เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2564 นายถัง เหลียงจื้อ นายกเทศมนตรีนครฉงชิ่ง ได้แถลงผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของนครฉงชิ่งในปี 2563 และเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของนครฉงชิ่งในปี 2564 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนนครฉงชิ่ง สมัยที่ 5 ครั้งที่ 4

  • ภาพรวมทางเศรษฐกิจ

        – GDP ของปี 2563 มีมูลค่า 2.5 ล้านล้านหยวน เติบโตขึ้นร้อยละ 3.9 มูลค่า
        – การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9
        – มูลค่าการค้าปลีกสินค้าอุปโภคและบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3
        – มูลค่าการนำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5
        – มูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8
        – ผลกำไรของอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่อยู่ที่ 1.25 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16
        – รายได้เฉลี่ยต่อหัวของ ปชก. (หลังหักภาษี) เท่ากับ 30,824 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6

 

  • การดำเนินงานที่สำคัญในปี 2563

          การพัฒนาเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง ได้แก่ (1) เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced Manufacturing) และอุตสาหกรรมภาคบริการที่ทันสมัยในเขตตัวเมือง (2) จัดตั้งเขตบริหารของเมืองเพิ่มขึ้น 8 เขต (เนื่องจากมีมูลค่าการผลิตเกิน 1 แสนล้านหยวน) (3) มีความคืบหน้าในการดำเนินการก่อสร้างทางหลวงสายกลางระหว่างนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง (4) เริ่มการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายเฉิงตู-ต๋าโจว-ว่านโจว และ      สายฉงชิ่ง-ว่านโจว (5) ลดระยะเวลาการเดินทางเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายเฉิงตู-ฉงชิ่งเหลือเพียง 1 ชั่วโมง (6) มีการขนส่งสินค้าจากทั้งนครเฉิงตูและฉงชิ่งด้วยขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าสายจีน-ยุโรปเป็นครั้งแรก (7) ร่วมกันดำเนินงานของภาครัฐผ่านระบบออนไลน์รวม 95 รายการ (7) การย้ายทะเบียนบ้านระหว่างนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งผ่านระบบ one stop service (8) การใช้บริการขนส่งมวลชนในพื้นที่เขตตัวเมืองของนครฉงชิ่งและนครเฉิงตูผ่านบัตรโดยสารบัตรเดียว

 

          การส่งเสริมนโยบาย 6 เสถียรภาพและ 6 หลักประกัน ได้แก่ (1) ส่งเสริมและคุ้มครองการประกอบอาชีพ โดยได้เพิ่มอาชีพสำหรับ ปชช. ในเมืองจำนวน 656,000 คน (2) จัดสรร งปม. เป็นค่าครองชีพสำหรับ ปชช. 5,140 ล้านหยวน เงินช่วยเหลือเฉพาะกรณี 460 ล้านหยวน และเงินเบี้ยเลี้ยชดเชยกรณีราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 670 ล้านหยวน (3) คุ้มครองผู้ประกอบการในตลาด ลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการมากกว่า 1 แสนล้านหยวน ส่งผลให้มีอัตราผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 (4) ยอดการผลิตธัญพืชสูงสุดในรอบ 10 ปี สร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานด้านพลังงาน (5) รักษาความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรม สร้างกลไกการประสานงานสำหรับการกลับมาทำงานของภาคอุตสาหกรรมและการรับประกันความต้องการด้านอุตสาหกรรมจาก ตปท. (6) คุ้มครองการทำงานของหน่วยราชการระดับฐานราก (หมู่บ้าน/ตำบล) (7) รักษาความมั่นคงในการประกอบอาชีพ โดยควบคุมอัตราการว่างงานไม่ให้เกินร้อยละ 5.7 (8) รักษาเสถียรภาพทางการเงินโดยการเพิ่มเงินทุนสำหรับการให้กู้จากภาคเอกชนเป็นจำนวน 78,000 ล้านหยวน ส่งผลให้ยอดเงินกู้ระยะยาวของอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 (9) รักษาเสถียรภาพทางการค้า รปท. ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าส่งออกระหว่างฉงชิ่งกับอาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และประเทศตามแนวเส้นทาง BRI เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ร้อยละ 7.7 ร้อยละ 10.5 และร้อยละ 9.8 ตามลำดับ (10) รักษาเสถียรภาพ การลงทุนจากต่างชาติ (มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ 10,270 ล้านเดอลลาร์สหรัฐ) (11) รักษาเสถียรภาพทาง  การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 และการลงทุนในอุตสาหกรรมขั้นสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.6 และ (12) รักษาเสถียรภาพของมูลค่าของโครงการลงทุนใหม่ โดยได้มีการลงนามในสัญญาแล้ว 1.46 ล้านล้านหยวน

          การปรับปรุงและยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรม ได้แก่ (1) ดำเนินแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการผลิตคุณภาพสูงในเชิงลึก ส่งผลให้มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 และมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 (2) ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมอัจฉริยะและ Big Data โดยเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมดิจิทัลให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 (3) ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการทันสมัยให้มีคุณภาพและมีประสิทธิผล โดยรายได้จากการดำเนินงานของอุตสาหกรรมบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 รายได้จากอุตสาหกรรมบริการซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.4 และรายได้จากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมบริการทางเทคนิคเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3

          การปฏิรูปในการเปิดออกสู่ภายนอกและพัฒนานวัตกรรม ได้แก่ (1) เส้นทางขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างนครฉงชิ่ง-ยุโรปเพิ่มขึ้น 31 เส้นทาง (2) การลงนามโครงการลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือโครงการเชื่อมโยงจีน-สิงคโปร์ รวม 260 โครงการ เงินลงทุนมูลค่า 33,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3) การดำเนินการปฏิรูป เขตทดลองการค้าเสรีนครฉงชิ่ง 151 รายการ (4) จำนวนผู้ประกอบการที่ลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติมีมากกว่า 6,700 ราย (5) เริ่มการก่อสร้าง Western (Chongqing) Science City (6) มีความคืบหน้าการก่อสร้าง Liangjiang Collaborative Innovation Zone (7) การลงนามสัญญาดำเนินการโครงการจัดตั้ง Chongqing Science Center ร่วมกับ Chinese Academy of Science และ (8) ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทด้านนวัตกรรม 23 แห่ง และ ผชช. 25,000 คน เข้าไปทำงานในนครฉงชิ่ง

การพัฒนาเมืองและชนบท

          การพัฒนาตัวเมือง (1) ระบบขนส่งรถไฟความเร็วสูงมีระยะทางรวม 1,319 กิโลเมตร (รวมถึงเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) (2) ระบบขนส่งมวลชนแบบระบบรางในตัวเมืองมีระยะทาง 370 กิโลเมตร   (3) ระบบทางด่วน มีระยะทาง 3,400 กิโลเมตร (4) ก่อสร้างสถานีส่งสัญญาญคลื่น 5G แห่งใหม่ 39,000 แห่ง (5) เปิดใช้บริการสนามบินอู่หลงเซียนหนู่ซาน

           การพัฒนาชนบท (1) พัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร 10 กลุ่ม (2) ผลการผลิตจากการเกษตรบนพื้นที่ภูเขามีมูลค่า 4.5 แสนล้านหยวน (3) ประสบความสำเร็จในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ที่สำคัญ 20 แห่ง           (4) มูลค่าผลผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปและการขายปลีกสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และร้อยละ 21 ตามลำดับ

 

  • เป้าหมายหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของนครฉงชิ่งในปี 2564

          รัฐบาลนครฉงชิ่งตั้งเป้าหมายให้ GDP เติบโตมากกว่าร้อยละ 6 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ยอดขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 มูลค่าการนำเข้าและการส่งออกโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 รายได้ต่อหัวโดยรวมของ ปชก. เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 คงอัตราการว่างงานอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ควบคุมการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ร้อยละ 3.2 ผลผลิตธัญพืชคงที่ที่ 10,800 ล้านกิโลกรัม และประหยัดการใช้พลังงานต่อหน่วยของ GDP (energy consumption per unit of GDP) ในฉงชิ่ง โดยลดลงประมาณร้อยละ 3

 

  • ภารกิจสำคัญของนครฉงชิ่งในปี 2564

          ได้แก่ (1) ส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและเร่งการสร้างศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีศักยภาพระดับประเทศ (2) ผลักดันการพัฒนาเขตวงเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่งให้มีความเป็นรูปธรรมและในเชิงลึกมากขึ้น (3) ยกระดับความทันสมัยของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน และเร่งสร้างระบบอุตสาหกรรมที่ทันสมัย (4) ผลักดันการปฏิรูปในด้านที่สำคัญ ๆ ในเชิงลึกยิ่งขึ้น เพื่อให้การปฏิรูปดังกล่าวสามารถตอบสนองต่อความต้องการของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมได้ ตรงกับเป้าหมายของหน่วยงานราชการ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของ ปชช. (5) เร่งการพัฒนาข้อได้เปรียบใหม่ ๆ ในการเปิดสู่ภายนอกและเสริมสร้างความพร้อม ในการเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ dual circulation (6) ส่งเสริมการพัฒนาชนบทอย่างทั่วถึง เสริมสร้างและขยายผลสำเร็จของการขจัดความยากจน (7) ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับนครฉงชิ่งอย่างต่อเนื่อง และเร่งสร้างนครฉงชิ่งให้เป็นเมืองสมัยใหม่ มีความเป็นสากล เป็นเมืองสีเขียว เมืองอัจฉริยะ และเมืองแห่งวัฒนธรรม (8) เสริมสร้างการป้องกันมลพิษและการรักษาระบบนิเวศ มีส่วนช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสูงสุดและคาร์บอนเป็นกลาง (carbon peak and carbon neutral) (9) ยกระดับคุณภาพชีวิตของ ปชช. อย่างมีประสิทธิภาพ และปรับปรุงระบบบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง และ (10) ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสามารถตอบสนองต่อสภาวะฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

 

  • เป้าหมายหลักของนครฉงชิ่งในช่วง “เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14

          รัฐบาลนครฉงชิ่งจะเน้นการพัฒนาคุณภาพสูงรูปแบบใหม่และการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพสูงขึ้นของ ปชช. เร่งการจัดตั้งศูนย์เศรษฐกิจสำคัญที่มีศักยภาพระดับชาติ จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดตั้งพื้นที่สำหรับปฏิรูปและการเปิดกว้างสำหรับความร่วมมือกับ ตปท. แห่งใหม่ สร้างที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพสูง ผลักดันการพัฒนา ใหม่ ๆ บนพื้นฐานของการสร้างสังคมที่มีความมั่งคั่งรอบด้าน มุ่งมั่นที่จะมีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาภูมิภาคตะวันตกจีนในยุคใหม่ มีบทบาทนำในการผลักดันนโยบาย BRI และการเป็นแบบอย่างที่ดีในการส่งเสริมการพัฒนา สีเขียวของแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี

 

  • ภารกิจสำคัญของนครฉงชิ่งในช่วง “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14

          ได้แก่ (1) เร่งพัฒนาให้เป็นศูนย์นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับชาติ (2) ผลักดันการพัฒนาเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่งในเชิงลึก (3) เสริมสร้างระบบอุตสาหกรรมแบบสมัยใหม่ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับระบบเศรษฐกิจ (4) ปรับรูปแบบการพัฒนาให้สอดคล้องกับรูปแบบการพัฒนารูปแบบใหม่ของประเทศ โดยอาศัยตลาดภายในประเทศที่แข็งแกร่ง (5) พัฒนาชนบท พร้อมทั้งยกระดับเมือง และส่งเสริมการบูรณาการระหว่างเมืองและชนบท    (6) ส่งเสริมการปฏิรูปที่รอบด้าน สร้างระบบเศรษฐกิจการตลาดแบบสังคมนิยมสมัยใหม่ (7) เปิดกว้างในการมีความร่วมมือกับ ตปท. มากยิ่งขึ้น และเร่งสร้างให้ฉงชิ่งเป็นนครแห่งความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับแนวหน้า (8) พัฒนาด้านวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม และเร่งการสร้างเมืองทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง (9) ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาสีเขียว และสร้างนครฉงชิ่งให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามทางธรรมชาติ (10) ปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของ ปชช. ให้มีคุณภาพชีวิตสูงขึ้น และยกระดับการพัฒนาของโครงสร้างทางสังคม และ (11) เน้นการประสานงานระหว่างการพัฒนาและความมั่นคงปลอดภัย และรักษาความมั่นคงปลอดภัยในการพัฒนาเป็นสำคัญ

  • วิสัยทัศน์ปี พ.ศ. 2578

นครฉงชิ่งมีเป้าหมายที่จะเข้าสู่สังคมนิยมที่มีความทันสมัยพร้อมกันกับทั้งประเทศจีน โดยมีมูลค่าผลการผลิตทางเศรษฐกิจโดยรวมและรายได้ของชาวเมืองและในชนบทเพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับ ปี 2563 และก้าวสู่การเป็นมหานครที่ทันสมัยระดับสากล รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ในนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งให้เป็นเขตวงกลมเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งและมีความโดดเด่น เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีศักยภาพเทียบเท่าระดับสากล

 

 

  • ข้อสังเกต

          ภาวะเศรษฐกิจของนครฉงชิ่งชะลอตัวลงอย่างมากเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และอุทกภัย ครั้งใหญ่เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2563 อย่างไรก็ดี นครฉงชิ่งยังสามารถรักษาระดับ GDP และตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ให้เป็นบวกได้เนื่องจากรัฐบาลนครฉงชิ่งได้มีมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ ปชช. และภาคธุรกิจอย่างแข็งขัน อาทิ การสนับสนุนด้านสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ การสนับสนุนด้านภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับการจำหน่ายสินค้าแปรรูป เป็นต้น

          นครฉงชิ่งพยายามปรับ position ตัวเองให้มีบทบาทนำด้าน วทน. ในภูมิภาคจีนตะวันตกมากขึ้นโดยการก่อสร้าง Western (Chongqing) Science City / Liangjiang Collaborative Innovation Zone และดำเนินการโครงการ Chongqing Science Center รวมถึงความพยายามในการดึงดูดบริษัทด้านนวัตกรรมและ ผชช. ต่างชาติให้ไปอาศัยอยู่ในนครฉงชิ่ง อย่างไรก็ดี ความพยายามดำเนินการดังกล่าวแทบไม่ได้กล่าวถึงการมีความร่วมมือกับมณฑลเสฉวน ซึ่งมณฑลเสฉวนเองก็พยายามมีบทบาทนำด้าน วทน. เช่นกัน โดยการผลักดันเมืองเหมียนหยางให้เป็นเมืองวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา/ศูนย์กลางสถาบันการศึกษาแห่งภูมิภาค ณ เมืองอี๋ปิน โดยได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อดึงดูด ผชช./talent ต่างชาติให้ไปอาศัยในเมืองดังกล่าว

          แม้การพัฒนาเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่งจะยังคงเป็นนโยบายและภารกิจสำคัญของรัฐบาลนครฉงชิ่งในปี 2564 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 และวิสัยทัศน์ ค.ศ. 2035อย่างไรก็ดี จากมุมมองของคณะกงสุล ตปท. ส่วนใหญ่เห็นว่า น่าที่จะประสบผลได้ยากและต้องใช้เวลา เนื่องจากรัฐบาลฉงชิ่งและรัฐบาลเสฉวนยังมีแนวทางในการดำเนินการและการบริหารงานที่ต่างคนต่างทำและแข่งขันกัน นอกจากนี้ หลายฝ่ายมองด้วยว่า รัฐบาลฉงชิ่งมีการบริหารงาน การดำเนินงาน ตลอดจนความร่วมมือกับต่างประเทศที่คล่องตัวและ มีความเป็นสากลมากกว่ารัฐบาลมณฑลเสฉวน

******************************

ที่มา : https://thaibizchina.com/