ไฮไลท์

  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างอาเซียน จีน เอเชียกลาง และยุโรป ผ่านยุทธศาสตร์ “ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า NWLSC (New Western Land and Sea Corridor) โดยมีระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal Transportation) โดยเฉพาะโมเดล “เรือ+ราง” เป็นหัวใจสำคัญ
  • การมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักในชื่ออ่าวตังเกี๋ย) และการสนับสนุนเชิงนโยบายในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟวิ่งเข้าท่าเรือของรัฐบาลกลาง ทำให้ระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” ในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีความโดดเด่น ในภูมิภาคตะวันตก และเป็นจุดแข็งของเขตฯ กว่างซีจ้วง
  • ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้พยายามเดินหน้าปฏิรูประบบงานราชการ และเร่งรัดโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมในการลงทุนประกอบธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน บนเวทีการค้าระหว่างประเทศ อาทิ การจัดตั้งนิคมโลจิสติกส์และสถานีสินค้า การพัฒนาระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานในท่าเรือและด่านทางบก ทำให้การขนส่งผ่านด่านในกว่างซีมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • เขตฯ กว่างซีจ้วง เป็นช่องทางใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งปัจจุบันมีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับ ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทย และการขนส่งทางบกจากภาคอีสานไทย ผ่าน สปป.ลาว เวียดนาม เข้าสู่ด่านชายแดนของกว่างซีอยู่แล้ว

 

ณ วันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal Transportation) โดยเฉพาะโมเดล “เรือ+ราง” เป็นจุดแข็งของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง การมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักในชื่ออ่าวตังเกี๋ย) และการสนับสนุนเชิงนโยบายในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟวิ่งเข้าท่าเรือของรัฐบาลกลาง ทำให้ระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในโมเดล “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีความโดดเด่นในภูมิภาคตะวันตก

ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วง มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างอาเซียน จีน เอเชียกลาง และยุโรป ผ่านยุทธศาสตร์ “ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า NWLSC (New Western Land and Sea Corridor/西部陆海新通道)

ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีประกาศใช้เงินลงทุนราว 106,650 ล้านหยวน สำหรับโครงการพัฒนางานขนส่งและโลจิสติกส์หลายร้อยโครงการในมณฑล เพื่อรองรับและสนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายระเบียง NWLSC อาทิ การจัดตั้งนิคมโลจิสติกส์และสถานีสินค้า การพัฒนาระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานในท่าเรือและด่านทางบก

ปัจจุบัน ท่าเรือทุกแห่งที่ตั้งอยู่รอบอ่าวเป่ยปู้มีรางรถไฟเชื่อมเข้าไปถึงท่าเรือแล้ว ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และล่าสุดท่าเรือเป๋ยไห่ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จในเดือนเมษายน 2563 ในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้นั้น “ท่าเรือชินโจว” เป็นท่าเรือที่มีความพร้อมด้านระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์มากที่สุด เพราะเป็นท่าเรือศูนย์กลาง (โมเดลตัว Y คือ เรือเข้าที่ท่าเรือชินโจวก่อนจะแยกไปท่าเรือฝางเฉิงก่างทางปีกซ้ายและท่าเรือเป๋ยไห่ทางปีกขวา) และเป็นท่าเรือหลักในกรอบ NWLSC

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ท่าเรือชินโจวได้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณท่าเรืออย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการและรองรับงานขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น สถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจว (钦州铁路集装箱中心站) การพัฒนาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในท่าเทียบเรือ และการพัฒนาร่องน้ำสำหรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่

ล่าสุด เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 เรือบรรทุกตู้สินค้าขนาด 1 แสนตัน สามารถเข้าเทียบท่าเรือชินโจวได้แล้ว และกำลังเร่งรัดโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนส่งน้ำมันขนาด 3 แสนตัน ซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จในปลายปี 2563 และตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2565 ท่าเรือจะสามารถรองรับเรือบรรทุกตู้สินค้าขนาด 3 แสนตัน และเรือบรรทุกสินค้าโภคภัณฑ์ (Bulk) ขนาด 3 แสนตันได้

ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่ปกติจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กลับมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามสถิติเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 ปริมาณขนถ่ายสินค้ามีมากถึง 140 ล้านตัน (+16.4%) ปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 2.13 ล้าน TEUs (+33.7%) เป็นท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลที่มีการขยายตัวในการขนถ่ายสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุดในจีน

นอกจากนี้ การบริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในโมเดล “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ระหว่างเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2563 มีจำนวนมากถึง 2,109 เที่ยว เพิ่มขึ้น 80% (YoY) และปริมาณตู้สินค้าที่ผ่านสถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจวเพิ่มขึ้นถึง 115% (YoY) ขณะที่การขนส่งสินค้าทางรถไฟข้ามประเทศผ่านด่านรถไฟผิงเสียงไปยังเวียดนามมีจำนวน 217 เที่ยว (เพิ่มขึ้น 182 เที่ยวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน) เพิ่มขึ้น 5.2 เท่า ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางจากนครหนานหนิง-กรุงฮานอย 96 เที่ยว เพิ่มขึ้น 256%

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการขนส่งในรูปแบบ “ท่าเรือ+รถไฟ” คือ ประสิทธิภาพงานบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความปลอดภัย คล่องตัว และตรงเวลา รวมทั้งประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และต้นทุนการประกอบการของภาคธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมา กว่างซีพยายามเดินหน้าปฏิรูปสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจในมณฑลอย่างต่อเนื่อง กระบวนการนำเข้า-ส่งออกตู้สินค้าที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติได้ลดขั้นตอนลงจาก 36 ขั้นตอน เหลือเพียง 8 ขั้นตอน และลดจำนวนเอกสารหลักฐานที่เป็นกระดาษจาก 41 ฉบับ เหลือเพียง 8 ฉบับ และใช้ระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ช่วยยกระดับประสิทธิภาพในการผ่านพิธีการศุลกากรได้อย่างรวดเร็ว การเคลียร์สินค้านำเข้าใช้เวลาเฉลี่ย 6.94 ชั่วโมง ใช้เวลาลดลง 46.94% (YoY) และการเคลียร์สินค้าส่งออกใช้เวลา 1.2 ชั่วโมง ใช้เวลาลดลง 20.53% (YoY)

บีไอซี เห็นว่า เส้นทาง NWLSC เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงการค้าระหว่างจีนตะวันตกกับอาเซียน (ไทย) และเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งปัจจุบันมีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทย และ การขนส่งทางบกจากภาคอีสานไทย ผ่าน สปป.ลาว เวียดนาม เข้าสู่ด่านชายแดนของกว่างซีอยู่แล้ว

นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการงานขนส่งและโลจิติกส์ของกว่างซียังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการเพื่อบริหารจัดการสินค้าที่จะส่งไปจำหน่ายในจีน หรือการเข้ามาลงทุนเพื่อจัดตั้งธุรกิจในโครงการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นอีกด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 12 สิงหาคม 2563
ภาพประกอบ http://mp.weixin.qq.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/