• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ลำไยสดของไทยประเดิมใช้พิธีการศุลกากรรูปแบบใหม่ในกว่างซี รับสินค้าทันใจใน 16 นาที

ลำไยสดของไทยประเดิมใช้พิธีการศุลกากรรูปแบบใหม่ในกว่างซี รับสินค้าทันใจใน 16 นาที

ไฮไลท์

  • ปรากฏการณ์ใหม่ของการเคลียร์สินค้าที่ท่าเรือชินโจว เมื่อลำไยสดจากประเทศไทยใช้เวลาเพียง 16 นาที ในการรับตู้สินค้าออกจากท่าเรือ เมื่อเรือบรรทุกสินค้าได้เข้าเทียบท่า เจ้าหน้าที่จะใช้เครนยกตู้ลำไยสดจากเรือไปวางบนรถหัวลากและลำเลียงออกจากท่าเทียบเรือได้ทันที เป็นโมเดล “การรับตู้สินค้าข้างเรือ” ครั้งแรกของด่านนำเข้าสินค้าในกว่างซี
  • โมเดลดังกล่าวช่วยให้ผู้นำเข้าหรือตัวแทนออกของสามารถบริหารจัดการเวลาและขนถ่ายลำเลียงตู้สินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องเสียเวลารอรับตู้สินค้านาน ช่วยลดต้นทุนการประกอบธุรกิจ และช่วยสร้างหลักประกันด้านความสดใหม่ของผลไม้นำเข้าสู่ตลาดในจีน
  • ปัจจุบัน มีเที่ยวเรือบรรทุกสินค้าวิ่งให้บริการระหว่างท่าเรือชินโจว-ท่าเรือแหลมฉบัง สัปดาห์ละ 5 เที่ยว แบ่งเป็นวันจันทร์ 2 เที่ยว และวันพุธ วันศุกร์ และวันอาทิตย์ วันละ 1 เที่ยว ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางบริการแบบ Direct Service จำนวน 3 เส้นทาง ใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วัน โดยมีสายเรือให้บริการ 3 ราย ได้แก่ บริษัท SITC บริษัท PIL และบริษัท EMC

 

นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการเคลียร์สินค้าที่ท่าเรือชินโจวของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เมื่อลำไยสดน้ำหนัก 26.73 ตัน จากประเทศไทยใช้เวลาเพียง 16 นาที ในการรับตู้สินค้าออกจากท่าเรือ ทันทีที่เรือบรรทุกสินค้าเข้าเทียบท่า เจ้าหน้าที่จะใช้เครนยกตู้ลำไยสดจากเรือไปวางบนรถหัวลากและลำเลียงออกจากท่าเทียบเรือ เป็นโมเดล “การรับตู้สินค้าที่ข้างเรือ” ครั้งแรกของด่านนำเข้าสินค้าในกว่างซี

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นผลสำเร็จของการปฏิรูประบบการผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้าที่เรียกว่า “Two-Step Declaration” กล่าวคือ

  • ขั้นตอนแรก ผู้นำเข้าหรือตัวแทนนำของออก ยื่นเอกสารการนำเข้าสินค้าล่วงหน้าในระบบการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (Single Window) ของศุลกากร โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะดำเนินการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยง หากไม่ใช่สินค้าควบคุมพิเศษ เมื่อเรือบรรทุกสินค้าเข้าเทียบท่าแล้ว จะได้รับอนุญาตให้นำสินค้าออกจากเขตอารักขาศุลกากรทันที
  • ขั้นตอนที่สอง ผู้นำเข้าหรือตัวแทนออกของ ต้องนำเอกสารการนำเข้าสินค้าไปยื่นเพิ่มเติมภายใน 14 วัน หลังจากเรือบรรทุกสินค้าเข้าเทียบท่าและการชำระอากรขาเข้าที่เกี่ยวข้อง

สำหรับผู้นำเข้า โมเดลดังกล่าวช่วยให้ผู้นำเข้าหรือตัวแทนออกของ สามารถบริหารจัดการเวลาและขนถ่ายลำเลียงตู้สินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หน้างาน คนรถ และรถหัวลาก ไม่ต้องเสียเวลารอรับตู้สินค้านาน ช่วยลดต้นทุนการประกอบธุรกิจ และช่วยสร้างหลักประกันด้านความสดใหม่ของผลไม้นำเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคในจีน

สำหรับท่าเรือ โมเดลดังกล่าวช่วยลดขั้นตอนและต้นทุนการดำเนินงานในท่าเรือลงอย่างมาก ทั้งการยกตู้สินค้าใส่รถบรรทุกที่ท่าเรือเพื่อลำเลียงไปยังลานสินค้าและการยกตู้สินค้าลงที่ลานสินค้าเพื่อรอการตรวจสอบเอกสารและตัวสินค้าก่อนให้รถบรรทุกเอกชนลำเลียงตู้สินค้าออกจากเขตท่าเรือ ช่วยให้อัตราหมุนเวียนของสินค้า (Turnover) ในท่าเรือเพิ่มสูงขึ้น ที่สำคัญ คือ เป็นการช่วยผลักดันให้ท่าเรือชินโจวเป็น “ศูนย์กระจายผลไม้นำเข้า” ที่คงคุณภาพความสดใหม่สำหรับตลาดภูมิภาคตะวันตกของจีน

ตามรายงาน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 สำนักงานศุลกากรท่าเรือชินโจวได้ดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจในวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วยร่นเวลาการดำเนินพิธีการศุลกากรลงได้อย่างมาก โดยเวลาที่ใช้ในการนำเข้าอยู่ที่ 22.74 ชั่วโมง (ลดลง 54.58% จากปี 2562) และเวลาที่ใช้ในการส่งออกอยู่ที่ 0.29 ชั่วโมง (ลดลง 90% จากปี 2562)

       บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่าเรือชินโจว เป็นศูนย์กลางของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (อ่าวตังเกี๋ย) เป็น “ศูนย์กลางเส้นทางการเดินเรือระหว่างประเทศ” ของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ เน้นฟังก์ชันบริการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์เป็นหลัก และมีสินค้าโภคภัณฑ์ (Bulk) บางส่วน

นอกจากนี้ ท่าเรือชินโจวยังเป็นจุดเชื่อมต่อของ “ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC/国际陆海贸易新通道) ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่มณฑลภาคตะวันตกของจีนกำลังเร่งผลักดันเพื่อเชื่อมยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road) ผ่านโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal Transportation) ของ เรือ+รางโดยสามารถขนถ่ายตู้สินค้าจากต่างประเทศจากเรือไปยังรถไฟเพื่อลำเลียงต่อไปยังเมืองต่าง ๆ ในประเทศจีน รวมทั้งผ่านประเทศจีนไปยังประเทศในเอเชียกลางและยุโรปได้

       ท่าเรือชินโจวมีฟังก์ชันพิเศษที่รัฐบาลกลางให้การสนับสนุน ได้แก่ “เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บน” (ปี 2551) ด่านนำเข้ารถยนต์ประกอบสำเร็จ (ปี 2552) ด่านนำเข้าเนื้อสัตว์ (ปี 2558) ด่านนำเข้าธัญพืช (ปี 2558) และด่านนำเข้าผลไม้   (ปี 2559) และ “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) ” (ส.ค. 2562)

การเดินเรือกับประเทศไทย ปัจจุบัน มีบริการเที่ยวเรือบรรทุกสินค้าสัปดาห์ละ 5 เที่ยว แบ่งเป็นวันจันทร์ 2 เที่ยว และวันพุธ วันศุกร์ และวันอาทิตย์ วันละ 1 เที่ยว ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางเดินเรือสายตรง (Direct service) จำนวน 3 เส้นทาง ใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วัน โดยมีสายเรือให้บริการ 3 ราย ได้แก่ บริษัท SITC (3 เที่ยว) บริษัท PIL และบริษัท EMC

ด้วยความได้เปรียบด้านที่ตั้งของท่าเรือชินโจวที่อยู่ใกล้กับประเทศไทย ความถี่ของเที่ยวเรือสินค้าจากแหลมฉบัง ความรวดเร็วของพิธีการนำเข้า-ส่งออกและการขนถ่ายสินค้า รวมถึงการ/+ใช้นโยบายจ่ายเงินอุดหนุนและลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้นำเข้า-ส่งออก ช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายและเวลาในการนำเข้า-ส่งออกได้เป็นอย่างมาก ท่าเรือชินโจว จึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ส่งออกไทยในการขนส่งสินค้าทางเรือไปสู่ตลาดจีน โดยเฉพาะผลไม้สด เป็นการกระจายความเสี่ยงและเลี่ยงปัญหารถบรรทุกติดค้างจากการพึ่งพาด่านทางบกโหย่วอี้กวานเพียงด่านเดียว

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 30 กรกฎาคม 2563
       ข่าวบนแพลตฟอร์ม Wechat Official Account ของเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) วันที่ 28 กรกฎาคม 2563
รูปภาพประกอบ www.gx.xinhuanet.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]