โรงพยาบาลแห่งที่สองของมหาวิทยาลัยซีอานเจียวทง (The Second Affiliated Hospital of Xi’an Jiaotong University) ร่วมมือกับภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยซีอานเจียวทง ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์โปรแกรมบรรจุคำศัพท์ภาษาจีน เพื่อเชื่อมต่อส่วนประสานสมองกับคอมพิวเตอร์หรือที่เรียกว่า “Brain Computer Interface Technology : BCI” ซึ่งเป็นการติดต่อสื่อสารโดยตรงระหว่างสมองกับอุปกรณ์แปรผลภายนอก โดย BCI จะรวบรวมสัญญาณทางชีวภาพที่เกิดจากการทำงานของคลื่นสมอง (Electroencephalogram, EEG คลื่นไฟฟ้าสมองจะสะท้อนถึงกิจกรรมของเนื้อเยื่อสมองและสถานะการทำงานของสมองด้วยการวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าสมอง ซึ่งจะสามารถตรวจจับและรับรู้ถึงความตั้งใจของบุคคลคนนั้นได้) รวมไปถึงจากการเคลื่อนไหวและจากการมองเห็น หลังจากนั้นจะประมวลผลและวิเคราะห์สัญญาณผ่านคอมพิวเตอร์ เพื่อถอดรหัสสัญญาณตามค่าโปรแกรมที่บรรจุไว้
ผู้ป่วยสวมใส่หมวกรวบรวมสัญญาณคลื่นสมอง
ผลการทดลองในผู้ป่วยอัมพาตที่ได้รับความกระทบกระเทือนบริเวณกระดูกสันหลัง ไม่สามารถกลืนอาหารและพูดได้ สามารถสื่อสารกับแพทย์และพยาบาลผ่านการกระพริบตาเท่านั้น คณะแพทย์ฯ ได้ทดลองนำอุปกรณ์และเครื่องมือที่ประดิษฐ์สำหรับ BCI ติดตั้งบนตัวผู้ป่วยเพื่อทดลองใช้งาน โดยมีนาย Wang Gang รอง ผอ. แผนกผู้ป่วยวิกฤติของ รพ. แห่งที่สองของมหาวิทยาลัยซีอานเจียวทงให้ข้อมูลว่า ภายหลังการทดลอง ผู้ป่วยตอบสนองต่อการใช้งาน BCI ดีมาก จ้องมองรูปภาพบนจอคอมพิวเตอร์ได้ดี โดยโปรแกรมได้แปลผลออกมาเป็นคำว่า “สวัสดี” ซึ่งโปรแกรมออกแบบมาให้สามารถจ้องมอง 26 ตัวอักษรบนจอคอมพิวเตอร์ เมื่อต้องการกล่าวเป็นประโยคได้อีกด้วย ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จในการพัฒนาระบบ BCI ให้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือและบอกความรู้สึกของผู้ป่วยวิกฤตได้มากขึ้นนอกเหนือจากการกระพริบตา ซึ่งคณะแพทย์และพยาบาลไม่สามารถคาดเดาความต้องการที่ซับซ้อนหรือหลากหลายของผู้ป่วยวิกฤตได้
แม้เทคโนโลยี BCI จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถือเป็นความสำเร็จในการประดิษฐ์อุปกรณ์และโปรแกรมภาษาจีนที่สามารถต่อยอดเพื่อการพาณิชย์ภายในประเทศได้ รพ. แห่งที่สองของมหาวิทยาลัยซีอานเจียวทง ยังได้ตั้งเป้าพัฒนา BCI สามารถประมวลผลได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบัน BCI ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานกับกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะสมองขาดเลือดรุนแรง ซึ่งจะทำให้มีคลื่นสมองผิดปกติไปด้วย ส่งผลต่อการประมวลผลของ BCI ที่อาจคลาดเคลื่อนได้ ในอนาคตด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น BCI จะได้รับการพัฒนาให้สามารถรองรับอาการทางร่างกายของผู้ป่วยวิกฤตได้หลากหลาย และสามารถพัฒนาให้จับสัญญาณร่างกายได้หลากหลายขึ้นไม่เพียงจากการมองเห็น แต่รวมถึงสัญญาณบริเวณหน้าผาก ขมับ และสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเกี่ยวข้องกับสัญญาณสมองที่เกี่ยวข้องกับความคิดอารมณ์และความทรงจำได้อีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.globaltimes.cn/content/1198438.shtml
- http://kjt.shaanxi.gov.cn/kjzx/mtjj/190433.html
- https://m.huanqiu.com/article/3zZIYPTLnLi