• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • รัฐบาลเจ้อเจียงประกาศเป้าหมายและภารกิจสำคัญปี 2564 – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

รัฐบาลเจ้อเจียงประกาศเป้าหมายและภารกิจสำคัญปี 2564 – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

เมื่อ 26 ม.ค. 2564 รัฐบาลมณฑลเจ้อเจียงประกาศผลการดำเนินงานของปี 2563 โดยแม้ว่าจะต้องเผชิญกับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาด COVID-19 แต่ GDP ของเจ้อเจียงยังสามารถขยายตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.6 (GDP ปี 2563 เท่ากับ 6.46 ล้านล้านหยวน) ซึ่งแม้การขยายตัวของ GDP จะไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายเดิมที่ต้องการกระตุ้นให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 – 6.5 แต่ก็สะท้อนถึงความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์วิกฤต นอกจากนี้ ยังได้ประกาศเป้าหมายและภารกิจที่สำคัญประจำปี 2564 ด้วย

เป้าหมายการพัฒนาปี 2564

ปี 2564 เป็นปีที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งครบ 100 ปี และเป็นปีแรกของการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 ระยะ 5 ปี (2564 – 2568) โดยมณฑลเจ้อเจียงได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนารวม 7 รายการ ได้แก่

(1) กระตุ้น GDP ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 6.5 ขึ้นไป
(2) ค่าใช้จ่าย R&D คิดเป็นร้อยละ 2.9 ของมูลค่า GDP ทั้งหมด
(3) จำนวนประชากรพำนักถาวรในเขตเมืองคิดเป็นประมาณร้อยละ 72 ของประชากรทั้งหมดในมณฑล
(4) รายได้ประชากรเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง และรายได้ของรัฐบาลเติบโตไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจ
(5) ควบคุมให้ CPI ขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 3
(6) เพิ่มงานใหม่ในเขตเมือง 800,000 อัตรา และควบคุมให้อัตราการว่างงานในเขตเมืองอยู่ที่ร้อยละ 5.5
(7) บรรลุเป้าหมายดัชนีด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมตามที่รัฐบาลกลางกำหนด

ทั้งนี้ เป้าหมายข้างต้นได้ตั้งให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในแต่ละปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นฐานที่มั่นคงในปีแรกของแผนพัฒนาฯ และเพื่อรองรับปัจจัยความเสี่ยงภายนอกที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้และส่งผลกระทบต่อเป้าหมายภาพรวมของ 5 ปีข้างหน้า

ภารกิจสำคัญประจำปี 2564

(1) การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดฯ อย่างระมัดระวัง โดยพยายามควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดในเจ้อเจียงขึ้นอีกครั้ง และป้องกันมิให้การแพร่ระบาดฯ จากนอกพื้นที่เจ้อเจียงกระจายเข้าสู่ในพื้นที่

(2) ผลักดันการเชื่อมโยงควบคู่ระหว่างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีกับการยกระดับอุตสาหกรรม โดยการเร่งยกระดับความสามารถการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต และมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

(3) กระตุ้นให้ตลาดภายในพื้นที่มีความคึกคัก โดยพยายามออกนโยบายพิเศษต่าง ๆ เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งตั้งเป้าหมายจะช่วยลดภาระให้ภาคธุรกิจรวมตลอดทั้งปีมากกว่า 250,000 ล้านหยวน รวมถึงเร่งพัฒนาเครือข่ายการบริโภคในชุมชนรูปแบบ “5 นาทีถึงร้านสะดวกซื้อ + 10 นาทีถึงตลาดสด + 15 นาทีถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต” และเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์จัดส่งสินค้าให้ครอบคลุมในพื้นที่ชนบท

(4) การปฏิรูปและเปิดกว้างในเชิงลึกอย่างรอบด้าน อาทิ การปฏิรูปให้ใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น การปรับปรุงระบบนโยบายทางการคลังให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขยายผลการดำเนินงานของเขตสาธิตความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าจีน – ยุโรปตอนกลางและตะวันออก และเพิ่มขบวนรถไฟจากเมืองอี้อู – ยุโรปให้มีมากกว่า 1,500 ขบวนต่อปี เป็นต้น

(5) ผลักดันความเป็นเมืองและพัฒนาชนบทให้เจริญขึ้น อาทิ เพิ่มการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างในชั้นใต้ดินให้มากขึ้น การปรับปรุงชุมชนทรุดโทรม 800 แห่ง การดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตแบบบูรณาการในภาคเกษตรกรรม เป็นต้น

(6) ผลักดันการพัฒนาระดับภูมิภาคอย่างเหมาะสมและเป็นระบบ อาทิ การพัฒนาให้ศักยภาพด้านเศรษฐกิจทางทะเลของมณฑล และส่งเสริมการพัฒนาตามนโยบายการบูรณาเขตเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

(7) ส่งเสริมการสร้างอารยธรรมทางนิเวศ (Ecological Civilization) อาทิ ควบคุมให้พื้นที่เขตเมืองมีระดับ PM 2.5 เฉลี่ยต่อปีให้ต่ำกว่า 29 ไมโครกรัม/ ลูกบาศก์เมตร ปรับปรุงระบบนิเวศของเหมืองร้าง 100 แห่ง และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ 400,000 หมู่ (166,666 ไร่) เป็นต้น

(8) ส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมแห่งเจ้อเจียงอย่างต่อเนื่อง อาทิ เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ยกระดับมาตรฐานการในบริการด้านวัฒนธรรม และเพิ่มระดับความเป็นอารยะในสังคม เป็นต้น

(9) เพิ่มหลักประกันคุณภาพชีวิต อาทิ การเพิ่มสัดส่วนความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคร้ายแรงให้ครอบคลุมถึงร้อยละ 70 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เป็นต้น

(10) ยกระดับมาตรฐานการทำงานของภาครัฐให้มีความทันสมัย อาทิ การดำเนินงานภายใต้แนวคิดการพัฒนาโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง การลดรายจ่ายทั่วไปและรายจ่ายที่ไม่ใช่โครงการสำคัญของภาครัฐลงจากเดิมให้ได้มากกว่าร้อยละ 10 ขึ้นไป การเพิ่มศักยภาพและบ่มเพาะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

ทั้งนี้ เจ้อเจียงเป็นมณฑลที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจระดับต้น ๆ ของจีน โดยมี GDP เป็นอันดับ 4 ของจีนรองจากมณฑลกวางตุ้ง เจียงซู และซานตง ซึ่งที่ผ่านมาเจ้อเจียงเป็นหนึ่งในพื้นที่หลักของจีนที่มีธุรกิจออกไปลงทุนในไทยค่อนข้างมาก โดยภารกิจสำคัญด้านหนึ่งของรัฐบาลเจ้อเจียง คือ การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางด้าน E-commerce และเศรษฐกิจดิจิทัลที่สำคัญของจีน ทั้งนี้ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ไทยและเจ้อเจียงก็มีมูลค่าการค้ารวม 11,172.85 ล้านหยวนเมื่อปี 2563 ซึ่งเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 24.78

******************************

จัดทำโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง (ศูนย์ BIC เซี่ยงไฮ้)
ข้อมูลอ้างอิง
1. www.163.com หัวข้อ【一图读懂】2021年浙江省政府工作报告 (26 ม.ค. 2564)
2. https://new.qq.com หัวข้อ 政府工作报告丨2021年,浙江这样努力 (26 ม.ค. 2564)
3. www.lsnews.com.cn หัวข้อ 政府工作报告摘要 (27 ม.ค. 2564)

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]