[*]

[*]ไฮไลท์

  • ธรณีพิบัติภัยจากดินถล่มปิดทับเส้นทางเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง สร้างความเสียหายแก่ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ตลอดจนความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
  • “นครหนานหนิง” เริ่มใช้งาน “ระบบปฏิบัติการเฝ้าระวังและเตือนภัยดินถล่มในพื้นที่ลาดชันด้วยระบบอัจฉริยะ” บริเวณถนนวงแหวนรอบนอก (G97) เป็นที่แรกในประเทศจีน เพื่อเป็นต้นแบบสาธิตการจัดการบำรุงรักษาทางหลวงด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีในการยกระดับประสิทธิภาพการจัดการบำรุงรักษาถนน
  • เทคโนโลยีแกน (core technology) ของระบบปฏิบัติการดังล่าวประกอบด้วย “อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง” (Internet of Things) หรือ IoT เชื่อมโยงผ่านเครือข่าย 5G ที่มีความเร็วสูง และ “ระบบดาวเทียมบอกพิกัดเป่ยโต้ว” (BeiDou Satellite System) ที่มีความแม่นยำสูง รวมถึงเชื่อมอุปกรณ์กล้องวงจรที่มีความคมชัดสูง ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเฝ้าระวังและลาดตระเวนผ่านระบบควบคุมทางไกลในห้องควบคุมโดยไม่ต้องออกไปลงพื้นที่จริง ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

[*] 

[*]“นครหนานหนิง” เริ่มใช้งาน “ระบบปฏิบัติการเฝ้าระวังและเตือนภัยดินถล่มในพื้นที่ลาดชันด้วยระบบอัจฉริยะ” บริเวณถนนวงแหวนรอบนอก (G97) เป็นที่แรกในประเทศจีน เพื่อเป็นต้นแบบสาธิตการจัดการบำรุงรักษาทางหลวงด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยียกระดับประสิทธิภาพการจัดการบำรุงรักษาถนน

[*]ดินถล่มปิดทับเส้นทางเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศจีน ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า เกือบ 10 ปีมานี้ ธรณีพิบัติภัยได้สร้างความเสียหายแก่ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางถนนในจีน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึงปีละหลายพันล้านหยวน การตัดสร้างถนนอย่างต่อเนื่องในจีน โดยเฉพาะถนนที่สร้างขึ้นในพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดชันเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาดินโคลนถล่มสูง จึงต้องมีระบบการจัดการตรวจสอบและเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

[*]ที่ผ่านมา การตรวจสอบและเฝ้าระวังปัญหาดินถล่มนั้นใช้การลานตระเวนของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีต้นทุนสูง แต่ประสิทธิผลต่ำ จึงเป็นที่มาของ “ระบบปฏิบัติการเฝ้าระวังและเตือนภัยดินถล่มในพื้นที่ลาดชันด้วยระบบอัจฉริยะ ผลงานวิจัยชิ้นโบว์แดงชิ้นแรกจาก “ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมด้านการคมนาคมอัจฉริยะผ่านระบบ 5G[*] (5G智慧交通联合创新实验室)

[*]ระบบปฏิบัติการดังกล่าวใช้เทคโนโลยีแกน (core technology) คือ “อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง” (Internet of Things) หรือ IoT เชื่อมโยงผ่านเครือข่าย 5G โดยอาศัยประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อย่อยของ 5G ที่สามารถรองรับอุปกรณ์ได้สูงถึง 1 ล้านชิ้นในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร และยังมีอัตราการรับส่งข้อมูลสูง (Bandwidth) ความหน่วงต่ำ ใช้พลังงานต่ำ ร่วมกับ “ระบบดาวเทียมบอกพิกัดเป่ยโต้ว” (BeiDou Satellite System) ที่มีความแม่นยำสูง

[*]

[*]หลักการทำงานทั่วไป คือ อุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ลาดชันจะส่งข้อมูลทั้งหมดมายังระบบแม่ข่ายที่ศูนย์เฝ้าระวังผ่านเครือข่าย 5G เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะและเตือนภัย โดยเครือข่าย 5G ที่ใช้นั้นได้รับการพัฒนามาเฉพาะสำหรับการรับส่งข้อมูลระหว่างศูนย์เฝ้าระวังกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งตามจุดต่างๆ โดยอุปกรณ์เซ็นเซอร์ประเภทต่างๆ มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจวัดการเคลื่อนตัวของมวลดินที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน

[*]นอกจากนี้ ยังผสมผสาน 5G กับเทคโนโลยีดาวเทียมเป่ยโต้ว ผ่านแพลตฟอร์ม “ดาวเทียมบอกพิกัดเป่ยโต้วแม่นยำสูง” ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยสถาบันวิจัยอุตสาหกรรม China Mobile (เซี่ยงไฮ้) โดยดาวเทียมเป่ยโต้วมีความละเอียดแม่นยำในการระบุค่าพิกัดในระดับ 1 มิลลิเมตร หากพิกัดตำแหน่งในสถานที่นั้นเกิดความเคลื่อนไหวผิดปกติ ระบบดาวเทียมจะสามารถตรวจสอบค้นหาตำแหน่งนั้นได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตรวจสอบและดำเนินมาตรการต่อไปได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งระบบสนับสนุนการทำงาน (back office) จะได้รับผลการตรวจสอบเพื่อควบคุมอุปกรณ์แจ้งเตือนภัยรถลาที่กำลังวิ่งสัญจรอยู่บริเวณใกล้สถานที่เกิดเหตุ เพื่อป้องกันความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

[*]บนพื้นฐานเครือข่าย 5G ยังมีการเชื่อมอุปกรณ์กล้องวงจรที่มีความคมชัดสูง ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเฝ้าระวัง และลาดตระเวนผ่านระบบควบคุมทางไกลในห้องควบคุมโดยไม่ต้องออกไปลงพื้นที่จริง ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

[*]เห็นได้ว่า ปัจจุบัน จีนมีความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีเป็นอย่างมากและมีการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อลดการสิ้นเปลืองแรงงานและยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้น โดย “ระบบปฏิบัติการเฝ้าระวังและเตือนภัยดินถล่มในพื้นที่ลาดชันด้วยระบบอัจฉริยะ” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาระบบงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างมีประสิทธิภาพ

[*]บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “เป่ยโต้ว” เป็นดาวเทียมบอกพิกัดที่จีนพัฒนาขึ้นเองเพื่อลดการพึ่งพาระบบ GPS ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากการใช้ประโยชน์ทางการทหารแล้ว จีนยังมีแผนที่จะนำระบบดาวเทียมเป่ยโต้วเข้าแข่งขันในตลาดนำร่องดาวเทียมของพลเรือน

[*]ที่ผ่านมา จีนและประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศได้พัฒนาระบบเสริมสมรรถนะดาวเทียมภาคพื้นดินของดาวเทียมนำร่องเป่ยโต้ว (BDS Ground-base Augmentation System) เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการเก็บประมวลและรับส่งข้อมูลผ่านดาวเทียม

[*]ใน “นครหนานหนิง” เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ก็มีการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะดาวเทียมเป่ยโต้วจีน-อาเซียน” ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือดังกล่าวในการร่วมพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน

[*] 

[*] 

[*]คำอธิบายเพิ่มเติม

[*][*]ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมด้านการคมนาคมอัจฉริยะผ่านระบบ 5G” ได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาลกว่างซี โดยมีภาคธุรกิจเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาร่วมกัน ได้แก่ China Mobile สาขากว่างซี (中国移动广西公司) บริษัท Guangxi Transportation Research & Consulting CO.,LTD (广西交通科学研究院有限公司) บริษัท Guangxi Communications Investment Group Corp., Ltd. (广西交通投资集团有限公司) บริษัท SGMW (上汽通用五菱汽车股份有限公司) และ China Mobile (Shanghai) Industry Research Institute (中国移动(上海)产业研究院)

[*] 

[*] 

[*]จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์ พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนณนครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนณนครหนานหนิง
ที่มาเว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 7 มกราคม 2563
เว็บไซต์ www.bgigc.com (广西交科院公司) ประจำวันที่ 10มกราคม 2563
รูปประกอบ www.pixabay.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/