ไฮไลท์

  • ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ทำให้หลายประเทศตื่นตัวและประกาศนโยบายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon neutrality)
  • กลุ่มธนาคารนับว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวผ่านกลไกการเงินเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และเปลี่ยนผ่านสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว” ให้เร็วขึ้น รวมถึงในประเทศจีน โดยสถาบันการเงินในมณฑลต่างๆ ได้ทยอยออกผลิตภัณฑ์การเงินสีเขียวแล้ว ไม่เว้นแม้แต่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
  • เมื่อไม่นานมานี้ Guangxi Beibu-Gulf Bank ได้อนุมัติ “สินเชื่อสีเขียว” ให้กับบริษัทผู้ผลิตกระดาษยักษ์ใหญ่ Guangxi Jingui Pulp & Paper มูลค่า 50 ล้านหยวน นับเป็นผลิตภัณฑ์การเงินสีเขียวชิ้นแรกของมณฑล ซึ่งสะท้อนถึงนวัตกรรมความก้าวหน้าครั้งสำคัญในแวดวง “การเงินและสินเชื่อ” ของเขตฯ กว่างซีจ้วง
  • “สินเชื่อสีเขียว” ที่ว่า…เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อดังกล่าวช่วยเสริมสภาพคล่องหมุนเวียนให้กับสินทรัพย์คาร์บอน หรือ Carbon asset ของภาคธุรกิจ เป็นการแปลงสภาพสินทรัพย์ไม่มีตัวตนหรือจับต้องไม่ได้ (Intangible assets) อย่าง “คาร์บอนเครดิต” ให้เป็นหลักประกันในการกู้เงินจากธนาคาร
  • การดำเนินนโยบาย “การเงินสีเขียว” สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของกว่างซีในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อส่งเสริมบรรยากาศการลงทุน ช่วยให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ และเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยให้ภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่ลงทุนอยู่ในพื้นที่สามารถการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยสามารถเรียนรู้เพื่อต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินในประเทศ โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย นอกจากนี้ ยังเป็นลู่ทางใหม่ของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจไทยที่สนใจกว่างซีด้วย

 

หลายปีมานี้ ทั่วโลกตื่นตัวกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ หลายประเทศได้ประกาศนโยบายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน”  (carbon neutrality) รวมถึงกลุ่มธนาคารซึ่งกลายเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวผ่านกลไกการเงินเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และเปลี่ยนผ่านสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว” ให้เร็วขึ้น

ในประเทศจีน นอกจากการจัดตั้งตลาดคาร์บอน (Carbon market) เพื่อซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้ว ธนาคารกลางจีนได้เริ่มใช้เครื่องมือนโยบายการเงินใหม่ที่เรียกว่า “Carbon emission reduction facility” เพื่อส่งเสริมการพัฒนา “เศรษฐกิจสีเขียว” โดยธนาคารกลางให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินเพื่อจัดสรรสภาพคล่องแบบเจาะจงให้บางภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ

อย่างเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ธนาคารกลางจีนได้ประกาศให้เงินกู้กับสถาบันการเงินจำนวน 60% ของเงินต้นที่ปล่อยเงินกู้ให้กลุ่มธุรกิจเป้าหมายที่เข้าเกณฑ์การลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน พลังงานสะอาด อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันการเงินจะต้องคิดดอกเบี้ยในโครงการ “สินเชื่อสีเขียว” ในอัตราที่ต่ำแบบมีระยะเวลา (อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของธนาคารกลางจีน) โดยสถาบันการเงินในมณฑลต่างๆ ได้ทยอยออกผลิตภัณฑ์การเงินสีเขียวแล้ว รวมถึงเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

เมื่อไม่นานมานี้ Guangxi Beibu-Gulf Bank ได้อนุมัติ “สินเชื่อสีเขียว” ให้กับบริษัทผู้ผลิตกระดาษ Guangxi Jingui Pulp & Paper (广西金桂浆纸业有限公司) ในเครือยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Sinar Mas Group ของอินโดนีเซียที่ตั้งอยู่ในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยชินโจว มูลค่า 50 ล้านหยวน นับเป็นผลิตภัณฑ์การเงินสีเขียวชิ้นแรกของมณฑล ซึ่งสะท้อนถึงนวัตกรรมความก้าวหน้าครั้งสำคัญในแวดวง “การเงินและสินเชื่อ” ของเขตฯ กว่างซีจ้วง

“สินเชื่อสีเขียว” เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อดังกล่าวช่วยเสริมสภาพคล่องหมุนเวียนให้กับสินทรัพย์คาร์บอน หรือ Carbon asset ของภาคธุรกิจ เป็นการแปลงสภาพสินทรัพย์ไม่มีตัวตนหรือจับต้องไม่ได้ (Intangible assets) อย่าง “คาร์บอนเครดิต” ให้เป็นหลักประกันในการกู้เงินจากธนาคาร

กล่าวคือ ผู้กู้จะใช้สิทธิเก็บกิน หรือ usufruct ที่คาดว่าจะได้รับจากคาร์บอนเครดิตในธุรกิจของตนเองเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันกับธนาคารที่ให้กู้นั่นเอง ผลิตภัณฑ์การเงินสีเขียวดังกล่าวเป็นนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ช่วยตอบสนองความต้องการทางการเงินให้กับภาคธุรกิจเพื่อการขยายธุรกิจ และช่วยลดต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจด้วย

บีไอซี เห็นว่า การดำเนินนโยบาย “การเงินสีเขียว” ข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของกว่างซีในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อส่งเสริมบรรกาศการลงทุน ช่วยให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ และเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยให้ภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่ลงทุนอยู่ในพื้นที่สามารถการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยสามารถนำไปเรียนรู้เพื่อต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินในประเทศ โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย นกจากนี้ ยังเป็นลู่ทางใหม่ของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจไทยที่สนใจกว่างซีด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซตhttp://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 04 มกราคม 2565

ที่มา : https://thaibizchina.com/