คิดจะนำเข้า-ส่งออกกับจีน ต้องนึกถึง “กว่างซี”

ไฮไลท์

  • มณฑลภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนได้หันมาอาศัยเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็น “ประตู” ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากับต่างประเทศ ทั้งท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักชื่ออ่าวตังเกี๋ย) และด่านชายแดนจีน(กว่างซี)กับเวียดนาม แทนมณฑลชายฝั่งทะเลจีนตอนใต้และตะวันออกที่เคยใช้ ส่งผลให้ปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านด่านในเขตฯ กว่างซีจ้วงเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด
  • การนำเข้า-ส่งออกผ่านด่านในกว่างซีใช้เวลาสั้นที่สุด โดยพิธีการนำเข้าใช้เวลาเพียง 5.56 ชั่วโมง ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศใช้เวลา 34.91 ชั่วโมง และยูนนานใช้เวลา 14.02 ชั่วโมง ขณะที่พิธีการส่งออกใช้เวลา 0.77 ชั่วโมง ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศใช้เวลา 1.78 ชั่วโมง และยูนนานใช้เวลา 0.12 ชั่วโมง
  • ทางการกว่างซีกำลังเร่งรัดโครงการพัฒนาระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศในทุกมิติ ทั้งการขนส่งทางเรือ ทางรถไฟ ทางถนน และทางอากาศ เพื่อตอบสนองและรองรับความต้องการในการทำการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์และเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการทำการค้ากับพื้นที่จีนตอนใน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรปแบบไร้รอยต่อ (เรือ+รถไฟ)
  • ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่รัฐบาลกลางมอบหมายให้กว่างซี โดยเฉพาะเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) และเขตทดลองการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน การใช้ประโยชน์จากด่านนำเข้าสินค้าที่ต้องได้รับการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ (เช่น ผลไม้ เนื้อสัตว์ เมล็ดธัญพืชและข้าว) การใช้ประโยชน์เส้นทางขนส่งทางบก (R8 R9 และ R12) และทางทะเล รวมถึงศูนย์โลจิสติกส์ต่างๆ ในกว่างซี เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกระจายสินค้าไปทั่วประเทศจีนได้อีกด้วย

 

การพัฒนาพื้นที่จีนตอนกลางและภาคตะวันตกผ่านนโยบาย Go west ที่เน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการย้ายฐานอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออกเข้าไป ส่งผลให้เศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคดังกล่าวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายดังกล่าวไม่น้อย

ข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของเขตฯ กว่างซีจ้วง (ติดชายทะเลอ่าวเป่ยปู้และชายแดนเวียดนาม) ทำให้มณฑลแห่งนี้มีบทบาทสำคัญในงานขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อการค้าระหว่างประเทศ กล่าวคือ มณฑลภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนได้หันมาอาศัยเขตฯ กว่างซีจ้วงเป็น “ประตู” ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากับต่างประเทศ ทั้งท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักชื่ออ่าวตังเกี๋ย) และด่านชายแดนจีน(กว่างซี)กับเวียดนาม แทนที่ช่องทางเดิมที่เคยใช้มณฑลชายฝั่งทะเลจีนตอนใต้และตะวันออก

            สถิติที่น่าสนใจของงานขนส่งระหว่างประเทศของเขตฯ กว่างซีจ้วง เมื่อปี 2563 มีดังนี้

  • ปริมาณขนถ่ายสินค้า 300 ล้านตัน (+17%) มากเป็นอันดับ 2 ของพื้นที่จีนตอนใต้ รองจากท่าเรือกว่างโจว
  • ปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 5.05 ล้าน TEUs (+32%) ติดอันดับที่ 10 ของท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลของจีน และอันดับที่ 40 ของโลก ที่สำคัญ ปริมาณขนถ่ายตู้สินค้าขยายตัวสูงเป็นอันดับ 1 ของท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลของจีน
  • เที่ยวขบวนรถไฟขนส่งตู้สินค้าที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีจำนวน 4,607 เที่ยว เมื่อเทียบกับปี 2560 เติบโต 25 เท่า ปริมาณตู้สินค้าที่ขนส่งผ่านโมเดลเรือ+รางมีจำนวน 3 แสน TEUs และขบวนรถไฟเที่ยวประจำมีวันละ 15 เที่ยว
  • เที่ยวขบวนรถไฟข้ามแดนจีน(กว่างซี)-เวียดนามผ่านด่านรถไฟผิงเสียง มีจำนวน 1,264 เที่ยว (+23.2%)
  • เวลาที่ใช้ผ่านพิธีการศุลกากรเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ กล่าวคือ พิธีการศุลกากรนำเข้าใช้เวลา 5.56 ชั่วโมง ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศใช้เวลา 34.91 ชั่วโมง และยูนนานใช้เวลา 14.02 ชั่วโมง ขณะที่พิธีการส่งออกใช้เวลา 0.77 ชั่วโมง ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศใช้เวลา 1.78 ชั่วโมง และยูนนานใช้เวลา 0.12 ชั่วโมง

 

เพื่อพัฒนางานขนส่งรูปแบบต่างๆ ให้เกิดความสมดุล เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างตัวเลือกที่มีความหลากหลาย ยกระดับประสิทธิภาพบริการ และอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งระหว่างประเทศ ทางการกว่างซีได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนางานขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อตอบสนองและรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาทิ

การพัฒนางานขนส่งทางบกข้ามแดนและด่านชายแดน เช่น การฟื้นฟูการเดินรถขนส่งสินค้าโดยตรงและโมเดลการขนส่งด้วยรถยนต์แบบ door to door ระหว่างจีน(กว่างซี)กับเวียดนาม การเพิ่มจำนวนด่านชายแดนที่ใช้ขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกอีก 2 ด่าน ได้แก่ ด่านผิงเมิ่งในเมืองไป่เซ่อ ซึ่งติดกับจังหวัดกาวบั่งของเวียดนาม และด่านอ้ายเตี้ยนในเมืองฉงจั่ว ซึ่งติดกับจังหวัดลางเซินของเวียดนาม) และการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดเส้นทางขนส่งทางถนนระหว่างประเทศระหว่างจีน(กว่างซี)กับเวียดนาม 3 เส้นทาง

การพัฒนางานขนส่งทางรถไฟ เช่น การผลักดันให้มีบริการขบวนรถไฟข้ามแดนจีน(กว่างซี)กับเวียดนามมากกว่า 230 เที่ยวขบวน การพัฒนาให้มีบริการขบวนรถไฟควบคุมอุณหภูมิความเย็นสู่ภาคเหนือเป็นประจำ ทั้งขบวนรถไฟขนส่งพืชผักสดจากเมืองไป่เซ่อ ขบวนรถไฟขนส่งผลิตภัณฑ์อาหารแช่เย็นแช่แข็งจากเมืองฝางเฉิงก่าง และขบวนรถไฟขนส่งผลไม้สดจากเมืองผิงเสียง

การพัฒนาโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal transportation) เช่น การขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์ (Bulk) แบบต่อเนื่องในโมเดลถนน+รถไฟ และถนน+เรือ และการพัฒนาระบบงานเอกสารชุดเดียวสำหรับการขนส่งต่อเนื่องระหว่างรถไฟ+เรือ

การพัฒนางานขนส่งสินค้าทางอากาศ เช่น การเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าด้วยเครื่องบินระหว่างนครหนานหนิงกับประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศเอเชียใต้เพิ่มอีก 1-2 เส้นทาง ปัจจุบัน มีเส้นทางขนส่งทางอากาศไปยังนครโฮจิมินห์ และกรุงมะนิลาแล้ว รวมถึงการฟื้นฟูเส้นทางบินสู่เมืองหลวงของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งกรุงพนมเปญ เวียงจันทน์ และกรุงฮานอย

บีไอซี เห็นว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการทำการค้ากับพื้นที่จีนตอนใน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรปแบบไร้รอยต่อ (เรือ+รถไฟ) ปัจจุบัน มีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยด้วยแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งทางเรือที่มีระยะทางสั้นที่สุดระหว่างจีนกับไทย โดยระบบงานขนส่งดังกล่าวสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้หลายประเภท ทั้งตู้คอนเทนเนอร์แบบที่มีเครื่องทำความเย็น (Reefer) สำหรับการขนส่งผลไม้และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง และตู้คอนเทนเนอร์แบบ Open Top ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าเทกอง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่รัฐบาลกลางได้มอบให้เขตฯ กว่างซีจ้วง โดยเฉพาะเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) และเขตทดลองการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน การใช้ประโยชน์จากด่านนำเข้าสินค้าที่ต้องได้รับการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ (เช่น ผลไม้ เนื้อสัตว์ เมล็ดธัญพืชและข้าว) การใช้ประโยชน์เส้นทางขนส่งทางบก (R8 R9 และ R12) และทางทะเล รวมถึงศูนย์โลจิสติกส์ต่างๆ ในเขตฯ กว่างซีจ้วงเพื่อเป็นแพลตฟอร์มกระจายสินค้าไปทั่วประเทศจีนได้อีกด้วย โดยในปี 2563 เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นผู้นำเข้าสินค้าไทยรายใหญ่อันดับ 6 ของประเทศ รองจากมณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง นครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลซานตง

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา
   เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 03 มีนาคม 2564
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (
广西日报) วันที่ 26 กุมภาพันธฺ 2564
ภาพประกอบ www.freepik.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]