ไฮไลท์

  • “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Financial Town) ซึ่งที่ตั้งอยู่ที่เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงของนครหนานหนิง กำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” มีสถาบันการเงินเข้าไปจัดตั้งสำนักงานแล้ว 85 ราย โดยมี 25 รายที่เป็นสถาบันการเงินรายใหม่
  • รัฐบาลจีนกลางเห็นชอบให้ย่านการเงินจีน-อาเซียนเป็น “ประตูการเงินสู่อาเซียน” และเป็นศูนย์รวมสถาบันการเงิน การธนาคาร และการประกันภัย รวมถึงธุรกิจสนับสนุนภาคการเงินแบบครบวงจร (Financial Services Ecosystem)
  • รัฐบาลกว่างซีได้ดำเนินนโยบายให้สิทธิประโยชน์จำนวนมากเพื่อดึงดูดภาคธุรกิจให้เข้าไปจัดตั้งธุรกิจในเขตเมืองใหม่แห่งนี้ โดยเฉพาะธุรกิจการเงินรายใหม่จากทั้งในและต่างประเทศ ทั้งการให้เงินรางวัลและ/หรือเงินอุดหนุน การให้สิทธิการใช้ที่ดิน การให้ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้บริหารระดับสูงและนักการเงินชั้นนำ
  • นอกจากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและฟังก์ชันการใช้งานของพื้นที่ในย่านการเงินจีน-อาเซียนแล้ว หนึ่งในภารกิจสำคัญของปี 2563 คือ การดึงดูดให้สถาบันการเงินจากต่างประเทศและบริษัทที่ให้บริการด้านการเงิน (middle office & back office) เข้าไปจัดตั้งธุรกิจในย่านนี้

 

ในฐานะแพลตฟอร์มความร่วมมือด้านการเงินระหว่างจีนกับอาเซียน “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” หรือ China-ASEAN Financial Town (中国-东盟金融城) ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงของนครหนานหนิง กำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” มีสถาบันการเงินเข้าไปจัดตั้งสำนักงานแล้ว 85 ราย โดยมี 25 ราย ที่เป็นสถาบันการเงินรายใหม่

“ย่านการเงินจีน-อาเซียน” เป็นอีกหนึ่งคีย์โปรเจกต์ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงที่รัฐบาลกลางเห็นชอบให้ยกฐานะขึ้นเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติในการให้กว่างซีเป็น “ประตูการเงินสู่อาเซียน” ที่รวบรวมสถาบันการเงิน การธนาคารและการประกันภัยแบบครบวงจรระหว่างจีนกับอาเซียน

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชัดเจนใน “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” คือ ระบบโครงสร้างพื้นฐานและอาคารสำนักงานสูงระฟ้าที่ผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก ป่าคอนกรีตได้ทยอยก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว การที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่ทำให้ผังเมือง ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกมีความทันสมัยและครบครัน ธุรกิจน้อยใหญ่ได้ทยอยเข้ายึดหัวหาดแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงิน บริษัทชั้นนำระดับโลก และบริษัทชั้นนำของจีน

นครหนานหนิงได้กำหนดพื้นที่ฟังก์ชันในย่านการเงินจีน-อาเซียน ออกเป็น 4 โซน ได้แก่

  1. โซนสำนักงานใหญ่สถาบันการเงิน (Financial Headquarter Zone) เป็นพื้นที่ที่ทำการสำนักงานใหญ่ของสถาบันการเงินและการประกันภัยทั้งในและต่างประเทศ (อาเซียน) เป็นศูนย์กลางการเงินและศูนย์การธุรกิจ (CBD) ระดับสากลที่มีฟังก์ชันครบครัน
  2. โซนบริการข้อมูลสารสนเทศทางการเงิน (Financial Information Service Zone) เป็นพื้นที่สนับสนุนด้านการบริหารจัดการ การพัฒนา และบริการข้อมูลสารสนเทศทางการเงินแบบครบวงจร ทั้งบิ๊กดาต้าการเงิน ระบบคลาวด์การเงิน และข้อมูลทางการเงิน
  3. โซนบริการปฏิบัติการด้านการเงิน (Financial Operation Service Zone) เป็นพื้นที่สนับสนุนการปฏิบัติงานขั้นกลางและหลังบ้าน (Mid and Back-office) การชำระบัญชีการเงินข้ามแดน และธุรกรรมต่างประเทศ การวิจัยและพัฒนาการเงินข้ามแดน และบริการภาษาอาเซียน
  4. โซนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการเงิน (Technological and Financial Industries Zone) เป็นพื้นที่ที่รวมองค์กร/สถาบันเทคโนโลยี การเงิน การลงทุน และโบรกเกอร์ที่จะช่วยสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงิน

      โมเดลการพัฒนา “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” แบ่งออกเป็น 2 เขตนำร่อง และ 3 ศูนย์กลาง ได้แก่
      “เขตทดลองการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการประกันภัยแบบครบวงจร” ที่เป็นแหล่งรวมธุรกิจประกันภัย เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์การประกันภัยทั้งการประกันภัยทางทะเล การประกันภัยข้ามแดน การประกันภัยเพื่อสนับสนุนเกษตรกร และระบบการประกันภัยของธนาคาร

      – “เขตสาธิตการพัฒนาและปฏิรูปด้านการเงินสีเขียว (Green Finance)” ที่สนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การระดมทุนในรูปแบบตราสารหนี้ที่เน้นการลงทุนในโครงการที่สนับสนุนการลดภาวะโลกร้อน (Green Bond) สินเชื่อสีเขียว การประกันภัยสีเขียว และพันธบัตรสีเขียว

      –ศูนย์กลางการเงินด้านเงินหยวนนอกประเทศจีน (RMB Offshore)” ที่มุ่งพัฒนาธุรกรรมบริการเงินหยวนนอกประเทศจีนที่มีความหลากหลายและพัฒนาระบบบัญชีธนาคารสกุลเงินหยวนกับสกุลเงินต่างประเทศแบบบัญชีเดียว

      –ศูนย์ชำระบัญชีการซื้อขายสกุลเงิน” ที่มุ่งพัฒนาฟังก์ชันการชำระบัญชีต่างประเทศให้มีความสมบูรณ์ พัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายสกุลเงินและการชำระบัญชีการค้าด้วยสกุลเงินหยวนกับอาเซียน และพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีการชำระบัญชีข้ามแดน

      –ศูนย์กลางบริการด้านเงินทุนข้ามแดน (การลงทุนและการระดมทุน)” ที่มุ่งพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์การเงินข้ามแดน และส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนข้ามแดน

สำหรับแผนการพัฒนา “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” ในปี 2563 นครหนานหนิงได้วางเป้าหมายที่น่าสนใจ อาทิ การก่อสร้างอาคารบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (one stop service) ซึ่งภายในจะมีเคาน์เตอร์บริการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บริการแก่ภาคธุรกิจและประชาชน การผลักดันความคืบหน้าในการจัดตั้งศูนย์บริการตลาดซื้อขายพันธบัตรเซินเจิ้นสาขากว่างซีและศูนย์บริการด้านการเงินข้ามแดนของธนาคาร ICBC การผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทองคำจีน-อาเซียน การจัดตั้งศูนย์บิ๊กดาต้าด้านการเงิน (Financial Big Data Center) และการดึงดูดให้สถาบันการเงินจากต่างประเทศและบริษัทที่ให้บริการด้านการเงิน (middle office & back office) เข้ามาจัดตั้งธุรกิจในย่านนี้

โดยรัฐบาลกว่างซีได้มีนโยบายให้สิทธิประโยชน์จำนวนมากเพื่อดึงดูดให้ภาคธุรกิจเข้ามาจัดตั้งธุรกิจในเขตเมืองใหม่แห่งนี้ โดยเฉพาะธุรกิจการเงินรายใหม่จากทั้งในและต่างประเทศ ทั้งการให้เงินรางวัล เช่น เงินรางวัลในการจัดตั้งสำนักงานใหญ่สูงสุด 8 ล้านหยวน และเงินรางวัลสำหรับการดำเนินธุรกรรมการเงินกับธนาคารในอาเซียน การให้เงินอุดหนุน เช่น เงินอุดหนุนการเช่า/ซื้ออาคารสำนักงานสูงสุด 6 ล้านหยวน เงินอุดหนุนพิเศษสำหรับนักการเงินและผู้บริหารระดับสูงจากต่างประเทศ การให้สิทธิการใช้ที่ดิน และการให้ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.sohu.com (搜狐网) ประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2563
รูปประกอบ
www.gx.xinhuanet.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/