• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ถอดรหัสอุตสาหกรรม 7+4 ของกว่างซี ไทยได้โอกาสหรือไม่ – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ถอดรหัสอุตสาหกรรม 7+4 ของกว่างซี ไทยได้โอกาสหรือไม่ – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเดินหน้าส่งเสริมและบ่มเพาะการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องใน 11 สาขา ภายใต้รหัส 7+4 และตั้งเป้าว่า อุตสหากรรมเหล่านี้จะเป็นซิกเนเจอร์ใหม่ของกว่างซีในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี 2564 – 2568)
  • แผนส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่การผลิต 7+4 เป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมที่กว่างซีมีพื้นฐานความพร้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้วให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ โดยเน้นการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมเชิงคุณภาพ รวมถึงการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทานในประเทศและต่างประเทศ (Dual Circulation) ที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกันแบบครบวงจร โดยการออกไปลงทุนในต่างประเทศและการดึงต่างประเทศเข้ามาลงทุนในกว่างซี
  • ขณะนี้ เป็นจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมสำหรับภาคอุตสหากรรมการผลิตของไทยในการทำความเข้าใจกับห่วงโซ่อุปทานของตนเองและกว่างซีของจีน เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาแหล่งวัตถุดิบที่แท้จริงของธุรกิจ แสวงหาโอกาสความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกัน พัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจ รวมถึงการสร้างตัวตนในตลาดให้อีกฝ่ายได้รู้จักมากยิ่งขึ้น

 

ไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศเดินหน้าส่งเสริมและบ่มเพาะการพัฒนาห่วงโซ่การผลิต (Industrial Chain) ภายใต้รหัส 7+4 ซึ่งจะกลายเป็นซิกเนเจอร์ใหม่ของอุตสาหกรรมกว่างซีในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี 2564 – 2568) ประกอบด้วย

ห่วงโซ่การผลิตเสาหลัก 7 สาขา ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องจักรกล ข้อมูลสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุสมัยใหม่ประเภทโลหะที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เคมีภัณฑ์ขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเภสัชกรรมชีวภาพ

ห่วงโซ่การผลิตเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ 4 สาขา ได้แก่ รถยนต์พลังงานทางเลือก อุปกรณ์โทรคมนาคม 5G การผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และวัสดุใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

บทเรียนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมหลายสาขาของกว่างซีเกิดภาวะชะงักงัน (Supply Chain Disruption) โรงงานผลิตรถยนต์ เครื่องจักรกล และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ต้องหยุดสายการผลิต เนื่องจากขาดชิ้นส่วนสำคัญจากผู้ผลิตที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศที่มีการแพร่ระบาดฯ

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลกว่างซีได้ย้อนกลับมาทบทวนปัญหาและแสวงหาแนวทางในการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานของกว่างซี โดยได้ประกาศแผนส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่การผลิต 7+4 เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมที่กว่างซีมีพื้นฐานความพร้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้วให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ โดยเน้นการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมเชิงคุณภาพ รวมถึงการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทานในประเทศและต่างประเทศ (Dual Circulation) ที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกันแบบครบวงจร ตัวอย่างเช่น

1. การสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านวัตถุดิบในต่างประเทศ โดยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจด้านวัสดุสมัยใหม่ประเภทโลหะขั้นสูงไปตั้งฐานซัพพลายวัตถุดิบในต่างประเทศผ่านการลงทุนเอง หรือการควบซื้อกิจการในต่างประเทศ รวมถึงการร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มการจัดซื้อวัตถุดิบแบบแบ่งปัน (Shared Procurement)  การส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์เครื่องมือกับต่างประเทศ และการจับคู่ส่งเสริมให้ธุรกิจต่างชาติที่มีเทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องมือ และองค์ความรู้ที่ทันสมัย เข้ามาร่วมกันพัฒนาห่วงโซ่การผลิตกับธุรกิจในพื้นที่

สิ่งเหล่านี้เป็นการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจไปพัฒนาความร่วมมือและขยายตลาดกับต่างประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของห่วงโซ่อุปทานในภาคธุรกิจของตนเอง ตลอดจนพัฒนากลไกการเฝ้าระวังและเตือนภัยในระบบห่วงโซ่อุปทาน เพื่อดำเนินมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันทั่วโลก

2. การสร้างความมั่นคงและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญในกว่างซี เช่น การสนับสนุนด้านการคลังอย่างการอุดหนุนดอกเบี้ยให้กับภาคธุรกิจที่ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อฟื้นฟูภาค การผลิต (ช่วยภาคการผลิตลดภาระอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลงร้อยละ 2 จุด) การจัดหาแรงงานเพื่อสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมฟื้นฟูสายการผลิต และการจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเชิงคุณภาพของอุตสาหกรรมการผลิตในกว่างซี ปัจจุบัน การเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดตั้งกองทุนระยะแรก 20,000 ล้านหยวนได้ดำเนินการแล้วเสร็จ (จากทั้งหมดที่ได้อนุมัติ 1 แสนล้านหยวน) โดยจะแบ่งเป็นกองทุนย่อย 5 สาขา ได้แก่ วัสดุใหม่ขั้นสูง ยานยนต์และการผลิตเครื่องจักรกลขั้นสูง อุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ อุตสาหกรรมเบา และเภสัชกรรมชีวภาพ

3. การสนับสนุนให้ธุรกิจสำคัญในห่วงโซ่การผลิตขยายตลาดในประเทศ เช่น การสนับสนุนให้โรงงานผู้ผลิตรถยนต์จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแบบ Group Buying สำหรับผู้ใช้ในมณฑล การระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการขายเครื่องจักรในงานวิศวกรรมก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน การสนับสนุนให้ธุรกิจผู้ผลิตเหล็กกล้าและปูนซีเมนต์เข้าร่วมโครงการก่อสร้างสำคัญในมณฑล

ในระยะต่อไป รัฐบาลกว่างซีวางแผนส่งเสริมการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมสำคัญ (Cluster) และการพัฒนาห่วงโซ่การผลิต ที่สำคัญแบบเข้มข้นใน 9 สาขา ได้แก่ การผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรกล วัสดุใหม่ประเภทเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุใหม่ประเภทโลหะขั้นสูง เภสัชกรรมชีวภาพ ยานยนต์ สิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ข้อมูลสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ แคลเซียมคาร์บอเนตชนิดละเอียด และอุตสาหกรรมสิ่งทอ

บีไอซี เห็นว่า ขณะนี้เป็นจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมสำหรับภาคอุตสหากรรมการผลิตของไทยในการทำความเข้าใจกับห่วงโซ่อุปทานของตนเองและกว่างซีของจีน เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาแหล่งวัตถุดิบที่แท้จริงของธุรกิจ แสวงหาโอกาสความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกัน พัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจ รวมถึงการสร้างตัวตนในตลาดให้อีกฝ่ายได้รู้จักมากยิ่งขึ้น

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 7 สิงหาคม 2563
ภาพประกอบ https://emerging-europe.com/

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]