เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยประกาศพ้นเกณฑ์ความยากจนแล้ว

รัฐบาลเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยรายงาน การประกาศรายชื่อหลุดพ้นเกณฑ์ความยากจน (Implementation Opinions on Further Regulating Poverty Exit Work)  ล่าสุด เมื่อ 16 พ.ย. 2563 อ. ซีจี๋ ซึ่งเป็นอำเภอยากจนสุดท้ายของเขตฯ หนิงเซี่ยหุยได้ผ่านการประเมินจากหน่วยงานระดับมณฑลและหน่วยงานภายนอก และได้รับการอนุมัติให้ผ่านเกณฑ์ชี้วัดความยากจน

อ. ซีจี๋ ตั้งอยู่ที่เมืองกู่หยวน เขตฯ หนิงเซี่ยหุย เป็นเขตการปกครองระดับอำเภอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเขตฯ หนิงเซี่ยหุย มีประชากรราว 496,000 คน โดยมากเป็นชนกลุ่มน้อย ในอดีตเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้อย่างรุนแรง มีอัตราการบริโภคน้ำเฉลี่ยต่อหัว (Water resources available per capita) เพียง 95 ลบ.ม./ปี ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของประเทศ ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้อย่างเต็มที่ ภายหลังการดำเนินมาตรการขจัดความยากจนรัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุยได้ดำเนินการก่อสร้างฝายเก็บน้ำและแทงค์กักเก็บน้ำรวมกันกว่า 126 แห่ง สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ราว 224 ล้าน ลบ.ม. หล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตรได้มากถึง 70,625 ไร่

นอกจากนี้ รัฐบาลเมืองกู่หยวนยังได้ดึงดูดการลงทุนจากวิสาหกิจในประเทศให้เข้าลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ปัจจุบัน อ. ซีจี๋ มีเหมืองแร่ 11 แห่ง แบ่งเป็นเหมืองทองแดง ดินสอพอง ทรายควอตซ์ และกำมะถัน และยังเป็นฐานเพาะปลูกมันฝรั่ง ถั่วขาว พริกไทย และยังเป็นแหล่งผลิตธัญพืชต่าง ๆ ที่สำคัญของเขตฯ หนิงเซี่ยหุยอีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิง  https://news.cgtn.com/news

ข้อมูลทางสถิติในปี 2561 ระบุว่า รายได้ประชากรต่อหัวในเขตเมืองของ อ. ซีจี๋ (Disposable Income Per Capita of Urban Residents) เฉลี่ยอยู่ที่ 25,100 หยวน และรายได้ประชากรต่อหัวในเขตชนบท (Disposable Income Per Capita of Rural Residents) เฉลี่ยอยู่ที่ 9,250 หยวน และมีอัตราการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2561 อ. ซีจี๋มียอดขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค (Total Retail Sales of Consumer Goods) มูลค่า 1,710 ล้านหยวน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการกำจัดความยากจนที่สามารถสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้จริง

ข้อมูลอ้างอิง  https://news.cgtn.com/news

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศจีนพยายามเร่งขจัดความยากจนในประเทศให้หมดไปและก้าวสู่สังคมที่มีความเจริญรุ่งเรืองภายในปี 2563 ผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมตามศักยภาพและความต้องการของแต่ละพื้นที่ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การพัฒนาอุตสาหกรรม การสนับสนุนการจ้างงานในพื้นที่ และลดการโยกย้ายถิ่นฐาน โดยในปี 2562 ข้อมูลจากกรมสถิติแห่งชาติระบุว่า เขตพื้นที่ยากจนทั่วประเทศกว่า 340 แห่งได้ก้าวพ้นเกณฑ์ชี้วัดความยากจน และมีอัตราการเกิดความยากจน (Poverty Rate) ลดลงจากร้อยละ 8.2 เหลือร้อยละ 2 เท่านั้น โดยในพื้นที่เขตฯ หนิงเซี่ยหุยและมณฑลกานซู รัฐบาลท้องถิ่นได้เน้นให้ความช่วยเหลือในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และปลูกพืชท้องถิ่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อทำการตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นกลไกการลดความยากจนที่สำคัญในทั้งสองพื้นที่

ข้อมูลอ้างอิง

  1. https://news.cgtn.com/news/2019-12-28/Common-prosperity-China-s-poverty-alleviation-campaign-MLEFQQSZIk/index.html
  2. https://www.guancha.cn/politics/2020_11_16_571638.shtml

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]