ไฮไลท์

  • ท่าเรือชินโจว (Qinzhou Port) ได้เริ่มงานก่อสร้างท่าเรืออัจฉริยะ เพื่อรองรับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดแสนตันที่ท่าเทียบเรือหมายเลข 9 และ 10 แล้ว ซึ่งนับเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะแห่งที่ 5 ของประเทศจีน และเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะที่มีฟังก์ชันรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เรือ+รถไฟ แห่งแรกของประเทศจีน
  • ท่าเทียบเรือหมายเลข 9 และ 10 เป็นท่าเรืออัจฉริยะที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อรองรับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 1 แสนตัน อย่างไรก็ดี การก่อสร้างท่าเทียบเรือดังกล่าวได้ออกแบบให้สามารถรองรับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 2 แสนตัน ให้เข้าเทียบท่าได้
  • การพัฒนาระบบการทำงานแบบอัตโนมัติและการยกระดับประสิทธิภาพการรองรับเรือบรรทุกขนาดใหญ่ของท่าเรือชินโจวครั้งนี้ จะช่วยเชื่อมต่องานขนส่งระหว่างท่าเรือกับรถไฟให้มีความราบรื่นและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจขนส่งสินค้าไทยไปจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวมีเส้นทางเดินเรือไปยังท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยแล้วด้วย

 

ท่าเรือชินโจว (Qinzhou Port/钦州港) ได้เริ่มงานก่อสร้างท่าเรืออัจฉริยะ เพื่อรองรับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดแสนตันที่ท่าเทียบเรือหมายเลข 9 และ 10 แล้ว ซึ่งนับเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะแห่งที่ 5 ของประเทศจีน และเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะที่มีฟังก์ชันรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เรือ+รถไฟ แห่งแรกของประเทศจีน

ท่าเรือชินโจว ตั้งอยู่ที่เมืองท่าศูนย์กลางของอ่าวเป่ยปู้กว่างซี หรือที่คนไทยรู้จักในชื่ออ่าวตังเกี๋ย และเป็น ข้อต่อสำคัญที่ใช้เชื่อมการขนส่งทางเรือกับทางรถไฟ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ “ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า NWLSC (New Western Land and Sea Corridor)

นายเหว่ย ถาว (Wei Tao/韦韬) ประธานกลุ่มบริษัท Guangxi Beibu-Gulf Port Group (广西北部湾国际港务集团有限公司) ให้ข้อมูลว่า ท่าเทียบเรือหมายเลข 9 และ 10 เป็นท่าเรืออัจฉริยะที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อรองรับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 1 แสนตัน มีมูลค่าการลงทุน 4,050 ล้านหยวน สามารถรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าได้ปีละ 1.25 ล้าน TEUs คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 2565

อย่างไรก็ดี การก่อสร้างท่าเทียบเรือดังกล่าวได้ออกแบบให้สามารถรองรับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 2 แสนตันให้เข้าเทียบท่าได้ โดยผ่านร่องน้ำฝั่งตะวันออก ทั้งนี้ โครงการพัฒนาร่องน้ำฝั่งตะวันออก มีระยะทาง 25.796 กิโลเมตร และได้ดำเนินการเฟสแรกแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 และคาดว่าจะดำเนินการเฟสสองเสร็จในเดือนมิถุนายน 2564

ปัจจุบัน ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กำลังทวีบทบาทความสำคัญในฐานะ “ประตูการค้า” แห่งใหม่ของภาคตะวันตกผ่านระเบียง NWLSC โดยมีสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้

  • เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2563 การให้บริการขนส่งตู้สินค้าทางเรือเชื่อมทางรถไฟมีทั้งหมด 2,109 เที่ยว เพิ่มขึ้น 80% หรือเฉลี่ยเดือนละ 301 เที่ยว
  • เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2563 ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีปริมาณการขนถ่ายสินค้า 167.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 18.4% และปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 2.57 ล้าน TEUs เพิ่มขึ้น 34.1% เป็นท่าเรือเพียงแห่งเดียวในประเทศจีนที่มีอัตราขยายตัวด้วยตัวเลขสองหลัก
  • ปัจจุบัน ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ได้เปิดให้บริการเส้นทางเดินเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์แล้ว 52 เส้นทาง ครอบคลุมท่าเรือสำคัญในประเทศจีน ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
  • เส้นทางเดินเรือสายตรง (Direct service) ที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และยังมีเส้นทางเดินเรือระยะไกลไปถึงแอฟริกาใต้และอเมริกาใต้ด้วย
  • สำหรับเส้นทางการเดินเรือกับประเทศไทย มีบริการเที่ยวเรือบรรทุกสินค้าสัปดาห์ละ 5 เที่ยว แบ่งเป็นวันจันทร์ 2 เที่ยว และวันพุธ/ศุกร์/อาทิตย์ วันละ 1 เที่ยว แบ่งเป็นเส้นทางเดินเรือ Direct จำนวน 3 เส้นทาง ใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วัน มีสายเรือให้บริการ 3 ราย ได้แก่ บริษัท SITC (3 เที่ยว) บริษัท PIL และบริษัท EMC

บีไอซี เห็นว่า การพัฒนาระบบการทำงานแบบอัตโนมัติและการยกระดับประสิทธิภาพการรองรับเรือบรรทุกขนาดใหญ่ของท่าเรือชินโจวครั้งนี้ จะช่วยเชื่อมต่องานขนส่งระหว่างท่าเรือกับรถไฟให้มีความราบรื่นและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เป็นการกรุยทางเพื่อรองรับการขยายตัวด้านการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคจีนตะวันตกที่มีแนวโน้มขยายตัวพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะการรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่ให้บริการเดินเรือระยะไกล และเป็นตัวจักรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ก้าวขึ้นเป็นท่าเรือสากลที่มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้ามากกว่า 10 ล้านตู้ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับสากลของท่าเรือได้อีกมาก

นอกจากการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วไปแล้ว การขนส่งสินค้าในโมเดล “เรือ+ราง” ยังสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้อีกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์แบบที่มีเครื่องทำความเย็น (Reefer) สำหรับการขนส่งผลไม้และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง และตู้คอนเทนเนอร์แบบ Open Top ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าเทกอง

ที่สำคัญ ภาครัฐพร้อมจ่ายเงินอุดหนุนและลดค่าธรรมเนียมเพื่อดึงดูดให้กับผู้ประกอบการหันมาใช้การขนส่ง “เรือ+ราง” อีกด้วย อาทิ การอุดหนุนเงินให้ตู้สินค้าที่ใช้การขนส่งเรือ+ราง ตู้ละ 800 หยวน การลดค่าขนส่งทางรถไฟลง 30% การลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ท่าเรือให้เท่ากับท่าเรือขนาดใหญ่อย่างท่าเรือหนิงโปและท่าเรือเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งรัฐบาลยังยกระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อให้ภาคธุรกิจหันมาใช้การขนส่งทางรถไฟแทน ซึ่งการขนส่งทางรถไฟเป็นแนวโน้มแห่งอนาคต

คาดว่า ในอนาคตอันใกล้ ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” จะกลายเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่มีบทบาทสำคัญในเวทีการค้าและเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจขนส่งสินค้าไทยไปจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวมีเส้นทางเดินเรือไปยังท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยแล้วด้วย

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 31 สิงหาคม 2563
ภาพประกอบ www.freepix.com

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/