• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • “Cloud Valley บนทุ่งหญ้า” การพัฒนาเป็นศูนย์ข้อมูลแห่งภาคเหนือจีนของเมืองอูหลานฉาปู้ เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน

“Cloud Valley บนทุ่งหญ้า” การพัฒนาเป็นศูนย์ข้อมูลแห่งภาคเหนือจีนของเมืองอูหลานฉาปู้ เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน

เมื่อพูดถึงเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน หลายท่านคงนึกถึงทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ตามในบทกวีจีน “ฟ้ากว้างใหญ่ พืชพรรณเต็มทุ่งหญ้า ลมพัดมาบนยอดหญ้า เห็นเหล่าสัตว์วิ่งไปมา” ทุกวันนี้ เขตปกครองตนเองมองโกเลียในโดยเฉพาะเมืองอูหลานฉาปู้ (Ulanqab) กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่และพัฒนาเป็นศูนย์ข้อมูล (data center) ในภาคเหนือของจีน ซึ่งเมื่อพูดถึง data center ในจีนมักจะได้ยินคำว่า “หนานกุ้ยเป่ยอู (南贵北乌)” หมายความว่า ภาคใต้มีนครกุ้ยหยางของมณฑลกุ้ยโจวและภาคเหนือมีเมืองอูหลานฉาปู้ของมองโกเลียในเป็น data center ที่สำคัญของจีน นอกจากนี้ เมืองอูหลานฉาปู้ยังได้รับการขนานนามว่า “Cloud Valley บนทุ่งหญ้า (草原云谷)” อีกด้วย

ทำไมต้องเป็นเมืองอูหลานฉาปู้?

  • ต้นทุนการใช้ไฟฟ้าที่ต่ำสุดในจีน โดยทั่วไปต้นทุนการใช้ไฟฟ้าคิดเป็นประมาณ ร้อยละ 50 ของต้นทุนทั้งหมดในการดำเนินงานของ data center โดยแบ่งเป็นต้นทุนการใช้ไฟฟ้าของตู้จัดเก็บอุปกรณ์ไฟฟ้า และต้นทุนการใช้ไฟฟ้าเพื่อระบายความร้อนของตู้จัดเก็บอุปกรณ์ไฟฟ้า ทั้งนี้   เขตปกครองตนเองมองโกเลียในอุดมสมบูรณ์ด้วย ถ่านหินและพลังงานไฟฟ้า และเป็นหนึ่งในพื้นที่หลัก  ที่จัดส่งไฟฟ้าไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในจีน โดยมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นอันดับสามของจีน นอกจากนี้ ยังมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอันดับหนึ่งและ  อันดับสามของจีนด้วย บริษัทจีนที่จัดตั้ง data center ในเมืองอูหลานฉาปู้จึงได้ใช้ประโยชน์จากราคาไฟฟ้าในอัตราพิเศษที่ 0.26 หยวนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซี่งเป็นระดับต่ำสุดในจีนเมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าอุตสาหกรรมและธุรกิจทั่วไปในจีนซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.69 กิโลวัตต์-ชั่วโมง
  • มีอุณหภูมิที่เหมาะสม เมืองอูหลานฉาปู้มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปี 0-18 องศาเซลเซียสมีพื้นที่  ทุ่งหญ้ากว้างใหญ่และไม่มีธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ปล่อยมลพิษอย่างหนัก มีคุณภาพอากาศที่ดี โดยในช่วงเวลา 1 ปี data center ที่จัดตั้งในเมืองอูหลานฉาปู้สามารถใช้ความเย็นจากธรรมชาติมาช่วยระบายความร้อนเป็นเวลานาน 10 เดือน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการระบายความร้อนได้มาก
  • มีโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่มั่นคง โดยมีอัตราการเกิดภัยธรรมชาติน้อยมาก เช่น แผ่นดินไหว และอุทกภัย จึงเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสำหรับการจัดเก็บข้อมูล นอกจากนี้ การจัดวางสายไฟฟ้าและสายเคเบิลในพื้นที่ทุ่งหญ้ายังง่ายกว่าพื้นที่อื่น ๆ ในจีน ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนด้วย
  • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น มีต้นทุนการก่อสร้างและต้นทุนแรงงานที่ต่ำว่าเมืองใหญ่ในจีน เช่น กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครกว่างโจว และเมืองเซินเจิ้น เป็นต้น

การจัดตั้ง data center ของบริษัทจีนและต่างชาติ

เมื่อปี 2556 บริษัท Huawei ตัดสินใจจัดตั้ง data center ที่เมืองอูหลานฉาปู้หลังจากการสำรวจและพิจารณาเป็นระยะเวลาหนึ่งปี และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการที่บริษัทจีนและต่างชาติได้เข้ามาจัดตั้ง data center ที่เมืองอูหลานฉาปู้ โดยเมื่อปี 2561 data center ของ Alibaba เริ่มดำเนินการก่อสร้าง และเมื่อปี 2562 Apple เริ่มก่อสร้าง data center แห่งที่สองในจีนหลังจากเปิด data center แห่งแรกที่เขตกุ้ยอัน นครกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2563 ศูนย์จัดเก็บและสำรองข้อมูลเพื่อต่อต้านภัยพิบัติของเขตปกครองตนเองมองโกเลียในได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการที่เมืองอูหลานฉาปู้ นับเป็นศูนย์สำรองข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งสามารถจัดเก็บและสำรองข้อมูล 4000PB (Petabyte) หรือประมาณ 1,048,576GB เป็นเวลา 100 ปี ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวจะเปิดให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐและบริษัทในสาขาธุรกิจต่าง ๆ ในจีน เพื่อสำรองเก็บข้อมูลในต่างมณฑลและต่อต้านภัยพิบัติ

Big data ช่วยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

  • การให้บริการของภาครัฐ โดยเมืองอูหลานฉาปู้ได้สร้างเครือข่ายการบริการออนไลน์ที่เชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐระดับมณฑล-เมือง-อำเภอกว่า 90 หน่วยงาน ซึ่งมีระบบให้บริการต่าง ๆ ทั้งหมดกว่า 90 ระบบ
  • แพลตฟอร์มให้บริการด้าน big data เช่น ฐานข้อมูล ประชากร ฐานข้อมูลนิติบุคคล ฐานข้อมูลเศรษฐกิจมหภาค ฐานข้อมูลสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ฐานข้อมูลที่รวมใบจดทะเบียนพาณิชย์/ใบรับรองการลงทะเบียนด้านภาษี/ใบรับรองรหัสประจำองค์กรเป็นใบเดียวเพื่อลดต้นทุนของบริษัท รวมทั้งมีการจัดตั้งระบบตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้าอาหารและยาทางออนไลน์ เป็นต้น
  • การให้บริการเขตชนบทและช่วยบรรเทาความยากจน โดยเมืองอูหลานฉาปู้ได้ร่วมมือกับบริษัท Tencent เพื่อเปิด official WeChat account ของหมู่บ้านทุกหมู่บ้านในเมืองอูหลานฉาปู้เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน และมีการจัดตั้งแพลตฟอร์มสถิติและฐานข้อมูลของงานด้านการบรรเทาความยากจน เป็นต้น

ปัจจุบัน ธุรกิจ big data ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาใหม่ของเมืองอูหลานฉาปู้ ซึ่งนอกจาก data center แล้ว เมืองอูหลานฉาปู้กำลังดึงดูดธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาห่วงโซ่ธุรกิจจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เช่น ธุรกิจการจัดการข้อมูลสถิติด้านการเงินและประกันภัย การให้บริการ GPS และ Call Center เป็นต้น และโดยที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แนวทางการพัฒนาเป็นศูนย์ data center  ของเมืองอูหลานฉาปู้จึงน่าศึกษาและติดตามต่อไป

 

 

จัดทำโดย:        นายเหวิน ปิน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง

แหล่งข้อมูล:     

“草原云谷”亮名片“南贵北乌”定格局

http://www.wulanchabu.gov.cn/information/wlcbzfw11598/msg934557992559.html

国内最大大数据灾备中心落户内蒙古“草原云谷”

https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_9971749

乌兰察布:站在大数据“风口”

http://www.wulanchabu.gov.cn/information/wlcbzfw11592/msg934557961723.html

内蒙古优势产业数字化转型提速

https://www.chinanews.com/cj/2020/11-24/9346208.shtml

ภาพประกอบ:

http://bigr.io

http://tech.chinaunix.net

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]