• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • แอร์ คาร์โก้ ธุรกิจที่น่าจับตามองของนครหนานหนิง หนานหนิง-กรุงเทพฯ เปิดฤกษ์ขนสินค้าทะลุ 2 หมื่นตัน

แอร์ คาร์โก้ ธุรกิจที่น่าจับตามองของนครหนานหนิง หนานหนิง-กรุงเทพฯ เปิดฤกษ์ขนสินค้าทะลุ 2 หมื่นตัน

ไฮไลท์

  • ปัจจุบัน ธุรกิจขนส่งทางอากาศ หรือแอร์ คาร์โก (Air Cargo) กำลังทวีบทบาทสำคัญมากขึ้นในระบบการค้าและโลจิสติกส์ระหว่งประเทศ ยิ่งท่ามกลางสภาวะธุรกิจการค้ายุคใหม่ที่ทั่วโลกต้องปรับตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการในการขนส่งสินค้าทางอากาศเติบโตเพิ่มขึ้น และคาดว่าแนวโน้มธุรกิจแอร์ คาร์โกจะยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง
  • “ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” เป็นอีกหนึ่งช่องทางใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ ในการบุกเบิกตลาดสินค้าสัตว์น้ำมีชีวิต กล้วยไม้ไทย และสินค้าทั่วไปที่ซื้อขายในรูปแบบ Cross-border e-Commerce เพื่อเจาะตลาดจีนตอนใต้ได้
  • ล่าสุด ท่าอากาศยานหนานหนิง มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศทะลุ 20,000 ตันแล้ว หลังจากที่เครื่องบินขนส่งสินค้าในเส้นทาง “นครหนานหนิง-กรุงเทพฯ” ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า โดยเที่ยวบินดังกล่าวมีบริษัท Zhongyuan Longhao Airlines Co.,Ltd. (中原龙浩航空有限公司) ผู้ดำเนินการ
  • ในอนาคต ภายหลังจากที่ “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานแห่งนี้ได้พัฒนาแล้วเสร็จ และผ่านการตรวจรับจาก GACC แล้ว ท่าอากาศยานแห่งนี้จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยสร้าง “โอกาส” ให้กับผลไม้ไทยที่มีศักยภาพชนิดอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนัก ผลไม้เกรดพรีเมียม รวมถึงผลไม้มีเงื่อนไขด้านเวลาและการขนส่ง (บอบช้ำง่าย เน่าเสียง่าย) อาทิ ลองกอง ขนุน ชมพู่ มะขาม จากผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้ง 22 ชนิดได้อีกด้วย

 

ด้วยความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจการค้า และยุทธศาสตร์ Gateway to ASEAN ในทุกมิติ ทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (Nanning Wuxu International Airport/南宁吴圩国际机场) กลายเป็นหนึ่งในด่านสากลทางอากาศที่สำคัญที่รัฐบาลกว่างซี(จีน) กำหนดตำแหน่งให้เป็น Hub การบินที่ใช้เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะด้านการค้าและการแลกเปลี่ยนภาคประชาชน

ปัจจุบัน ธุรกิจขนส่งทางอากาศ หรือแอร์ คาร์โก (Air Cargo) กำลังทวีบทบาทสำคัญมากขึ้นในระบบการค้าและโลจิสติกส์ระหว่งประเทศ ยิ่งท่ามกลางสภาวะธุรกิจการค้ายุคใหม่ที่ทั่วโลกต้องปรับตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการในการขนส่งสินค้าทางอากาศเติบโตเพิ่มขึ้น และคาดว่าแนวโน้มธุรกิจแอร์ คาร์โกจะยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง

ปี 2564 นับเป็น ปีทอง” ของการเปิดให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศของท่าอากาศยานหนานหนิงเพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งการเพิ่มความถี่ของเส้นทางบินเดิมและการเปิดให้บริการในเส้นทางบินใหม่ไป-กลับ นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ โฮจิมินต์ มะนิลาและดาเวา (ฟิลิปปินส์) ปัจจุบัน มีเที่ยวบินคาร์โก้ต่างประเทศ 9 เส้นทาง ไปยัง 6 ประเทศในอาเซียน

ล่าสุด ท่าอากาศยานหนานหนิง มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศทะลุ 20,000 ตันแล้ว หลังจากที่เครื่องบินขนส่งสินค้าในเส้นทาง “นครหนานหนิง-กรุงเทพฯ” ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า โดยเที่ยวบินดังกล่าวมีบริษัท Zhongyuan Longhao Airlines Co.,Ltd. (中原龙浩航空有限公司) ผู้ดำเนินการ

ที่ผ่านมา สินค้าที่ขนส่งมาที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นไปรษณีย์ภัณฑ์ที่สั่งซื้อผ่านระบบ Cross-border e-Commerce สินค้าทั่วไป และชิ้นส่วนที่ใช้ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง ขณะที่สินค้าที่รับจากกรุงเทพฯ กลับไปที่นครหนานหนิง ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล ปลาสวยงาม ดอกกล้วยไม้ และพืชผัก

      การดำเนินงานเชิงรุกของท่าอากาศยานหนานหนิง เพื่อส่งเสริมผลักดันการเติบโตของธุรกิจแอร์ คาร์โก อาทิ

  • มุ่งส่งเสริมการเปิดให้บริการเส้นทางบินคาร์โก้ (All cargo) และดึงดูดให้สายการบินที่เป็น All cargo ไปตั้งเครือข่ายสำนักงานที่สนามบิน (เช่น Tianjin Air Cargo, Hangzhou Yuantong Air Cargo) และสนับสนุนให้สายการบินปรับเที่ยวบินผู้โดยสารเป็นเที่ยวบินขนส่งสินค้า และพัฒนาเครือข่ายเส้นทางบินคาร์โก้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
  • พัฒนาโมเดลการขนส่งสินค้าทางอากาศกับพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ Greater Bay Area หรือ GBA (กวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า) พื้นที่แถบเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (เซี่ยงไฮ้ เจ้อเจียง เจียงซู) ในลักษณะการแวะ/เปลี่ยนถ่าย (transit) ที่ท่าอากาศยานหนานหนิง
  • พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับงานขนส่งได้มากขึ้น ที่ผ่านมา เพิ่งเปิดใช้ คลังสินค้าระหว่างประเทศ” ซึ่งสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ 80,000 ตัน/ปี และกำลังก่อสร้าง “ศูนย์คมนาคมขนส่งภาคพื้นดิน” หรือ Ground Transportation Centre (GTC) ซึ่งจะเป็นชุมทางการขนส่งหลายรูปแบบ รวมถึงรถไฟความเร็วสูงด้วย
  • พัฒนาฟังก์ชันของด่านอากาศยานให้มีความพร้อมครบครัน มีฟังก์ชันรองรับการนำเข้า-ส่งออกอย่างครบครัน ทั้งสินค้าทั่วไป พัสดุส่งด่วนและไปรษณียภัณฑ์ รวมถึงสินค้ามีชีวิต (มีการนำเข้ากุ้งขาวแวนนาไมค์มีชีวิตจากไทย)

หลายปีมานี้ การขนส่งสินค้าทางอากาศของท่าอากาศยานหนานหนิงมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ปริมาณขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 821.7 ตันในปี 2560 เป็น 2,294.99 ตันในปี 2562 (1.8 เท่า) และเพิ่มเป็น 10,858.4 ตันในปี 2563 (3.7 เท่า) และทะลุ 20,000 ตันแล้วในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564

ทั้งนี้ กว่างซีได้กำหนดแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี ในการพัฒนาท่าอากาศยานนครหนานหนิงเป็น Hub การขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2565 จะมีปริมาณขนถ่ายสินค้า 40,000 ตัน และปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 60,000 ตัน นอกจากการเชื่อมโยงเส้นทางบินหลักในประเทศแล้ว ยังมุ่งพัฒนาเส้นทางบินให้ครอบคลุมหัวเมืองสำคัญในอาเซียนด้วย

ปัจจุบัน สินค้าที่ใช้บริการแอร์ คาร์โกของท่าอากาศยานหนานหนิง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ซื้อขายขายแพลตฟอร์ม e-Commerce สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ทั้งจากในพื้นที่และจากพื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญของจีน  ขณะที่สินค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารทะเล งานศิลปะหัตถกรรม และสินค้า OTOP ท้องถิ่น

บีไอซี เห็นว่า “ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” เป็นอีกหนึ่งช่องทางใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ ในการบุกเบิกตลาดสินค้าสัตว์น้ำมีชีวิต กล้วยไม้ไทย และสินค้าทั่วไปที่ซื้อขายในรูปแบบ Cross-border e-Commerce เพื่อเจาะตลาดจีนตอนใต้ได้

ปีนี้ นครหนานหนิงเตรียมขยายโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งนี้ให้มีศักยภาพรองรับงานขนส่งทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้น อาทิ ทางวิ่งเส้นที่ 2 ความยาว 3.8 กิโลเมตร รวมทั้งการเร่งเตรียมการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่ 3 (Terminal 3) และคลังสินค้า เพื่อให้มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 48 ล้านคนครั้ง และปริมาณสินค้าทั้งในและต่างประเทศรวม 5 แสนตัน

ทั้งนี้ ผู้ค้าไทยสามารถใช้จุดได้เปรียบจากทำเลที่ตั้ง เพื่อใช้ท่าอากาศยานหนานหนิงเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังเมืองและมณฑลต่างๆ โดยไม่จำกัดรูปแบบการขนส่งเชื่อมต่อเฉพาะเครื่องบินเท่านั้นแต่ยังสามารถใช้รูปแบบการขนส่งทางถนนและทางรถไฟที่เชื่อมโยงถึงกันได้อีกด้วย

ในอนาคต ภายหลังจากที่ “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานแห่งนี้ได้พัฒนาแล้วเสร็จ และผ่านการตรวจรับจาก GACC แล้ว ท่าอากาศยานแห่งนี้จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยสร้าง “โอกาส” ให้กับผลไม้ไทยที่มีศักยภาพชนิดอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนัก ผลไม้เกรดพรีเมียม รวมถึงผลไม้มีเงื่อนไขด้านเวลาและการขนส่ง (บอบช้ำง่าย เน่าเสียง่าย) อาทิ ลองกอง ขนุน ชมพู่ มะขาม จากผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้ง 22 ชนิดได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการ GTC ในการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อระหว่างเครื่องบินกับรถไฟความเร็วสูง เพื่อการลำเลียงและกระจายสินค้าไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีนได้ด้วย

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com.cn (中新社广西) วันที่ 09, 10 ธันวาคม 2564

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]