• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ธุรกิจไทยอย่ารอช้า ยักษ์ใหญ่ในวงการโลจิสติกส์โลกเข้า “ชิงเค้ก” ในกว่างซีแล้ว

ธุรกิจไทยอย่ารอช้า ยักษ์ใหญ่ในวงการโลจิสติกส์โลกเข้า “ชิงเค้ก” ในกว่างซีแล้ว

ไฮไลท์

  • การค้าระหว่างจีนกับอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่าย ความใกล้ชิดด้านทำเลที่ตั้งจึงเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ไทยไม่ควรพลาดในการเข้ามาขยายธุรกิจแบบครบวงจรในกว่างซี และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจให้ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต
  • ตลาดจีนแผ่นดินใหญ่กำลังเป็น “เค้กก้อนใหญ่” ที่ธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์กำลังจ้องตาเป็นมันและกำลังดำเนินกลยุทธ์ขยายธุรกิจแบบดาวกระจาย เพื่อยึดหัวหาดช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจในมณฑลต่างๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต รวมถึงเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
  • กว่างซีเป็น “ขุมทอง” ที่น่าหมายปองของธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์จากทั้งในและต่างประเทศ เพราะมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ (ติดชายทะเลอ่าวเป่ยปู้และชายแดนเวียดนาม) และได้รับอานิสงส์จากยุทธศาสตร์การเปิดสู่ภายนอกที่รัฐบาลกลางมอบให้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคตะวันตก ทำให้กว่างซีมีบทบาทสำคัญในระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อการค้าระหว่างประเทศ
  • หลังจากที่บริษัท DHL ของเยอรมนี และ GLP ของสิงคโปร์ได้เข้ามาจัดตั้งธุรกิจในกว่างซีแล้ว ล่าสุด ยักษ์ใหญ่แห่งวงการโลจิสติกส์นานาชาติจากญี่ปุ่นอย่าง Nippon Express ได้เข้าไปขยายฐานธุรกิจที่นครหนานหนิง เพื่อพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจโลจิสติกส์กับอาเซียนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยกระดับงานบริการด้านโลจิสติกส์ระหว่างจีนกับอาเซียน และตอบสนองความต้องการที่หลากหลายให้ลูกค้าทั่วโลก

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า… ทุกวันนี้ ธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มาแรง โดยเฉพาะในยุคการค้าไร้พรมแดนและการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์เติบโตได้ดีต่อเนื่อง

ตลาดจีนแผ่นดินใหญ่กำลังเป็น “เค้กก้อนใหญ่” ที่ธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์กำลังจ้องตาเป็นมันและกำลังดำเนินกลยุทธ์ขยายธุรกิจแบบดาวกระจาย เพื่อยึดหัวหาดช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจในมณฑลต่างๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต รวมถึงเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

ข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของเขตฯ กว่างซีจ้วง (ติดชายทะเลอ่าวเป่ยปู้และชายแดนเวียดนาม) และยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกลางมอบให้มณฑลแห่งนี้เป็น Gateway to ASEAN ทำให้กว่างซีมีบทบาทสำคัญในระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบแบบไร้รอยต่อ (Multi-modal Transportation) ระหว่างเรือกับรถไฟบริเวณท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ และรถไฟระหว่างประเทศ (กว่างซี-เวียดนาม)

เขตฯ กว่างซีจ้วงได้รับอานิสงส์จากยุทธศาสตร์การเปิดสู่ภายนอกที่รัฐบาลกลางมอบให้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land and Sea Corridor – NWLSC) และเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) ช่วยให้กว่างซีเป็น “ขุมทอง” ที่น่าหมายปองของธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์จากทั้งในและต่างประเทศ

ตามตัวเลขสถิติปี 2563 ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 5.05 ล้าน TEUs (+32%) กระโดดขึ้นไปอยู่อันดับที่ 10 และมีอัตราการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 1 ของท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลของจีน มีเที่ยวขบวนรถไฟขนส่งตู้สินค้าเรือ+รถไฟไปยัง 23 เมืองใน 7 มณฑลทางภาคตะวันตก จำนวน 4,607 เที่ยว (+100%) และมีเที่ยวขบวนรถไฟข้ามแดนจีน(กว่างซี)-เวียดนาม ผ่านด่านรถไฟผิงเสียง จำนวน 1,264 เที่ยว (+23.2%) สะท้อนถึงบทบาทและโอกาสของกว่างซีในระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ

หลังจากที่บริษัท DHL ของเยอรมนี และ GLP ของสิงคโปร์ได้เข้ามาจัดตั้งธุรกิจในกว่างซีแล้ว ล่าสุด ยักษ์ใหญ่แห่งวงการโลจิสติกส์นานาชาติจากญี่ปุ่นอย่าง Nippon Express ได้เข้าไปตั้งสำนักงานที่นครหนานหนิง เหตุผลที่บริษัท Nippon Express สาขาประเทศจีน ตัดสินใจเลือก “นครหนานหนิง” เป็นที่ตั้งสำนักงานเพื่อขยายฐานธุรกิจ เพราะข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งของเขตฯ กว่างซีจ้วง และบริษัทฯ เล็งเห็นถึงโอกาสความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน-อาเซียน โดยต้องการพัฒนาการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจด้านโลจิสติกส์กับอาเซียนให้สมบูรณ์ขึ้น เพื่อยกระดับงานบริการด้านโลจิสติกส์ระหว่างจีนกับอาเซียนให้สะดวกมากขึ้นและตอบสนองความต้องการที่หลากหลายให้กับลูกค้าทั่วโลก

สวนโลจิสติกส์นานาชาติจีน(นครหนานหนิง)-สิงคโปร์ (China-Singapore Nanning International Logistics Park/中新南宁国际物流园) ในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนของภาคธุรกิจโลจิสติกส์ ร่วมทุนระหว่างธุรกิจท้องถิ่นกับสายเรือ PIL ของสิงคโปร์ ปัจจุบัน มีบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ประเภทต่างๆ เข้าจัดตั้งธุรกิจแล้วไม่น้อย อาทิ VX Logistic properties (万纬物流) Fosun Sinopharm (复星国药) Taigu Cold-chain (太古冷链) Best Inc. (百世汇通) และ Stater Link (信泰云链)

นายเว่ย หราน (Wei Ran/魏然) รองผู้อำนวยการสำนักบริหารงานวางแผนและก่อสร้างเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (เทียบเท่ารองอธิบดี) ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบัน กว่างซีกำลังเร่งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ในฐานะท่าเรือนานาชาติให้เป็นแพลตฟอร์มเสริมสร้างความร่วมมือด้านท่าเรือ โลจิสติกส์ และข้อมูลสารสนเทศกับประเทศไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม และส่งเสริมให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งสมาคมธุรกิจระดับอินเตอร์อย่าง China-ASEAN Multi-modal Transportation Association (中国—东盟多式联运联盟)

บีไอซี เห็นว่า การค้าระหว่างจีนกับอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยปีที่แล้ว “อาเซียน” ได้ก้าวขึ้นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน และในช่วงสองเดือนแรกของปี 2564 อาเซียนก็ยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน (มูลค่าการค้าอยู่ที่ 7.86 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) โดยธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่าย ความใกล้ชิดด้านทำเลที่ตั้งจึงเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ไทยไม่ควรพลาดในการเข้ามาขยายธุรกิจแบบครบวงจรในกว่างซี ทั้งทางถนน รถไฟ เรือ และอากาศ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การเป็น Hub การขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาคของทั้งกว่างซี (Hub จีนกับอาเซียน) และประเทศไทย (Hub อาเซียน) และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจให้ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต  รวมทั้งการสร้างเครือข่ายพันธมิตรผ่านสมาคม China-ASEAN Multi-modal Transportation Association ได้อีกด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 4 มีนาคม 2564
ภาพประกอบ www.freepik.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]