เศรษฐกิจดิจิทัล : เสาเศรษฐกิจใหม่ของกว่างซี

ไฮไลท์

  • ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Information Harbor (CAIH) ได้ช่วยให้เศรษฐกิจดิจิทัลในกว่างซีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และได้แสดงบทบาทสำคัญในหลายด้าน ทั้งการป้องกันและรับมือโรคระบาด การอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันและสังคม การทำงาน เศรษฐกิจและการค้า รวมถึงการเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต
  • เทรนด์/โมเดลธุรกิจที่เป็นที่นิยมในขณะนี้ ได้แก่ การช้อปปิ้งออนไลน์ การขายสินค้าผ่านช่องทางไลฟ์สด (Live streaming) การใช้งานออฟฟิศออนไลน์ การปรึกษาแพทย์และรักษาผ่านระบบทางไกล และการศึกษาออนไลน์ (e-Learning)
  • ในช่วง 5 ปีนี้ (2564-2568) กว่างซีมีทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑลที่เน้นการพัฒนาดิจิทัลให้เป็นอุตสาหกรรมและการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ดิจิทัล รวมทั้งส่งเสริมเทคโนโลยี Big Data อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ นวัตกรรมแอปพลิเคชัน อุตสาหกรรม 5G บล็อกเชน ภูมิสารสนเทศ เทคโนโลยีสำรวจระยะไกล และดาวเทียมเป่ยโต้ว รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายเมืองอัจฉริยะในอาเซียนด้วย

 

ภายใต้การขับเคลื่อนของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor – CAIH) ได้ช่วยให้เศรษฐกิจดิจิทัลในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้แสดงบทบาทสำคัญในหลายด้าน ทั้งการป้องกันและรับมือโรคระบาด การอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันและสังคม การทำงาน เศรษฐกิจและการค้า รวมถึงการเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต

พัฒนาการของเศรษฐกิจดิจิทัลในกว่างซีเริ่มมีความชัดเจนขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เมื่อกว่างซีได้ริเริ่มโครงการ China-ASEAN Information Harbor (CAIH) ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลกลาง เพื่อเป็นแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้เชื่อมโยงกับอาเซียน และได้กำหนดยุทธศาสตร์ Digital Guangxi เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางและเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมุ่งส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี Big Data ปัญญาประดิษฐ์ อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT) คลาวด์คอมพิวติ้ง เมืองอัจฉริยะ ดาวเทียมเป่ยโต้ว การผลิตอัจฉริยะ และศูนย์กลางการเงิน

  • ธุรกิจชั้นนำในแวดวงดิจิทัลได้ทยอยเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก ในปี 2563 เขตฯ กว่างซีจ้วงมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลราว 1.2 หมื่นราย อาทิ Huawei, Tencent, Alibaba, Inspur และ JD
  • การลงทุนในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงในกว่างซีเติบโตขึ้น 12.4% (YoY) โดยเฉพาะการลงทุนในภาคการผลิต (+20.4%) และการบริการ (+4.4%)
  • เทรนด์ธุรกิจที่ยังคงได้รับความนิยม ได้แก่ การช้อปปิ้งออนไลน์และการขายสินค้าผ่านช่องทางไลฟ์สด (live streaming)
  • ส่วนการใช้งานออฟฟิศออนไลน์ การปรึกษาแพทย์และรักษาผ่านระบบทางไกล และการศึกษาออนไลน์ (e-Learning) เป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) รัฐบาลกว่างซีได้กำหนดทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑล โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี Big Data การพัฒนาเชิงลึกระหว่างเศรษฐกิจดิจิทัลกับเศรษฐกิจจริง การพัฒนาดิจิทัลให้เป็นอุตสาหกรรม (digital industrialization) และการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ดิจิทัล (industrial digitization)

นอกจากนี้ ยังพร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรมแอปพลิเคชัน การผลักดันการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรม 5G การคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์และการประมวลผล การพัฒนาอุตสาหกรรรมบล็อกเชน ภูมิสารสนเทศ (geoinformatics) เทคโนโลยีสำรวจระยะไกล (remote sensing) และดาวเทียมเป่ยโต้ว และการมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎ กติกา และมาตรฐาน ในการดำเนินธุรกิจดิจิทัลและการพัฒนาโครงข่ายเมืองอัจฉริยะในอาเซียนอีกด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 21,23 มกราคม 2564
ภาพประกอบ www.strategeast.org

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]