการจับกุมการลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านชายแดนจีน(กว่างซี)-เวียดนามเริ่มปรากฏให้เห็นตามหน้าสื่อกว่างซีบ่อยครั้ง พออนุมานได้ว่าเป็นผลจากสถานการณ์การค้าต่างประเทศของกว่างซีที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งทางการจีนให้ความสำคัญและมีการตรวจสอบที่เข้มงวดในประเด็นความปลอดภัยอาหาร (food safety) และประเด็นโรคพืชและแมลงศัตรูพืช
  • ผู้ส่งออกไทยควรเลือกและตรวจสอบคู่ค้าฝ่ายจีนที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งศึกษารายละเอียดและปฏิบัติตามข้อกำหนดการนำเข้า-ส่งออกกับจีนอย่างถี่ถ้วน เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎระเบียบและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ส่งออกไทยสามารถพิจารณาเลือกผู้ค้าจีนที่เป็นสมาชิกของ CCPIT ได้ ในกรณีที่สินค้าได้รับความเสียหายหรือประสบอุปสรรคการนำเข้า-ส่งออก ทาง CCPIT จะเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้า

 

ในแต่ละปี มีการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนผ่านด่านต่างๆ ในเขตปกครองตนเองกว่างซี คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 60%-70% ของทั้งประเทศจีน โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ชนิดและปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนจากต่างประเทศผ่านทางกว่างซีพุ่งสูงขึ้น กว่างซีมีด่านที่ได้รับอนุญาตการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนได้ 4 แห่ง ได้แก่ ด่านนครหนานหนิง ด่านทางบกผิงเสียง ด่านทางบกตงซิง และด่านทางบกหลงปัง

ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 เฉพาะพื้นที่เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง มีการยื่นคำร้องนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีน จำนวน 735 ล็อต คิดเป็นน้ำหนักมากกว่า 10,000 ตัน หลักๆ ประกอบด้วยดอกจันทน์ (Mace) ลูกจันทน์เทศ (Nutmeg) สมอไทย (Terminalia chebula Retz.) และลูกสำรอง (Mulva Nut) โดยมีแหล่งนำเข้าหลักจากอินโดนีเซียและประเทศไทย

แนวโน้มความต้องการวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดปัญหาการลักลอบนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนแบบผิดกฎหมายผ่านตะเข็บชายแดนกว่างซี-เวียดนาม เมื่อไม่นานมานี้ ฝ่ายสืบสวนและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสิ่งผิดกฎหมายของสำนักงานศุลกากรหนานหนิง (กำกับดูแลเขตปกครอตนเองกว่างซีจ้วง) ได้เข้าจับกุมขบวนการลักลอบการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนที่ตำบลอ้ายเตี้ยน อำเภอหนิงหมิง เมืองฉงจั่ว (ติดกับจังหวัดลางเซิน ประเทศเวียดนาม) ของกว่างซี


cr. www.gx.xinhuanet.com

โดยมีการจับกุมผู้ต้องสงสัย 9 คน พร้อมของกลางเป็นวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนหลายชนิด อาทิ Homalomena occulta(Lour.)Schott (千年健) Amomum tsaoko Crevost et Lemarie (草果) Oroxylum indicum (Linn.) Kurz (木蝴蝶) Citrus aurantium L.; Citrus sinensis (L.) Osbeck (枳实) Cleistocactus sepium (墨鱼骨) รวมน้ำหนัก 30 ตัน คิดเป็นมูลค่า 5 แสนหยวน มูลค่าการลักลอบหนีภาษี 1.5 แสนหยวน พร้อมรถบรรทุกขนาดใหญ่ จำนวน 4 คัน และรถสินค้าขนาดเล็กอีกจำนวน 5 คัน

จากการสืบสวนพบว่า ขบวนการดังกล่าวได้ลักลอบนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนผ่านตะเข็บชายแดนกว่างซี-เวียดนาม และนำไปเก็บไว้ในโกดังสินค้าในตำบลอ้ายเตี้ยน แล้วจึงขนถ่ายสินค้าดังกล่าวขึ้นรถบรรทุกขนาดใหญ่เพื่อส่งไปจำหน่ายทั่วประเทศจีน โดยย้อมแมวขายว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่นำเข้าผ่านช่องทางการค้าชายแดนปกติ

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่วง 2-3 ปีมานี้ ข่าวการจับกุมการลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านชายแดนจีน(กว่างซี)-เวียดนามเริ่มปรากฏให้เห็นตามหน้าสื่อกว่างซีบ่อยครั้ง พออนุมานได้ว่าเป็นผลจากการที่สถานการณ์การค้าต่างประเทศของกว่างซีที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งทางการจีนให้ความสำคัญและมีการตรวจสอบที่เข้มงวดในประเด็นความปลอดภัยอาหาร (Food safety) และประเด็นโรคพืชและแมลงศัตรูพืชที่เป็นภัยคุกคามระบบนิเวศ

ที่ผ่านมา สื่อท้องถิ่นได้นำเสนอข่าวการจับกุมทุเรียนไทยที่ลักลอบนำเข้าแบบผิดกฎหมายในพื้นที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2563 จนถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสิ่งผิดกฎหมายได้ปิดคดีใหญ่เกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าผลไม้แบบผิดกฎหมาย คิดเป็นมูลค่าคดี 660 ล้านหยวน

“มาตรการบริหารจัดการวัตถุดิบยานำเข้าฉบับใหม่” ที่นำมาบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นหนึ่งในมาตรการที่จีนนำมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพวัตถุดิบยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในจีน โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า การขึ้นทะเบียนวัตถุดิบยานำเข้าจะต้องยื่นเอกสารรับรองและสัญญาซื้อขายที่ลงนามกับผู้ขายในต่างประเทศ ซึ่งเอกสารเหล่านี้จำเป็นต้องมีการรับรองนิติกรณ์เพื่อใช้เป็นเอกสารสำคัญประกอบการขออนุญาตนำเข้า

ในกว่างซี สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจีนประจำเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (China Council for the Promotion of International Trade Guangxi Committee) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า CCPIT ได้เปิดช่องบริการพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนในการขอรับรองนิติกรณ์สัญญาซื้อได้ภายในวันเดียว โดยผู้นำเข้าสามารถยื่นคำร้องผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้การนำเข้าสินค้าผ่านกว่างซีทำได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว

บีไอซี ขอย้ำว่า ผู้ส่งออกไทยควรเลือกและตรวจสอบคู่ค้าฝ่ายจีนที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งศึกษารายละเอียดและปฏิบัติตามข้อกำหนดในการนำเข้า-ส่งออกกับจีนอย่างถี่ถ้วนเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ซึ่งรวมทั้งการขอและออกใบรับรองต่างๆ ตามแต่ละประเภทสินค้า (หากมี) โดยผู้ส่งออกไทยสามารถพิจารณาเลือกผู้ค้าจีนที่เป็นสมาชิกของ CCPIT ได้ ในกรณีที่สินค้าได้รับความเสียหายหรือประสบอุปสรรคการนำเข้า-ส่งออก ทาง CCPIT จะเป็นตัวกลางสำคัญที่ช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้า ทำให้ผู้นำเข้าได้รับสินค้าและสั่งจ่ายเงินให้กับผู้ขายได้อย่างรวดเร็ว

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 4 เมษายน 2564
ภาพประกอบ freepix.com

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]