ไฮไลท์

  • TusCBEC กว่างซี จับมือกับ LAZADA เปิดไลฟ์สดข้ามแดนจำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันโรคระบาด เช่น ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) หน้ากากอนามัย และแว่นป้องกัน พร้อมส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคในอาเซียนโดยตรง
  • TusCBEC ยังได้ร่วมมือกับ Alibaba Group เพื่อผลักดันให้ LAZADA ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในอาเซียน ให้เข้ามาจัดตั้ง Cross-border e-Commerce Innovation Service Center ที่นครหนานหนิง เน้นพัฒนาเครือข่ายการบริการเจาะตลาดอาเซียน อาทิ การบ่มเพาะธุรกิจ การไลฟ์สดอีคอมเมิร์ซข้ามแดน และการฝึกอบรมอีคอมเมิร์ซข้ามแดนหลายภาษา
  • ทีมอาจารย์ต่างประเทศจากวิทยาลัยภาษาต่างประเทศกว่างซีเป็นผู้ดำเนินรายการด้วยภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นๆ เพื่ออธิบายจุดเด่นและสาธิตวิธีการใช้งานอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ซึ่งเป็นการก้าวข้ามอุปสรรคด้านความหลากหลายทางเชื้อชาติและภาษาในประเทศสมาชิกอาเซียน
  • เพื่อตอบสนองความต้องการด้านธุรกิจ ในระยะต่อไป TusCBEC จะช่วยภาคธุรกิจและแบรนด์โกอินเตอร์ผ่านโมเดล “อีคอมเมิร์ซข้ามแดน + ภาษาที่ไม่ใช่กลุ่มภาษาหลัก”

 

TusCBEC กว่างซี จับมือกับพันธมิตรอย่าง LAZADA เปิดไลฟ์สดข้ามพรมแดน (Cross-border livestreaming) จำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันโรคระบาดให้กับผู้บริโภคในประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อต่อสู้กับ COVID-19 โดยได้รับความสนใจและการติดตามจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ขณะที่กำลังการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียนนั้นจำกัด จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการภายในของแต่ละประเทศได้ บริษัท TusCBEC (广西启迪创新跨境电子商务有限公司) ได้ริเริ่มจัดไลฟ์สดจำหน่ายชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) หน้ากากอนามัย และแว่นป้องกันละอองฝอย ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามแดนของ LAZADA พร้อมส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคในอาเซียนโดยตรง

นอกจากนี้ TusCBEC ยังได้ร่วมมือกับ Alibaba Group เพื่อผลักดันให้ LAZADA ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในอาเซียน ให้เข้ามาจัดตั้ง “ศูนย์บริการนวัตกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามแดน” หรือ Cross-border e-Commerce Innovation Service Center ที่นครหนานหนิง

โดย LAZADA สามารถใช้จุดแข็งด้านทรัพยากรบุคคลที่มีทักษาด้านภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียนในการพัฒนาเครือข่ายบริการ อาทิ การบ่มเพาะธุรกิจ การไลฟ์สดอีคอมเมิร์ซข้ามแดน และการฝึกอบรมอีคอมเมิร์ซข้ามแดนหลายภาษา เพื่อพัฒนา “ห่วงโซ่อุปทาน” ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามแดนจีน-อาเซียน

ความหลากหลายทางเชื้อชาติและภาษาในประเทศสมาชิกอาเซียนไม่เป็นปัญหา เพราะ TusCBEC ได้เชิญทีมอาจารย์ต่างประเทศจากวิทยาลัยภาษาต่างประเทศกว่างซีมาเป็นผู้ดำเนินรายการ โดยใช้ภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นๆ ในการพรีเซนต์จุดเด่นและสาธิตวิธีการใช้งานอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ

บริษัท TusCBEC ยังมีแผนเปิดห้องทำงานสำหรับการไลฟ์สดทั้งในจีนและต่างประเทศพร้อมกัน เพื่อแก้ไขอุปสรรคด้านความแตกต่างของภาษาสำหรับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซข้ามแดน ช่วยให้ผู้บริโภค นักขาย และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามแดนสามารถเติบโตไปด้วยกัน

ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีพยายามเร่งส่งเสริมโครงการลงทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในมณฑล ตัวอย่างเช่น การจัดตั้ง “ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ TusStar” (启迪之星) ภายใต้การนำของ TusHolding และมหาวิทยาลัยชิงหัว

ศูนย์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่ภาครัฐมุ่งหวังให้เป็นแพลตฟอร์มบ่มเพาะธุรกิจ โดยอาศัยข้อได้เปรียบจากความใกล้ชิดกับอาเซียนของกว่างซี และมี “อีคอมเมิร์ซข้ามแดน” เป็นส่วนสำคัญของโครงการดังกล่าว โดยบริษัท TusCBEC เป็นผู้ดำเนินการ พร้อมจัดตั้งฐานฝึกอบรมให้ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงในเขตสินค้าทัณฑ์บนนครหนานหนิง (ส่วนหนึ่งของเขตทดลองการค้าเสรีกว่างซี)

ที่ผ่านมา TusCBEC ได้พัฒนาความร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในต่างประเทศ และมุ่งทำตลาดออนไลน์ข้ามแดนในโมเดลไลฟ์สด (livestreaming) ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างงดี และเพื่อตอบสนองความต้องการด้านธุรกิจในระยะต่อไป TusCBEC จะช่วยภาคธุรกิจและแบรนด์โกอินเตอร์ผ่านโมเดล “อีคอมเมิร์ซข้ามแดน+ภาษาที่ไม่ใช่กลุ่มภาษาหลัก”

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 9 เมษายน 2563
       เว็บไซต์ http://www.tuscbec.com
เครดิตภาพ http://dy.163.com

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/