เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งนครฉงชิ่งชุดที่ 5 ครั้งที่ 22 ได้เปิดเผยว่า ภายในสิ้นปี 2563 การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการการก่อสร้างคมนาคมปี 2560 -2563 ของนครฉงชิ่งจะเสร็จสมบูรณ์
ในการดำเนินการดังกล่าว นครฉงชิ่งได้สร้างทางหลวงสายหลักและสายชนบทที่มีความยาวรวม 61,400 กิโลเมตร และได้เริ่มก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง (1) หยูเซียง (นครฉงชิ่ง – มณฑลหูหนาน) ที่มีเส้นทางจากนครฉงชิ่งถึงเขตเฉียนเจียง (2) หยูคุน (นครฉงชิ่ง – นครคุนหมิง) และ (3) หยูว่าน (นครฉงชิ่ง – เขตว่านโจว) รวมทั้งสิ้น 600 กิโลเมตร รวมทั้งสร้างทางด่วนรวม 1,000 กิโลเมตร และดำเนินการปรับปรุงทางหลวงสายหลักแล้ว 11,379 กิโลเมตร อย่างไรก็ดี นายปา ชวนเจียง ผู้อำนวยการสำนักงาน โลจิสติกส์นครฉงชิ่งได้ ระบุว่า นครฉงชิ่งได้จัดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งที่สำคัญหลากหลายรูปแบบ โดยให้ความสำคัญ กับการขนส่งสินค้าผ่านทางรางเป็นพิเศษ เพื่อเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคตะวันตกของจีนกับต่างประเทศ รวมทั้งปรับปรุงปริมาณการขนส่งสินค้า โดยนอกจากการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองข้างต้น จะเร่งสร้างรถไฟความเร็วสูงเจิ้งว่าน (นครเจิ้งโจว – เขตว่านโจว) รถไฟหยูหวยสายที่สอง (นครฉงชิ่ง – เมืองหวยฮว่า) และเส้นทางรถไฟความเร็วสูงหยูเซียง (นครฉงชิ่ง – มณฑลหูหนาน)
นอกจากนั้น นครฉงชิ่งยังได้วางแผนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 14 โดยการส่งเสริม “การเชื่อมต่อสี่ทิศ” ได้แก่ ทิศเหนือ (เชื่อมต่อไปยังประเทศรัสเซีย) ทิศใต้ (เชื่อมต่อไปยังประเทศสิงคโปร์) ทิศตะวันออก (เชื่อมต่อไปยังเมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง) และทิศตะวันตก (เชื่อมต่อไปยังทวีปยุโรป) โดยส่วนใหญ่เป็นการเชื่อมต่อทางราง พัฒนา “การคมนาคมสี่รูปแบบ” ได้แก่ ทางรถไฟ ทางหลวง ทางน้ำ และทางอากาศ ลดระยะเวลาการเดินทางระหว่างเขตรอบนอกมายังใจกลางนครฉงชิ่งเหลือเพียง 1 ชั่วโมง ผลักดันการเดินทางระหว่างนครฉงชิ่งกับมณฑลใกล้เคียงโดยรถไฟความเร็วสูงที่ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง และส่งเสริมการเดินทางจากนครฉงชิ่งไปยังกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครกวางโจว และนครเซินเจิ้น ให้ใช้เวลาเพียง 6 ชั่วโมง
แหล่งที่มา เว็บไซต์ของ Chongqing Daily
https://www.cqrb.cn/content/2020-12/01/content_288624.htm วันที่ 1 ธันวาคม 2563