เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 คณะกรรมการบริหารเขตใหม่ซีเสียน (西咸新区) เปิดตัวแพลตฟอร์มระบบปฏิบัติการทดลองระบบพลังงานน้ำและไฮโดรเจนแห่งแรกในโลก (‎The world’s first hydrogen-water cycle energy system application practice Experimental Platform) โดยเป็นความร่วมมือระหว่างเขตเมืองใหม่ซีเสียนและ ม. ซีอานเจียวทง (西安交通大学) ภายใต้ชื่อ “Xixian Tongfang Silk Road Future Innovation Research Institute : XTSFI” (西咸同方丝路未来创新研究院) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่มุ่งแสวงหาผลกำไร ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อ 18 ธ.ค. 2562 โดยได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางให้เป็น 1 ใน 18 แห่งคลังความรู้ทางนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกลุ่มที่ 1 (One of the First 18 Think Tanks for Scientific and Technological Innovation) ทำให้เป้าหมายการก้าวสู่เมืองแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีของมณฑลส่านซีอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

XTSFI มุ่งเน้นการเป็นฐานส่งเสริมการวิจัยส่วนรวม (Shared Service Platform) มุ่งส่งเสริมการให้บริการแพลตฟอร์มด้านการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่วิสาหกิจในมณฑลส่านซี โดยเฉพาะในด้าน (1) การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) (2) การก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างอัจฉริยะ (Intelligent Buildings) และ (3) การวิเคราะห์ข้อมูล (Big data Analysis) เป็นต้น

แพลตฟอร์มระบบปฏิบัติการทดลองระบบพลังงานน้ำและไฮโดรเจนนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเครื่องมือ ห้องวิจัย ห้องปฏิบัติการทางด้านวิทยาศาสตร์ส่วนกลางเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่วิสาหกิจขนาดเล็กที่มีเงินทุนไม่เพียงพอในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเป็นของตนเองตามแนวคิดการเป็น  “Self-dependent Innovation” ของรัฐบาลมณฑลส่านซีให้สามารถต่อยอดงานวิจัยขนาดเล็กไปยังการพัฒนาที่ก้าวกระโดดได้ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อน นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงแนวโน้มการมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายความพยายามในการเป็นประเทศปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2060 ของจีน เพราะพลังงานไฮโดรเจนได้ชื่อว่าเป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคต กระบวนการผลิตไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก เพราะเกิดจากการแยกโมเลกุลน้ำ (ออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน) ซึ่งในกระบวนการเผาไหม้นั้นจะปล่อยเพียงไอน้ำออกมา ในขณะที่การเผาไหม้เชื้อเพลิงอื่น ๆ มักปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาด้วย ซึ่งพลังงานไฮโดรเจนยังสามารถนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าและเป็นพลังงานเชื้อเพลิงชั้นดี เพราะมีประสิทธิภาพในการเผาไหม้สูงและสะอาดกว่าการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล (อาทิ กลุ่มก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และปิโตรเลียม)

เนื่องจากเป็นการให้บริการใหม่และอาจมีข้อกังวลด้านลิขสิทธิ์ของนวัตกรรม ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กลุ่มงานบริการการลงทุน (Investment Promotion Bureau) ของคณะกรรมการบริหารเขตเมืองใหม่ซีเสียน เพื่อขอรับรายละเอียดเพิ่มเติมได้ (https://4m.cn/65eOK)

นอกจากความร่วมมือในการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้แล้ว XTSFI ยังร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ อาทิ ม. ชิงหัว (清华大学) ม. ซีอานเจียวทง (西安交通大学) ซึ่งเป็นฐานนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนตะวันตก (Western China Science And Technology Innovation Harbour : I Habour) จัดการแข่งขันประกวดผลงานการประดิษฐ์ผลงานทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนเพื่อเป็นฐานสนับสนุนและต่อยอดผลงานการวิจัยในเชิงพาณิชย์ เมื่อเดือน ก.พ. 2564 โดยมีผลงานของวิสาหกิจที่ผ่านการแข่งขันมากกว่า 150 ราย วิสาหกิจที่อยู่ระหว่างการติดตามผล 40 ราย และวิสาหกิจที่ได้รับการคัดเลือก 27 ราย โดยในจำนวนนี้ 12 วิสาหกิจที่ตัดสินใจเข้าลงทุนในเขตใหม่ซีเสียน โดยเป็นในกลุ่มธุรกิจดาวเทียม การวัดการรับรู้แบบสามมิติ (Three-dimensional perception measurement) เมืองอัจฉริยะ และกลุ่มการผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ (เฉพาะแบรนด์ภายในประเทศ)

ข้อมูลเพิ่มเติม

เขตใหม่ซีเสียน (Xixian New Area) ได้รับอนุมัติจัดตั้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลกลางในปี 2557 ถือเป็นเขตใหม่ลำดับที่ 7 จากทั้งหมด 19 แห่งที่ได้รับการรับรองในระดับชาติ (State-level New Areas) และยังเป็นเขตแรกที่ใช้แนวทางการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการพัฒนาเมือง ควบคู่ไปกับแผนการสร้าง Greater Xi’an Area1 ที่ครอบคลุมนครซีอาน เมืองเสียนหยาง และเขตใหม่ซีเสียน ให้เป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของประชากรและอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของมณฑลส่านซี นี่จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่นับวันจะยิ่งมีความสำคัญต่อมณฑลส่านซี

แม้เขตฯ จะก่อตั้งได้ไม่นาน แต่กลับมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2563 ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของเขตฯ มีมูลค่า 61,250 ล้านหยวน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ  6.11 ของ GDP นครซีอาน) ในปี 2563 มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 7.2 (ปี 2562 มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 10.6) สูงสุดในบรรดาอัตราการเติบโตของ GDP ในแต่ละเขตของทั่วทั้งมณฑลส่านซี แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สดใส ท่ามกลาง Disruption ในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ จากวิกฤติ COVID-19

เขตฯ แบ่งการปกครองออกเป็น 5 เมือง ได้แก่ (1) Airport New City (2) Fengdong New City (3) Qinhan New City (4) JingHe New City และ (5) Fengxi New City ซึ่งทั้ง 5 เมืองมีการตั้งเป้าให้เป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่างกันไป โดยเน้น 2 กลุ่มหลัก คือ อุตสาหกรรมเกิดใหม่ (Emerging Industries) และอุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ (Modern Service Industries)

และจากการที่เขตฯ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้มีความพร้อมในการเป็นฐานรองรับการขยายตัวของเมืองใหม่ที่รัฐบาลมณฑลส่านซีตั้งใจจะให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่ให้สามารถอยู่อาศัยได้จริง เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนาแบบบูรณาการระหว่างเขตเมืองและชนบทแห่งชาติ (National Urban Rural Integration Development Experimental Zone) ปี 2562 (ฉบับล่าสุด) ที่มุ่งพัฒนาและยกระดับเมืองใหม่ที่มีการขยายตัวสูง เน้นให้ความสำคัญกับการย้ายถิ่นฐานประชากร การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค การจัดสรรและก่อสร้างอาคาร ที่พักอาศัยในเขตเมืองและชนบทอย่างเป็นระบบและมีความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจากการจัดสรรที่ดิน เพื่อการอยู่อาศัยและการทำมาหากินที่ในอดีตที่จีนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง แผนฯ นี้มีระยะเวลาการดำเนินการระหว่างปี 2565-2568 ซึ่งจะทำให้เขตฯ ได้รับอานิสงส์จากการเป็นพื้นที่รองรับแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานทักษะ มีความคล่องตัวในการใช้ประโยชน์จากการจัดสรรที่ดินเพื่อตอบสนองแนวทางการพัฒนาในแต่ละพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์แก่วิสาหกิจต่างชาติ ทั้งการใช้ที่ดิน

การรับการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อการวิจัย ตลอดจนสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่สนใจ สามารถติดตามข้อมูลข้างต้นได้ที่ระบบ National Single Windows ของเขตใหม่ซีเสียน มณฑลส่านซี (全国一体化在线政务服务平台、 陕西政务服务网) ที่ https://4m.cn/ll7Ld ซึ่งมีข้อมูลนโยบาย สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ตลอดจนประเภทวิสาหกิจที่เป็นที่ต้องการในแต่ละพื้นที่อย่างละเอียด ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน จะได้ติดตามพัฒนาการของเขตใหม่ซีเสียนเพื่อนำเสนอแก่ท่านผู้อ่านต่อไป

____________________________

  1. แผนการขยายเมืองของ The Greater Xi’an เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ 12 มิ.ย. 2553 โดยมีเป้าหมายเพิ่มศักยภาพให้กับพื้นที่เศรษฐกิจที่ราบกวนจง- เทียนสุ่ย (Planning of Guanzhong-Tianshui Economic Zone) ซึ่งเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจเดิม ควบคู่ไปกับแผนการสร้างให้นครซีอานเป็นเมืองสากล “Cosmopolitan City” โดยมีเป้าหมายขยายพื้นที่ครอบคลุมให้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ตร.กม. และมีจำนวนประชากรอยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า 12.8 ล้านคน สร้างนครซีอานสู่เมืองศักยภาพแห่งการแข่งขันและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคจีนตะวันตกเฉียงเหนือตลอดจนในพื้นที่จีนตะวันตก

ข้อมูลอ้างอิง

  1. https://govt.chinadaily.com.cn/a/201905/15/WS5cdbd6fb498e079e68020f61.html
  2. http://www.yybnet.net/xian/news/202101/11200763.html
  3. https://new.qq.com/omn/20210319/20210319A04CGB00.html
  4. บทความที่เกี่ยวข้อง สำรวจ Xixian New Area เครื่องจักรกระตุ้นเศรษฐกิจตัวใหม่ของมณฑลส่านซี https://4m.cn/pHy4U

ที่มา : https://thaibizchina.com/