• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • โอกาสความร่วมมือของบริษัทปศุสัตว์ไทยในมณฑลกวางตุ้งภายใต้สถานการณ์โรคระบาด ASF – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

โอกาสความร่วมมือของบริษัทปศุสัตว์ไทยในมณฑลกวางตุ้งภายใต้สถานการณ์โรคระบาด ASF – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ตั้งแต่การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever หรือ ASF) ในจีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ตลาดเนื้อสุกรของจีนได้รับผลกระทบในวงกว้าง โรค ASF ทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีอัตราป่วยและตายเกือบร้อยละ 100 โดยมีรายงานว่าจำนวนแม่พันธุ์สุกรของจีน ลดลงจาก 31.5 ล้านตัวในเดือนสิงหาคม 2561 เหลือเพียง 20 ล้านตัวในเดือนพฤศจิกายน 2562 หรือลดลงกว่าร้อยละ 36 การผลิตเนื้อสุกรลดลงร้อยละ 22 ขณะที่ราคาเนื้อสุกรก็ได้ขยับจาก 13.32 หยวน/กก. เมื่อเดือนมกราคม 2562 เป็น 40.46 หยวน/กก. เมื่อเดือนพฤศจิกายนหรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัว

จีนนั้นเป็นประเทศที่มีการบริโภคเนื้อสุกรมากที่สุดในโลก ประมาณ 45 – 55 ล้านตันต่อปี หรือเกือบครึ่งหนึ่งของโลก ขณะที่มณฑลกวางตุ้งก็ได้ชื่อว่าเป็นมณฑลที่มีการบริโภคเนื้อสุกรมากที่สุดของจีน โดยมีสัดส่วนการบริโภคเนื้อสุกรร้อยละ 40.5 เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่น และมีปริมาณการผลิตคิดเป็นร้อยละ 13.77 มากเป็นอันดับ 1 ของจีน การแพร่ระบาดส่งผลทำให้จำนวนสุกรในกวางตุ้งลดลงถึงร้อยละ 60 – 80 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด ซึ่งสร้างความเสียหายกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ผู้เลี้ยงสุกรหลายรายต้องขาดทุนเนื่องจากสุกรที่เลี้ยงนั้นติดโรคและตายเป็นจำนวนมากก่อนที่จะสามารถนำไปจำหน่ายได้

ท่ามกลางวิกฤตเนื้อหมูที่เป็นเรื่อง “ไม่หมู” ดังกล่าว ไทยนับเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค ASF และยังเป็นโอกาสของบริษัทไทยที่มีเทคโนโลยีในการรับมือกับโรคดังกล่าว ขยายความร่วมมือกับมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นตลาดเนื้อสุกรอันดับ 1 ของจีนเช่นในกรณีของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซี่งได้ลงทุนสร้างโรงเลี้ยงสุกรขนาด 1 ล้านตัว/ปี ที่เมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดีจากรัฐบาลท้องถิ่น

นอกเหนือจากนี้ อีกหนึ่งบริษัทที่เล็งเห็นโอกาสขยายความร่วมมือในตลาดจีน ได้แก่ บริษัท เวทโปรดักส์ซึ่งเป็น 1 ใน 3 บริษัทปศุสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชภัณฑ์และอาหารเสริมสำหรับสัตว์ โดยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 บริษัท เวทโปรดักส์ ได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือกับบริษัท Wangda ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอาหารสำหรับสุกรอันดับต้นของจีน และมีฐานลูกค้าเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศจีน

ภายใต้สัญญาความร่วมมือดังกล่าว บริษัท Wangda จะเป็นผู้จัดหาฟาร์มสุกรที่ได้รับความเสียหายจากโรค ASF และบริษัท เวทโปรดักส์ จะเข้ามาให้บริการสนับสนุนการดูแลสุกรและระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) ให้กับผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งสัตว์แพทย์และทีมเทคนิคของบริษัทฯ จะเข้าไปดูแลและให้คำปรึกษาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในจีนในทุก ๆ ขั้นตอน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการนำเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ฟาร์ม และรับประกันว่า สุกรจากฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการจะไม่กลับมาติดโรคซ้ำอีก และหากมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอีกครั้ง จะสูญเสียสุกรไม่เกินร้อยละ ​30

การร่วมมือดังกล่าวจึงเป็นตัวอย่างของความร่วมมือแบบ win-win โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย ทั้งความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงสุกรของบริษัท เวทโปรดักส์ และฐานผู้เลี้ยงสุกรของ บริษัท Wangda ทั่วประเทศจีน

นอกจากการเข้าไปพัฒนาฟาร์มสุกรที่พร้อมรับมือกับโรค ASF แล้ว บริษัท เวทโปรดักส์ ยังจะใช้โอกาสดังกล่าวในการส่งเสริมนักธุรกิจไทยที่สนใจ เข้าไปลงทุนทำฟาร์มสุกรในจีน โดยมีบริษัท Wangda เป็นที่ปรึกษาและพร้อมจะร่วมทุน ซึ่งถือเป็นโอกาสของไทยในการเข้าสู่ตลาดเนื้อสุกรของมณฑลกวางตุ้งและของจีนโดยรวม ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคมากเป็นอันดับ 1 ตามข้อมูลข้างต้น

บริษัทเลี้ยงสุกรของไทยที่พร้อมเข้าสู่ตลาดจีนสามารถร่วมมือกับบริษัท เวทโปรดักส์ ในการเจรจาร่วมทุนกับฟาร์มสุกรของจีนที่มีศักยภาพ แต่กำลังกำลังขาดทุนจากสถานการณ์โรค ASF โดยบริษัท เวทโปรดักส์น่าจะมีบทบาทในการประเมินโอกาสและทางรอดของผู้เลี้ยงสุกรที่เข้ารับบริการ หากมีการพัฒนาระบบป้องกันโรค ASF แล้ว และสามารถเป็นกำลังสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจฟาร์มสุกรของไทยกับตลาดเนื้อสุกรของจีนได้อีกทางหนึ่ง

ในปี 2563 นี้เป็นวาระครบรอบ 45 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ความร่วมมือดังกล่าวระหว่างสองชาติจึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ไทย -จีน นั้นยังคงแน่นแฟ้นและมีการพัฒนาในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการทูต ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตและความมั่งคั่งของทั้งสองประเทศต่อไป

——————————

นางสาวสวนีย์ โชติจิรพรรณ เขียน

นายพิชญพัฒน์ เบ็ญจาศิริโรจน์ เรียบเรียง

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

http://www.dld.go.th/th/images/stories/hotissue/asf/ContingencyPlanAndCPG2.pdf

https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/613749/613749.pdf&title=613749&cate=413&d=0

https://www.opsmoac.go.th/guangzhou-situation_price-files-402991791814

https://www.sohu.com/a/309489378_680561

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1652065740126069332&wfr=spider&for=pc&sa=vs_ob_realtime

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]