เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 อำเภอจินถาง นครเฉิงตู จัดพิธีเปิดโครงการเขตสาธิตการพัฒนาโซลาร์เซลล์ และโครงการเมืองบุกเบิกการผลิตสีเขียว ณ ศูนย์การประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติไหวโจว ภายในงานมีการลงนามในโครงการอุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจำนวน 10 โครงการ ด้วยเงินลงทุนรวม 1.294 หมื่นล้านหยวน

โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตโซลาร์เซลล์ซิลิคอน การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา และการผลิตแบตเตอรี่พลังงานสะอาด โดย 9 จาก 10 โครงการที่ลงนามในครั้งนี้ตั้งอยู่ในเขตไหวโจว ซึ่งเป็นเขตเมืองใหม่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระดับแสนล้านหยวนของนครเฉิงตู

บริษัท Hebei Haisheng Industrial Group วางแผนลงทุน 2 พันล้านหยวนเพื่อสร้างสายการผลิตแผงโซลาร์เซลล์น้ำหนักเบาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง คาดว่าจะสามารถผลิตแผงโซลาร์เซลล์ได้ 144 ล้านตารางเมตรต่อปี ในขณะที่บริษัท Sichuan Changhong Runtian Energy Technology Co., Ltd. มีแผนสร้างฐานการผลิตแบตเตอรี่พลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุดในจีนตะวันตก

ในปี 2564 กระทรวงพลังงานจีนได้ขึ้นทะเบียนให้อำเภอจินถางเป็นเขตสาธิตการพัฒนาโซลาร์เซลล์ โดยการติดตั้งบนหลังคาของหน่วยงานรัฐบาล โรงเรียน โรงพยาบาล อาคารสาธารณะ อาคารพาณิชย์ และที่อยู่อาศัยของประชาชนทั่วทั้งอำเภอ ด้วยมูลค่าการลงทุน 5 พันล้านหยวน โดยในระยะแรกมีแผนลงทุน 800 ล้านหยวน ซึ่งจะสามารถผลิตไฟฟ้า 206 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี เทียบเท่ากับการผลิตโดยใช้ถ่านหิน 84,600 ตัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 159,900 ตัน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 1,100 ตัน ลดการปล่อยควัน 5,000 ตัน และสามารถลดการใช้น้ำได้ 452,200 ลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ อำเภอจินถางยังได้ทำความร่วมมือกับเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบตเชียงอาป้า มณฑลเสฉวน กำหนดให้อำเภอจินถางเป็นฐานการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และให้เขตฯ อาป้าเป็นฐานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของนครเฉิงตู ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นพลังงานหมุนเวียนที่ใช้แล้วไม่หมดไปและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั่วทั้งอำเภอที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้ประชาชนได้ใช้พลังงานสะอาด แต่ยังเป็นการลดต้นทุนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย

ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งสามารถรับพลังงานแสงอาทิตย์ที่เข้มข้น และเพียงพอต่อการผลิตพลังงานไฟฟ้า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เช่น โครงการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ ปัจจุบันแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมีราคาถูกลง ในอนาคตอาจมีการพิจารณาสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น อาทิ การเพิ่มราคาและเพิ่มจำนวนรับซื้อไฟฟ้า การมอบเงินอุดหนุนสำหรับติดตั้งและบำรุงรักษาโซลาร์เซลล์ รวมถึงการเพิ่มการลงทุน และการลดภาษีสำหรับธุรกิจโซลาร์เซลล์ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน และส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน นับเป็นการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์กับประชาชน

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ cdrb.com (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565)

http://www.cdrb.com.cn/epaper/cdrbpc/202202/11/c93911.html

ที่มา : https://thaibizchina.com/