มณฑลกานซูส่งออกสารสกัดสมุนไพรไปต่างประเทศได้เป็นครั้งแรก

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2563 สนง. ศุลกากรนครหลานโจวรายงาน การส่งออกสารสกัดสมุนไพรส่งขายยังต่างประเทศ เป็นครั้งแรกของมณฑลกานซู ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในการวิจัยและพัฒนาสารสกัดสมุนไพรเชิงพาณิชย์ส่งออกต่างประเทศด้วยตนเอง

ราก “หลูเกิน” และภายหลังสกัดเป็นผงเข้มข้น

การส่งออกสารสกัดสมุนไพรในครั้งนี้เป็นการส่งออกสารสกัดจากราก “หลูเกิน” (Reed Rhizome หรือที่นิยมเรียกเป็นภาษาไทยว่า “โหล่วกึง” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว) มีฤทธิ์เย็น ช่วยดับร้อน แก้กระหาย และสารสกัดจากหวงฉี (พืชตระกูลโสมชนิดหนึ่ง) ในลักษณะผงเข้มข้น (Concentrated powder) น้ำหนักรวม 1.3 ตัน ไปยังประเทศพม่า ทั้งนี้ สนง. ศุลกากรฯ ยังระบุว่า การส่งออกสารสกัดสมุนไพรในครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจที่แปรรูปแล้วให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งออกได้ มากกว่าการเน้นส่งเสริมการส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรเหมือนในอดีต และยังแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการเพาะปลูกและแปรรูปของมณฑลกานซูที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ปัจจุบัน โรงงานแปรรูปสมุนไพรของมณฑลได้รับการยอมรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) แล้วกว่า 104 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้รับการยอมรับในมาตรฐานการเพาะปลูกแบบไร้มลพิษ (the origin of pollution-free agricultural products) มากกว่า 1,000 แห่งทั่วทั้งมณฑล

การผลิตสารสกัดสมุนไพร ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมณฑลกานซูให้การสนับสนุนมาโดยตลอด ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการสกัดสารที่ได้ประสิทธิภาพและมีความบริสุทธิ์สูงสุด เพื่อให้คุ้มค่าต่อต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าสมุนไพร มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตตลาดความนิยมสารสกัดสมุนไพรทั่วโลกจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ เน้นรักษาสุขภาพด้วยวิธีที่ปลอดภัยและมาจากธรรมชาติ

นอกจากสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการผลิตและส่งออกสารสกัดสมุนไพรได้ด้วยตนเองแล้ว การส่งออกในครั้งนี้ยังสะท้อนถึงความก้าวหน้าของระบบการขนส่งสินค้าของมณฑลกานซูที่เป็นมณฑลไร้ทางออกสู่ทะเล มีข้อจำกัดการขนส่งทางทะเลและมีเที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไม่มากนัก ปัจจุบัน มณฑลกานซูมีเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศภายใต้ชื่อ “หลานโจวห้าว” เชื่อมต่อกลุ่มประเทศในเอเชียกลางและเอเชียใต้ ข้อมูลล่าสุดระหว่างเดือน ม.ค. – ก.ย. 2562 ระบุว่า “หลานโจวห้าว” ขนส่งสินค้าไปแล้ว 104 เที่ยว กว่า 178,042 ตัน มูลค่า 30.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตขึ้น 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 รวมถึงยังเป็นหนึ่งในสมาชิกเส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ China-Singapore Demonstration Initiative on Strategic Connectivity (ILSTC) ที่ใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟนครหลานโจว – นครฉงชิ่ง ซึ่งเปิดให้บริการเต็มรูปแบบครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ย.  2559 ขนส่งสินค้าผ่านนครฉงชิ่ง มณฑลกุ้ยโจว เขตฯ กว่างซีจ้วง และไปสิ้นสุดยังประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นแหล่งกระจายสินค้าที่สำคัญของมณฑลกานซูไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://wb.lzbs.com.cn/html/2019-10/24/content_281196.htm
  2. http://www.ocn.com.cn/free/201208/zhongyao221533.shtml
  3. http://finance.ifeng.com/c/7wOLYLp6D23

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]