บุษรินทร์ เณรแก้ว | Internet of Things Engineering

บุษรินทร์ เณรแก้ว (เมย์)
ปริญญาตรี – Internet of Things Engineering, Beijing Institute of Technology

“คิดว่า IoT จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญในอนาคต หลังเรียนจบแล้ว น่าจะต่อยอดได้อีกมาก”

เมย์เรียนมัธยมปลายที่ Guangxi Overseas Chinese School ตั้งใจว่าหลังเรียนจบอยากจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่จีนค่ะ  เมย์หาข้อมูลคณะและมหาวิทยาลัยที่สนใจ หนึ่งในนั้น คือ สาขา Internet of Things Engineering คณะ Computer Science ของมหาวิทยาลัย Beijing Institute of Technology (BIT)  เมื่อค้นหาข้อมูลเรื่อง Internet of Things (IoT) มากขึ้น ก็คิดว่า IoT จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญในอนาคต เรียนจบแล้ว น่าจะต่อยอดได้อีกมาก และเมืองที่อยากมาเรียนต่อ คือ ปักกิ่ง เพราะเป็นเมืองที่ค่อนข้างเจริญ สถานที่ท่องเที่ยวสวย น่าจะมีอะไรให้ทำเยอะ การจัดอันดับคณะ IoT ในปักกิ่ง มหาวิทยาลัยนี้อยู่เป็นอันดับหนึ่งด้วย เลยตัดสินใจเลือกเรียนที่นี้ค่ะ

วิชาหลักส่วนหนึ่งของสาขา IoT จะเรียนด้วยกันกับนักศึกษาสาขา Computer Science ที่แยกออกมาเรียนเป็นวิชาของคณะตัวเอง อย่างเช่น IoT Communication Technology, IoT Data Processing, RFID และมีวิชาให้เลือกเรียนในด้าน IoT ที่ตัวเองสนใจตอนปี 3-4 การเลือกเรียนที่นี่ ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคนว่าอยากเรียนวิชาอะไร ทางมหาวิทยาลัยจะมีข้อกำหนดว่าก่อนจบ ต้องเรียนให้ครบกี่หน่วยกิต ส่วนวิชาพื้นฐานที่ได้เรียน ได้แก่ แคลคูลัส ฟิสิกส์ ภาษา C ช่วงก่อนไปเรียนเราได้หาข้อมูลใน Baidu (เว็บไซต์ Search Engine ของจีน ) ว่าคณะนี้ปี 1 เรียนวิชาไหนบ้าง เราก็ได้เตรียมตัวซื้อหนังสือวิชาที่คิดว่าต้องได้เรียนแน่ ๆ เป็นภาษาไทยติดตัวไปด้วย เพราะกลัวว่าถ้าเรียนไม่เข้าใจ ยังสามารถเปิดหนังสือทำความเข้าใจเองได้

The 23rd China International Software Expo of 2019

การปรับตัวในปีแรกที่ต้องเรียนกับนักศึกษาจีนถือว่ายาก อาจารย์บางท่านสำเนียงฟังยากและพูดเร็ว เป็นเรื่องที่นักเรียนต่างชาติที่เรียนภาคภาษาจีนต้องเจอ ดังนั้นการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจึงควรผ่าน HSK ระดับ 5-6 และต้องมีความตั้งใจเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทบทวนและทำความเข้าใจเนื้อหานอกห้องเรียนด้วย เพราะมีคำศัพท์ภาษาจีนที่เราต้องทำความเข้าใจเยอะมาก ถ้าเราไม่เข้าใจบทแรก บทต่อไปอาจไม่เข้าใจไปด้วย บางวิชาให้เพื่อนต่างชาติหรือเพื่อนคนจีนอธิบายให้ฟัง

เรื่องสำคัญในการเรียนอีกเรื่อง คือ กฎการให้คะแนนของแต่ละวิชา เช่น วิชานี้แบ่งการให้คะแนนเป็น สอบ 60% การบ้าน 40% เข้าเรียน 10% ถ้าส่งการบ้านครบทุกครั้งและไม่ขาดเรียน จะทำให้ช่วงสอบมีความกดดันน้อยลง วิธีการเตรียมตัวสอบที่ได้เรียนรู้จากเพื่อนคนจีน คือ เอาข้อสอบของปีก่อน ๆ มาฝึกทำก่อนสอบเพื่อเก็งคำถาม ถ้าเราสามารถเข้าใจวิธีแก้โจทย์แนวนี้ได้ จะทำให้สามารถแก้โจทย์ในข้อสอบได้

นอกจากเรียนแล้ว เมย์ได้เข้าไปทำงานในสมาคมนักเรียนไทยในปักกิ่ง ที่เป็นกลุ่มนักเรียนไทยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในปักกิ่ง มารวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนไทยด้วยกัน เช่น งานสงกรานต์ งานลอยกระทง ทำให้ได้เจอเพื่อนใหม่จากหลาย ๆ มหาวิทยาลัย ได้ฝึกการทำงานจริงกับพี่ ๆ เพื่อน ๆ  เมย์เคยรับหน้าที่ออกแบบงานกราฟฟิกและติดต่อสปอร์เซอร์ ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่คุ้มค่า

วันหยุด ก็ออกไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในปักกิ่งและเมืองอื่น ๆ บ้าง ปักกิ่งมี 4 ฤดู ทำให้มีสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมให้ทำค่อนข้างเยอะ การเดินทางในปักกิ่งค่อนข้างสะดวก มีสถานีรถไฟอยู่ทั่วเมืองและราคาถูกค่ะ

กิจกรรมเยื่ยมชมบริษัท Tencent
อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]