• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • มองเทรนด์ธุรกิจกว่างซี ผ่านตลาดแรงงานไตรมาส 3/2564 – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

มองเทรนด์ธุรกิจกว่างซี ผ่านตลาดแรงงานไตรมาส 3/2564 – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

 

ในไตรมาส 3/2564 สถานการณ์การจ้างงานในเขตปกครองตนเองกว่างซีมีแนวโน้มชะลอตัวลง ค่าจ้างเฉลี่ยที่นายจ้างเสนอให้กับการจ้างงานต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ยที่ผู้สมัครงานคาดหวังเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี อย่างไรก็ดี คาดหมายว่า ค่าจ้างจะดีดตัวกลับขึ้นมาในช่วงไตรมาส 4/2564 โดยเฉพาะสาขาด้านการบริการ

เว็บไซต์จัดหางาน gxrc.com ภายใต้การกำกับดูแลของกรมทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคมกว่างซี ได้เปิดเผยรายงานการจ้างงานของเขตฯ กว่างซีจ้วง ประจำไตรมาสที่ 3/2564 พบว่า ค่าตอบแทนเฉลี่ยที่นายจ้างเสนอจ้างงานอยู่ที่ 5,266 หยวน โดยหัวเมืองรองอย่าง “เมืองยวี่หลิน” มีอัตราค่าตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดในมณฑลในไตรมาสนี้ที่ 5,775 หยวน

ช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ค่าตอบแทบการจ้างงานในกว่างซี

  • ไตรมาสที่ 1/2564 นายจ้างเสนอค่าจ้างเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 5,902 หยวน เพิ่มขึ้น 16.10% (YoY) ขณะที่ผู้สมัครงานมีความคาดหวังต่อเงินเดือนอยู่ที่ 5,428 หยวน เพิ่มขึ้น 8.96% (YoY) โดยนายจ้างใน “นครหนานหนิง” เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดที่ 6,217 หยวน
  • ไตรมาสที่ 2/2564 นายจ้างเสนอค่าจ้างเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 5,799 หยวน เพิ่มขึ้น 8.08% (YoY) แต่ลดลง 1.75% (QoQ) ขณะที่ผู้สมัครงานมีความคาดหวังต่อเงินเดือนอยู่ที่ 5,492 หยวน เพิ่มขึ้น 10.93% (YoY) และเพิ่มขึ้น 1.17% (QoQ) โดยนายจ้างใน “นครหนานหนิง” เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดที่ 6,110 หยวน
  • ไตรมาสที่ 3/2564 นายจ้างเสนอค่าจ้างเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 5,266 หยวน ลดลง 3.75% (YoY) และลดลง 9.19% (QoQ) ขณะที่ผู้สมัครงานมีความคาดหวังต่อเงินเดือนอยู่ที่ 5,454 หยวน เพิ่มขึ้น 8.43% (YoY) และลดลง 0.69% (QoQ) โดยนายจ้างใน “เมืองยวี่หลิน” เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดที่ 5,775 หยวน

การจ้างงานในช่วงเงินเดือน 4,000 – 4,999 หยวน มีสัดส่วน 24.11% เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.63 จุด (QoQ)  รองลงมา ได้แก่ ช่วงเงินเดือน 3,000 – 3,999 หยวน มีสัดส่วน 22.67% และช่วงเงินเดือน 5,000 – 5,999 หยวน มีสัดส่วน 16.11% ซึ่งทั้งหมดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน

นอกจากนี้ พบว่า การจ้างงานในช่วงเงินเดือน 3,000 – 3,999 หยวน ตลาดแรงงานมีการแข่งขันค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้สมัครงานมีจำนวนมากกว่าตำแหน่งงานในช่วงเงินเดือนดังกล่าว (สัดส่วนผู้สมัครงาน 34.39% : ตำแหน่งงาน 22.67%) ขณะที่ ในช่วงเงินเดือน 4,000 – 4,999 หยวน มีตำแหน่งงานมากกว่าจำนวนผู้สมัครงาน (สัดส่วนผู้สมัครงาน 18.86% : ตำแหน่งงาน 24.11%)

สาขาที่มีเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บริหารจัดการ (13,527 หยวน) ประกัน (9,322 หยวน) นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ (7,441 หยวน) พนักงานขาย (7,049 หยวน) และงานไอทีและตรวจสอบ (6,945 หยวน)

สาขาที่มีเงินเดือนเฉลี่ยต่ำสุด 5 อันดับท้าย ได้แก่ รปภ. และแม่บ้านทำความสะอาด (3,471 หยวน) เสมียนและธุรการ (3,961 หยวน) ร้านอาหารและเครื่องดื่ม (4,001 หยวน) สิ่งทอ เครื่องนุ่มห่ม และเครื่องหนัง (4,065 หยวน) และอุตสาหกรรมเบา/อาหาร/และงานฝีมือ (4,119 หยวน)

ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจของตลาดการจ้างงานในเขตฯ กว่างซีจ้วง อาทิ

  • สาขาการบริการด้านลงทุนพันธบัตร/ตลาดล่วงหน้า (broker) เป็นสาขาที่อัตราค่าตอบแทนมีแนวโน้มลดลงมากที่สุด โดยไตรมาสที่ 2 มีค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 9,369 หยวน ลดลงเหลือ 6,876 หยวนในไตรมาสที่ 3 ลดลง 26.61% (QoQ)
  • สาขาการประกันเป็นสาขาที่อัตราค่าตอบแทนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสที่ 2 มีค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 5,875 หยวน เพิ่มขึ้นเป็น 9,322 หยวนในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 58.67% (QoQ)
  • สาขาการแปลภาษา เป็นอีกหนึ่งสาขาที่ค่าตอบแทนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน โดยไตรมาสที่ 2 มีค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 5,901 หยวน เพิ่มขึ้นเป็น 6,934 หยวนในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 17.51% (QoQ)
  • ค่าจ้างพนักงานไปทำงานที่ต่างมณฑล ค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 6,682 หยวน ซึ่งส่วนใหญ่ไปทำงานที่มณฑลกวางตุ้ง (ค่าจ้างเฉลี่ย 6,599 หยวน) และมณฑลเจียงซู (ค่าจ้างเฉลี่ย 8,492 หยวน) ส่วนใหญ่เป็นงานบริหารสูงและงานเทคนิคเฉพาะด้าน เช่น ผู้จัดการสาขา ผู้จัดการภูมิภาค และวิศวกรรมเครื่องจักรกล

สำหรับ “นครหนานหนิง” ในฐานะเมืองเอกของเขตฯ กว่างซีจ้วง ในไตรมาส 3/2564 มีค่าตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 5,364 หยวน เป็นอันดับ 2 ของมณฑล ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะค่ามัธยฐาน (Median) หรือ ค่าของข้อมูลที่อยู่ตรงกลางของข้อมูลทั้งหมด พบว่า นครหนานหนิงมีค่าตอบแทนมากที่สุดในมณฑลที่ 4,687 หยวน เพิ่มขึ้น 6.15% (QoQ)

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วง มีการแบ่งอัตราค่าแรงขั้นต่ำแบบขั้นบันได โดยล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว (ปี 2563) รัฐบาลกว่างซีได้มีมติให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกพื้นที่ในมณฑล เฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 9% บังคับใช้ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ เป็นไปตาม “แผนการเพิ่มรายได้เฉลี่ยที่ใช้จ่ายได้เป็นเท่าตัวของประชากรเขตเมือง” ที่ระบุถึงการปรับเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อยทุก 2 ปี เพื่อสร้างหลักประกันการดำรงชีวิตของผู้ที่มีรายได้ต่ำให้เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าครั้งนี้จะมีการปรับขึ้นต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่น้อยกว่า 15%

ค่าแรงขั้นต่ำเป็นเงินรายได้ขั้นต่ำสุดที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้กับลูกจ้าง ซึ่งไม่ครอบคลุมเงินค่าล่วงเวลาและสวัสดิการอื่นๆ เช่น เงินประกันสังคม (ในส่วนของนายจ้าง) เงินอุดหนุน เงินรางวัล และรายรับที่มิใช่เงินตรา (เสื้อผ้า อาหาร)

นอกจากนี้ รัฐบาลกว่างซียังมีการประกาศเกณฑ์อ้างอิงเงินเดือนเพื่อให้นายจ้างใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนการจ้างงานให้กับผู้สมัครงาน โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาจากอัตราค่าครองชีพ โดยเฉพาะรายจ่ายในการดำรงชีพของประชาชนเขตเมือง สัดส่วนการนำส่งเงินประกันสังคมของพนักงาน เงินกองทุนเพื่อที่อยู่อาศัย เงินเดือนเฉลี่ยของพนักงาน ภาวะเศรษฐกิจและสังคม ภาวะเงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รายได้เฉลี่ย รวมถึงเป้าหมายแผนพัฒนาเศรษฐกิจประจำปี สถานการณ์การจ้างงาน ต้นทุนแรงงาน และผลประกอบการธุรกิจ

หลายปีมานี้ ค่าแรงในจีนปรับตัวสูงขึ้นตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ นับเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า ประเทศจีนในวันนี้กำลังจะสิ้นสุดยุคสินค้าและค่าแรงถูกแล้ว โครงสร้างเศรษฐกิจในจีนกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล (digital transformation) ที่การผลิตมุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงธุรกิจภาคการบริการที่มีคุณภาพสูง

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานจีนในเรื่องอัตราค่าแรงที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นประเด็นที่นักธุรกิจ(ต่างชาติ)ต้องปรับทัศนะที่มีต่อจีนใหม่ มองจีนเป็น “ตลาดผู้บริโภค” ขนาดใหญ่มากกว่าการมองว่าจีนเป็น “โรงงาน OEM” เหมือนเช่นในอดีต เป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดจีน ซึ่งผู้บริโภคมีความหลากหลายและมีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยมหาศาล

ในส่วนของประเด็นอัตราค่าแรงกับการลงทุนในจีน ภาพการเคลื่อนย้ายอุตสหากรรมในจีนมีความชัดเจนมากขึ้นทุกขณะ ระดับความเจริญทางเศรษฐกิจและอัตราค่าครองชีพในพื้นที่เลียบชายฝั่งภาคตะวันออกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมการผลิตและแรงงานสู่ภาคตะวันตกที่มีอัตราค่าแรงต่ำกว่า การแบ่งภาคอุตสาหกรรมมีความชัดเจน ภาคตะวันออกจะมุ่งเน้นด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีคอนเทนต์สูง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่นักลงทุน(ต่างชาติ)ต้องนำไปประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุนในจีน

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
http://gx.news.cn/newscenter (广西新闻网) วันที่ 09 พฤศจิกายน 2564
เว็บไซต์ www.
gxrc.com (广西人才网)

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]