โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

 

ปัจจุบัน จีนมีปริมาณการผลิตแร่ธาตุหายากสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกอยู่ที่ 132,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63 ของปริมาณการผลิตแร่ธาตุหายากทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 210,000 ตัน และเป็นประเทศที่มีปริมาณสำรองแร่ธาตุหายากมากเป็นอันดับ 1 ของโลกอยู่ที่ 44 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 ของปริมาณสำรองแร่ธาตุหายากทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 120 ล้านตัน ขณะที่แร่ธาตุหายากของจีนส่วนใหญ่กระจายอยู่ที่พื้นที่ต่าง ๆ ของจีน ได้แก่ มองโกเลียใน (ปริมาณการผลิตแร่ธาตุหายากสูงเป็นอันดับ 1 ของจีน คิดเป็นร้อยละ 58 ของประเทศ โดยเฉพาะแร่กลุ่มธาตุหายากเบา) เจียงซี เสฉวน ซานตง ฝูเจี้ยน กวางตุ้ง กว่างซี และหูหนาน ตามลำดับ

มณฑลเจียงซีเป็นแหล่งที่มีปริมาณสำรองแร่กลุ่มไอออนมากที่สุดของจีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของปริมาณสำรองแร่ไอออนทั่วประเทศ โดยเฉพาะเมืองก้านโจวซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “อาณาจักรแห่งแร่ธาตุหายาก” “เมืองแห่งทังสเตนของโลก” และ “แหล่งกำเนิดของแร่ไอออนของจีน” ซึ่งเป็นเมืองแห่งแรกของโลกที่ได้ผลิตแร่กลุ่มไอออนขึ้นมาในปี 2512 ก้านโจวอุดมไปด้วยทรัพยากรแร่กลุ่มไอออน และอุตสาหกรรมแร่ธาตุหายากมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 40 ปี ซึ่งกระจายอยู่ใน 18 อำเภอทั่วเมืองก้านโจว โดยแต่ละปีมีปริมาณการผลิตคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของแร่กลุ่มธาตุหายากหนักและกลางทั่วโลก

ปัจจุบัน นอกจากการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมแร่ธาตุหายากแล้ว เมืองก้านโจวกำลังเร่งส่งเสริมการบริหารจัดการเขตแร่ธาตุหายากที่ถูกกำจัดทิ้งอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวจากเขตแร่ธาตุหายากที่ถูกกำจัดทิ้งกว่า 91 ตารางกิโลเมตร โดยใช้เงินทุนมากกว่า 1.4 หมื่นล้านหยวน ยกตัวอย่างเช่น อำเภอซุนอู เมืองก้านโจว ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่บุกเบิกแร่หายากเก่าแก่ที่สุดของประเทศ และเกิดปัญหาทางระบบนิเวศวิทยาอย่างหนัก เช่น การพังทลายของดิน น้ำท่วม มลพิษทางน้ำ สภาพความเป็นกรดสูงของดิน ภายหลังจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการรักษาระบบนิเวศวิทยาและออกมาตรการป้องกันและแก้ไข ปัจจุบัน อำเภอซุนอูมีการฟื้นฟูพื้นที่เขตแร่หายากที่ถูกกำจัดทิ้งแล้วครอบคลุมกว่า 14 ตารางกิโลเมตร จนได้รับรางวัลเป็น “อำเภอสาธิตการสร้างอารยธรรมทางระบบนิเวศวิทยาแห่งชาติ” นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมการปลูกสวนชาน้ำมัน ส้มสะดือ ลูกพลัม และผักบนพื้นที่สีเขียวที่ได้รับการฟื้นฟูดังกล่าว รวมทั้งดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งหนทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ชนบทของเมืองก้านโจว

การเปรียบเทียบการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวในเขตแร่หายากที่ถูกทิ้งที่อำเภอซุนอู เมืองก้านโจว

แร่ธาตุหายากเป็นทรัพยากรยุทธศาสตร์สำคัญในการผลิตสินค้าและวัสดุใหม่ และเป็นตัวแปรสำคัญในห่วงโซ่อุปทานในสาขาอุตสาหกรรมก้าวหน้าต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมทางการทหาร การผลิตสมาร์ทโฟน เครื่องมือการสื่อสาร การผลิตแบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนของอากาศยาน เป็นต้น ในปี 2562 ไทยเป็นแหล่งผลิตแร่ธาตุหายากมากเป็นอันดับ 8 ของโลก โดยมีปริมาณการผลิตแร่ธาตุกว่า 1,800 ตัน ซึ่งไทยเองให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้น ตัวอย่างการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางระบบนิเวศวิทยาของเมืองก้านโจวที่ประสบความสำเร็จข้างต้นนับเป็นรูปแบบและตัวอย่างที่ดีสำหรับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทยที่จะเรียนรู้ได้

********

แหล่งอ้างอิง https://www.xianjichina.com/news/details_182326.html

https://www.qianzhan.com/analyst/detail/220/190803-d6cdbec6.html

http://www.tjjw.gov.cn/html/news/2020/1213/78056.html

ที่มา : https://thaibizchina.com/