• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • อำเภอฝูอาน เมืองหนิงเต๋อ – 1 ใน 3 “ฐานการต่อเรือและซ่อมเรือภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของจีน”

อำเภอฝูอาน เมืองหนิงเต๋อ – 1 ใน 3 “ฐานการต่อเรือและซ่อมเรือภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของจีน”

โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

 

อุตสาหกรรมการต่อเรือและซ่อมเรือเป็นอุตสาหกรรมหลักของอำเภอฝูอาน โดยมีมูลค่ากว่า 5 พันล้านหยวนต่อปี มีการจ้างแรงงานกว่า 25,000 คน คิดเป็นร้อยละ 50 ของแรงงานในสาขาการต่อเรือและซ่อมเรือทั่วมณฑลฝูเจี้ยน เฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 11 ของมูลค่า GDP ทั้งอำเภอ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ฝูอานมีวิสาหกิจในสาขาการต่อเรือและซ่อมเรือ 29 แห่งซึ่งได้สร้างรายได้กว่า 2.2 พันล้านหยวน และได้ต่อเรือใหม่ทั้งหมด 35 ลำ และได้รับการสั่งซื้อเรือ 45 ลำ ซึ่งมีมูลค่าการผลิตตามสัญญากว่า 1.7 พันล้านหยวน โดยเรือที่ผลิตในอำเภอฝูอาน  มีหลากหลายประเภท อาทิ เรือซ่อมบำรุงกระแสไฟฟ้าพลังงานลมทางทะเล เรือขนส่ง Decked Barge เรือบรรทุกรถยนต์ (RORO) RO-RO เรือบรรทุกสินค้า เรือประมงประเภทต่าง ๆ เรือจราจร และเรือน้ำประปา เป็นต้น ขณะที่อุตสาหกรรมซ่อมเรือมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเรือของอำเภอฝูอาน โดยมีห่วงโซ่ทางการซ่อมเรือที่สมบูรณ์ อาทิ อู่เรือ ท่าเทียบเรือ การยกขึ้น ทีมเทคนิคและการทดสอบ

การต่อเรือและซ่อมเรือของอำเภอฝูอาน เมืองหนิงเต๋อ

โอกาสของไทย ปัจจุบัน อำเภอฝูอานได้รับการขนานนามว่าเป็น 1 ใน 4 ฐานการต่อเรือที่สำคัญของมณฑลฝูเจี้ยนนอกเหนือจากเมืองเซี่ยเหมิน เขตมาเหวินของนครฝูโจว และเมืองเฉวียนโจว และรัฐบาลฝูอานกำลังออกนโยบายส่งเสริมการยกระดับความเป็นอัจฉริยะของโรงงานต่อเรือ โดยผลักดันการใช้หุ่นยนต์งานเชื่อมกระบวนการเชื่อมอัตโนมัติ ความเป็นดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงในการต่อเรือสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับ 714th Research Institute of China Shipbuilding Industry Corporation ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของบริษัทผลิตเรือที่ใหญ่ที่สุดของจีนและเป็นผู้นําร่องอุตสาหกรรมการต่อเรือของจีนและเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ป้อนให้แก่กองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดของจีน

อุตสาหกรรมการต่อเรือและซ่อมเรือในไทยยังมีขนาดเล็กและมีปริมาณการต่อเรือน้อยเมื่อเทียบกับตลาดโลก ขณะที่อุปสงค์ของเรือพาณิชย์สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น แต่ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเรือพาณิชย์ของไทยไม่ค่อยมีคำสั่งต่อเรือลำใหม่เนื่องจากเจ้าของเรือไทยมีแนวโน้มจะสั่งซื้อเรือเก่าจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่ามากกว่าสั่งต่อเรือในไทย ส่งผลให้ไทยขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว ดังนั้น ความร่วมมือกับจีนในสาขาการต่อเรือและซ่อมเรือซึ่งจีนมีเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญจึงเป็นอีกสาขาอุตสาหกรรมหนึ่งที่ไทยอาจพิจารณาสำรวจศักยภาพเพื่อรองรับความต้องการจากธุรกิจโลจิสติกส์ทางทะเลที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

แหล่งอ้างอิง http://www.cfmif.com/n23645c43.aspx

http://www.fjfa.gov.cn/zwgk/fayw/202012/t20201211_1409322.htm

http://www.fjfa.gov.cn/zwgk/gzbg/zfgzbg/201901/t20190124_894645.htm

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]