เมืองผิงเสียงจัด ไลฟ์สด ขายผลไม้ (ไทย) หมด 10 ตู้คอนเทนเนอร์ ใน 13 นาที

ไฮไลท์

  • ตลาดเจียงหนาน ผู้นำเข้าผลไม้รายใหญ่จากนครกว่างโจว ได้จัดเทศกาลส่งเสริมการค้าผลไม้อาเซียนแนวใหม่ ใช้การผสมผสานระหว่าง “ออฟไลน์พ่วงออนไลน์” โดยจัดไลฟ์สด สร้างยอดวิวทะลุแสน ขายทุเรียน ลำไย และมะพร้าวน้ำหอมได้ 10 ตู้คอนเทนเนอร์ ภายใน 13 นาที
  • ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และการคมนาคมขนส่งของเมืองผิงเสียงเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ตลาดเจียงหนานเข้ามาขยายกิจการ เพื่อกุม “ตลาดต้นน้ำ”และได้ช่วยพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการซื้อขายผลไม้แบบ Business-to-Business (B2B) และ Business-to-Consumer (B2C)
  • ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในสังคมจีนอย่างมาก ทำให้ช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบ e-Commerce ในจีนก้าวล้ำอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการไลฟ์สด (Live Streaming) ที่กำลังเป็นกระแสนิยมสูงสุดในขณะนี้ นับเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการใช้ช่องทางที่หลากหลายเพื่อโปรโมทหรือขยายตลาดสินค้าไทยในประเทศจีน

 

เทศกาลส่งเสริมการค้าผลไม้อาเซียน ผ่านช่องทาง e-Commerce จัดขึ้นที่ “ศูนย์ซื้อขายสินค้าเกษตรอัจฉริยะผิงเสียง-เจียงหนาน (อาเซียน)” ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง การจัดงานเป็นการผสมผสาน “ออฟไลน์พ่วงออนไลน์” โดยการเชิญนักไลฟ์สดมืออาชีพ (Key Opinion Leader – KOL) มาช่วยขายผลไม้บนโลกสังคมออนไลน์ สร้างยอดวิวได้มากกว่า 1 แสนคน/ครั้ง และมีการสั่งซื้อผลไม้ผ่านแพลตฟอร์มไลฟ์สดมากกว่า 15,700 กล่อง ทำให้ทุเรียน ลำไย และมะพร้าวน้ำหอม จำนวนรวม 10 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวม 228 ตัน ขายหมดภายใน 13 นาที

กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นโดยบริษัท Guangzhou Jiangnan Agricultural Development Co., Ltd. (广州江楠农业发展有限公司) เจ้าของตลาดค้าส่งผลไม้ที่มีชื่อเสียงในนครกว่างโจว (ต่อไปเรียกว่า ตลาดเจียงหนาน) ที่รุกคืบเข้ามาลงทุนขยายกิจการในกว่างซีผ่าน “ศูนย์ซื้อขายสินค้าเกษตรอัจฉริยะผิงเสียง-เจียงหนาน (อาเซียน)” (凭祥·江楠(东盟)农产品智慧交易中心) โดยศูนย์แห่งนี้เป็นแพลตฟอร์มการค้าสมัยใหม่ที่ผสมผสานระหว่างการค้า ออนไลน์+ออฟไลน์ที่มีฟังก์ชันครบครัน ทั้งการซื้อขาย การค้าออนไลน์ คลังสินค้า ห่วงโซ่ความเย็น โลจิสติกส์ และการดำเนินพิธีการศุลกากร

กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ค้าออนไลน์ ผู้เชี่ยวชาญในแวดวง e-Commerce และผู้จัดหาสินค้า (Merchandiser) เป็นอย่างมาก รวมถึงรัฐบาลเมืองผิงเสียง โดยมีเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองผิงเสียงและนายกเทศมนตรีเมืองผิงเสียงเป็นผู้แทนเข้าร่วมพิธีเปิดด้วย

ตลาดเจียงหนานเห็นโอกาสอะไรในเมืองผิงเสียง ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ตลาดเจียงหนานได้พัฒนาแอปพลิเคชันค้าปลีกผลไม้ชื่อว่า Freshjn (江楠鲜品) ให้ผู้บริโภคได้สั่งซื้อผลไม้ผ่านสมาร์ทโฟน ต่อมาในเดือนธันวาคม 2561 ตลาดเจียงหนานได้เข้ามาจัดตั้ง “สวนอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ผิงเสียง (Freshjn)-อาเซียน” (凭祥·江楠鲜品东盟电商产业园) แพลตฟอร์มการค้าผลไม้แบบ B2B ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจการค้าผลไม้อาเซียนของเมืองผิงเสียง

ล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ตลาดเจียงหนานได้เริ่มพัฒนาโมเดลธุรกิจ “ส่งตรงจากผิงเสียง” เพื่อขยายช่องทางการจัดจำหน่ายแบบผสมผสานออนไลน์กับออฟไลน์ ปัจจุบัน โมเดลธุรกิจดังกล่าวช่วยให้การจัดส่งผลไม้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบบกดสั่งวันนี้ ส่งถึงมือวันพรุ่งนี้ (เรียกสั้นๆ ว่า T+1) ครอบคลุมพื้นที่ 85% ทั่วกว่างซี ช่วยบริหารจัดการซัพพลายเชนทั้งระบบให้มีความกระชับและลดความสูญเปล่าที่เกิดขึ้น ช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจอย่างมาก และช่วยให้ผู้บริโภคในจีนได้บริโภคผลไม้ที่มีคุณภาพสดใหม่อย่างรวดเร็ว

“ตลาดเจียงหนาน” เป็นผู้เล่นตัวหลักในตลาดผลไม้นำเข้าในประเทศจีน กลยุทธ์ของตลาดเจียงหนานมุ่งไปที่การจับ “ตลาดต้นน้ำ” เนื่องจากด่านโหย่วอี้กวานในเมืองผิงเสียงเป็นเมืองหน้าด่านของการนำเข้าผลไม้เมืองร้อนจากอาเซียน (เวียดนามและไทยเป็นหลัก) จากสถิติปี 2562 ด่านแห่งนี้มีการนำเข้าผลไม้มากถึง 1.09 ล้านตัน (สัดส่วน 93.16% ของการนำเข้า-ส่งออกผลไม้ทั้งหมด) คิดเป็นมูลค่ากว่า 8,800 ล้านหยวน ทำให้เมืองผิงเสียงป็นพื้นที่เป้าหมายของตลาดเจียงหนานในการเข้ามาขยายกิจการในกว่างซี

ตามรายงาน แพลตฟอร์ม Freshjn อยู่ระหว่างการพัฒนาโมเดลการค้ารูปแบบใหม่เพื่อกระตุ้นการซื้อขายสินค้าเกษตรอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การพัฒนาผู้ค้าออนไลน์ การซื้อขายล่วงหน้า (Future Market) การไลฟ์สดเพื่อส่งเสริมการขาย และการประมูลสินค้า โดยจะดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาเครือข่ายผู้ค้าออนไลน์ในการจัดส่งผลไม้อาเซียนไปทั่วประเทศจีน เช่น การรวมสินค้าก่อนส่ง ห่วงโซ่ความเย็น และระบบประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบธุรกิจเดียวกัน

บีไอซี ขอให้ข้อมูลว่า อำเภอระดับเมืองผิงเสียงมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และการคมนาคมขนส่ง เนื่องจากที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งผลิตผลไม้ทางภาคตะวันออกของไทย การขนส่งจากแหล่งผลิตไปถึงประเทศจีนมีระยะทางที่สั้น(กว่าเส้นทาง R3A) ทั้งเส้นทาง R8 R9 และ R12 และมีด่านนำเข้าผลไม้ที่มีประสิทธิภาพ (ด่านทางบกโหย่วอี้กวานและด่านรถไฟผิงเสียง) ช่วยทำให้การค้าคล่องตัว

นอกจากนี้ ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทอย่างมากในสังคมจีน ทำให้ช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบ e-Commerce ในจีนก้าวหน้าย่างรวดเร็ว จากการซื้อขายผ่านหน้าเว็บไซต์ มาเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันหลักหรือสอดแทรก Official account ในแอปพลิเคชันต่าง ๆ บนสมาร์ทโฟน จนมาถึงการไลฟ์สดที่กำลังเป็นกระแสนิยมสูงสุดในจีนขณะนี้ นับเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สามารถใช้ช่องทางที่หลากหลายในการโปรโมทหรือขยายตลาดสินค้าไทยในประเทศจีน

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 30 กรกฎาคม 2563
      เว็บไซต์ www.people.com.cn (人民网) วันที่ 30 กรกฎาคม 2563
เครดิตภาพ gxnews.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]