• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • เมืองชิงต่าวเปิดให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 1 ตลอดสาย ลอดใต้ทะเลยาวที่สุดในจีน 8.1 กิโลเมตร การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของเมืองชิงต่าว

เมืองชิงต่าวเปิดให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 1 ตลอดสาย ลอดใต้ทะเลยาวที่สุดในจีน 8.1 กิโลเมตร การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของเมืองชิงต่าว

นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เมืองชิงต่าวได้มีการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินอย่างต่อเนื่อง โดยในทุก ๆ ปลายปีจะเปิดให้บริการ ซึ่งแต่ละครั้งที่เปิดใช้บริการ ทำให้ประชาชนเมืองชิงต่าวสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นกับเมืองชิงต่าวในอนาคต

ในเดือนธันวาคม 2564 เมืองชิงต่าวพร้อมเปิดให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 1 (สีเหลือง) ตลอดสาย โดยเป็นสายที่มีเส้นทางลอดใต้ทะเลที่ยาวที่สุดในจีน ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร (สาย 8 ระยะทาง 5.4 กิโลเมตร) มีระยะทางตลอดสาย 60 กิโลเมตร รวม 41 สถานี ใช้เวลาในการเดินทาง 98 นาที ตั๋วรถไฟฟ้าใต้ดินมีราคาเริ่มต้นที่ 2 หยวน หรือประมาณ 10 บาท ใน 5 กิโลเมตรแรก และมีราคาสูงสุดที่ 12 หยวน หรือประมาณ 63 บาท เริ่มจากสถานีหวังเจียก่าง (王家港) ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ชายฝั่งตะวันตก ถึงสถานีตงกัวจวง (东郭庄) ในเขตเฉิงหยาง ขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าด้วย (Tunnel Boring Machine: TBM) และมีส่วนที่ลึกที่สุดจากพื้นผิวทะเล 81 เมตร นับเป็นการก่อสร้างเส้นทางลอดใต้ทะเลที่มีความยากที่สุดในจีน โดยเชื่อมต่อเครือข่ายคมนาคมของเมืองเข้ากับรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 2 และสาย 3

ปัจจุบัน เมืองชิงต่าวมีเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินให้บริการทั้งหมด 6 สาย รวมเป็นระยะทาง 284 กิโลเมตร จัดอยู่ใน 10 อันดับแรกของเมืองที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าให้บริการมากที่สุดในประเทศ

การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 1 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชน ระบบการคมนาคม และโครงสร้างต่าง ๆ ของเมืองชิงต่าว ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงทางด้านคมนาคมระหว่างเขตเมืองชิงต่าวและเขตหวงต่าว

เดิมที เมืองชิงต่าวและเขตหวงต่าว มีระยะทางที่ห่างจากกัน เนื่องจากมีอ่าวเจียวโจวที่คั่นกลาง ทำให้เกิดความรู้สึกที่ห่างเหินของประชาชนชาวเมืองชิงต่าว บางคนคิดว่าจากเมืองชิงต่าวไปยังเขตหวงต่าวนั้น เหมือนการเดินทางที่ข้ามไปอีกเมืองหนึ่งในประเทศจีน การเปิดใช้รถไฟฟ้าใต้ดินสาย 1 ส่งผลให้ความเป็นอยู่ระหว่างกันของประชาชนทั้งสองเขตมีความใกล้ชิด สะดวกสบาย และเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกันได้สะดวกมากขึ้น

ในอดีต ก่อนการก่อสร้างอุโมงค์ลอดทะเล (เส้นทางถนน) การเดินทางจากเขตเมืองชิงต่าวไปเขตหวงต่าว ต้องอาศัยเรือข้ามฟาก ใช้เวลากว่า 30 นาที ซึ่งเป็นระบบการขนส่งที่ล้าสมัยและด้อยคุณภาพ ไม่สามารถสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว และทันสมัย

หลังจากที่มีการเปิดใช้อุโมงค์ลอดทะเล เมื่อปี 2554 ทั้งสองเขตก็มีการความใกล้ชิดมากขึ้น แต่เนื่องจากจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความแออัด และการจราจรที่ติดขัด จึงยังไม่เห็นผลดีและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กอปรกับมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ค่อนข้างสูง ถึงแม้จะมีรถโดยสารประจำทาง แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์และตรงกับความต้องการของประชาชน อาจกล่าวได้ว่า ยังคงเป็นปัญหาในการเดินทางระหว่างทั้งสองเขต

หลังจากที่มีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 1 การแลกเปลี่ยนระหว่างกันของทั้งสองเขต ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพียง 6 นาที ในการข้ามทะเล สามารถไปถึงจุดหมายด้วยความรวดเร็ว สะดวกสบาย ปลอดภัย และตรงต่อเวลาในการเดินทาง เข้าถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนของทั้งสองเขตได้ สยบคำกล่าวในอดีต สู่การพัฒนา จากระบบเรือข้ามฟาก มาเป็นการเจาะอุโมงค์ และเข้าสู่ระบบการขนส่งรถไฟฟ้าใต้ดิน

2. ฟื้นเมืองเก่าให้มีชีวิต”ของพื้นที่ย่านเมืองเก่าฝั่งตะวันตกของเมืองชิงต่าว

พื้นที่ย่านเมืองเก่าของเมืองชิงต่าว นับเป็นรากฐาน และจุดเริ่มต้นของการพัฒนา และเป็นพื้นที่ที่มีการสั่งสมของประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ ผ่านไป 30 ปี ทําให้หลายพื้นที่ในย่านเมืองเก่ามีสภาพเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากการขยายเขตการพัฒนาเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ฝั่งตะวันออก และฝั่งเหนือของเมืองชิงต่าว ทำให้เกิดเขตเมืองใหม่และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พื้นที่ย่านเมืองเก่าของเมืองชิงต่าว อาทิ ถนนจงซาน (中山路) ถายตง (台东) เหล่าซื่อฟาง (老四方) ชางโข่ว (沧口) จึงได้กลายเป็นเขตชุมชนเก่าและเขตอุตสาหกรรมเก่า ด้วยข้อจำกัดและปัจจัยต่าง ๆ ความล้าหลังต่อการพัฒนาในยุคสมัยใหม่

การคมนาคมมีส่วนสำคัญในการพัฒนาที่ล่าช้าในพื้นที่ย่านเมืองเก่าของเมืองชิงต่าว ด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานและระบบการคมนาคมที่ไม่สมบูรณ์ ลำบากในการจอดรถ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้น วัยรุ่นจำนวนมากจึงเลือกที่จะออกไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เขตพัฒนาอื่น ๆ ทำให้ความมีชีวิตชีวาของพื้นที่ย่านเมืองเก่าลดลง

ในปัจจุบัน การฟื้นฟูพื้นที่ย่านเมืองเก่า ได้กลายเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของเมืองชิงต่าว นั่นคือ การพัฒนาระบบคมนาคม โดยการเปิดบริการรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 1 นับเป็นช่วงเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม ที่จะเชื่อมต่อพื้นที่ย่านเมืองเก่าฝั่งตะวันตกของเมืองชิงต่าว รวมเข้ากับเครือข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 1 เพียงเส้นทางเดียว ที่เข้าสู่ช่องทางการพัฒนาที่รวดเร็ว ช่วยให้ประชาชนมองเห็นการฟื้นฟูพื้นที่ย่านเมืองเก่าของเมืองชิงต่าวกลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น

3. หลอมรวมพื้นที่ 3 มุมเมืองของเมืองชิงต่าวเข้าด้วยกัน

เมืองชิงต่าว เป็นเมืองที่มีรูปแบบลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ “พื้นที่ 3 มุมเมือง” ประกอบด้วย เขตเมืองฝั่งเหนือ ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก ที่รวมกันเป็นโครงสร้างของเมืองชิงต่าว สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะเชื่อมต่อกัน คือ การคมนาคม หากระบบการคมนาคมระหว่างกันไม่สะดวก ไม่ราบรื่น การพัฒนาของเมืองของชิงต่าวก็จะถูกจำกัด และลดโอกาสในการก้าวไปสู่เมืองระดับที่สูงขึ้นในอนาคต

ระบบการคมนาคมที่สะดวกและสมบูรณ์ สามารถทำให้โครงสร้างเมืองชิงต่าวมีขนาดกะทัดรัดมากขึ้น สามารถรวมกันเป็นหนึ่งเดียว และอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตประจำวันของประชาชน นี่คือภารกิจและบทบาทสำคัญของรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 1

ตามนโยบาย “เส้นเดียวที่ข้ามทะเลที่มีการเชื่อมกันถึง 5 เขต” ระหว่างเขตฝั่งตะวันตก ตะวันออก และฝั่งเหนือของเมืองชิงต่าว คือ (1) เขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ชายฝั่งตะวันตก (西海岸新区) (2) เขตซื่อหนาน (市南区) (3) เขตซื่อเป่ย (市北区) (4) เขตหลี่ชาง (李沧区) (5) เขตเฉิงหยาง (城阳区) และยังเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่น ๆ 3 สถานี ได้แก่ สถานี Qingdao (青岛站) สถานี Qingdao North (青岛北站) และ Northern Bus Terminal (汽车北站) เป็นครั้งแรกที่เชื่อมต่อระหว่างเขตเมืองฝั่งเหนือ และเขตเมืองฝั่งตะวันตก ที่มีการเชื่อมต่อกันอย่างราบรื่น และลดระยะห่างระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างพื้นที่ 3 มุมเมืองอย่างเห็นได้ชัด

หลังจากที่ 3 มุมเมืองของเมืองชิงต่าวหลอมรวมกันแล้วก็จะเกิดความสมดุลมากขึ้น สามารถจัดสรรทรัพยากรได้ตามเป้าหมาย ออกแบบเมืองและจัดให้เป็นระเบียบได้ และชีวิตประจำวันของประชาชนจะสะดวก และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น เป็นการวางรากฐานที่ดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อไปของเมืองชิงต่าว

หมายเหตุ:
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 รัฐบาลได้เปลี่ยนเขตหวงต่าว (黄岛区) เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ชายฝั่งตะวันตก (西海岸新区) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงความร่วมมือและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ฯลฯ

 

 

 

แหล่งที่มาและรูปภาพประกอบ:
https://news.qingdaonews.com/qingdao/2021-12/23/content_23021009.htm (วันที่ 23 ธ.ค. 2564)
https://news.qingdaonews.com/qingdao/2021-12/23/content_23020362.htm (วันที่ 23 ธ.ค. 2564)
https://sd.dzwww.com/sdnews/202112/t20211223_9598045.htm (วันที่ 23 ธ.ค. 2564)
https://xw.qq.com/partner/vivoscreen/20211207A06E4M/20211207A06E4M00?isNews=1
https://view.inews.qq.com/a/20211223A071Y300 (วันที่ 23 ธ.ค. 2564)
http://qd.bendibao.com/traffic/20201224/61450.shtm (วันที่ 23 ธ.ค. 2564)
https://sd.dzwww.com/sdnews/202112/t20211224_9603353.htm (วันที่ 24 ธ.ค. 2564)
https://sd.dzwww.com/sdnews/202112/t20211224_9603352.htm (วันที่ 24 ธ.ค. 2564)
https://news.qingdaonews.com/qingdao/2021-12/24/content_23021993.htm (วันที่ 24 ธ.ค. 2564)
https://news.qingdaonews.com/qingdao/2021-12/24/content_23021992.htm (วันที่ 24 ธ.ค. 2564)

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]