เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565  สำนักงานกำกับดูแลการตลาดนครฉงชิ่ง เปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการบางส่วนได้ใส่ผงและทองคำเปลว-ฟอยล์เงินในอาหาร เพื่อยกระดับอาหารให้ดูมีราคาและน่ารับประทาน โดยส่วนใหญ่จะใส่ในอาหาร เช่น เค้ก ช็อคโกแลต และเมนูอาหารราคาแพง ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางอาหาร สำนักงานฯ จึงได้ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมผู้ประกอบการธุรกิจอาหารที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ใส่ผงและทองคำเปลว-ฟอยล์เงินในอาหาร โดยตรวจสอบผู้ประกอบการร้านอาหาร เว็บไซต์ขายอาหารออนไลน์ และร้านค้าออนไลน์ทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการผลิต การขายและการให้บริการ ตรวจสอบการทำธุรกรรมซื้อขายผงและทองคำเปลว-ฟอยล์เงิน เพื่อให้ผู้โภคได้รับประทานอาหารที่มีความปลอดภัย และให้ความรู้กับผู้บริโภคเพื่อลดความนิยมในการรับประทานทองคำเปลว

สำนักงานกำกับดูแลตลาดเทศบาลนครฉงชิ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดระเบียบการผลิตและการโฆษณาของวิสาหกิจ รวมถึงตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ 12,478 ราย เพื่อตรวจสอบการทำงานของสถานประกอบการอาหาร 906 แห่ง ผู้ขายอาหาร 4,214 ราย ผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร 3,325 ราย และร้านอาหารบนเว็บไซต์-แพลตฟอร์มออนไลน์ 1,494 ร้าน พิจารณาข้อร้องเรียนแล้วทั้งหมด 44 รายการ และได้ยื่นฟ้องแล้วทั้งหมด 5 คดี

สำนักงานกำกับดูแลการตลาดนครฉงชิ่งยังเปิดเผยอีกด้วยว่า ความเชื่อที่ว่า “การกินทองคำช่วยให้อายุยืน” ไม่เป็นความจริง  ทองคำและเงินไม่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายตามกฎหมายและข้อบังคับด้านความปลอดภัยของอาหารที่เกี่ยวข้องของจีน กำหนดให้ผงและทองคำเปลว-ฟอยล์เงินไม่ใช่วัตถุปรุงแต่งอาหารและไม่สามารถนำมาใช้ในการปรุงอาหารได้

สำนักงานกำกับดูแลการตลาดนครฉงชิ่งสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลความปลอดภัยด้านอาหาร หากพบร้านอาหารที่ผสมผงหรือทองคำเปลว-ฟลอยล์เงินในอาหาร หรือร้านอาหารที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้บริโภคสามารถโทรศัพท์ไปร้องเรียนได้ที่หมายเลข 12315

การใส่ทองคำเปลวในอาหารเป็นอีกหนึ่งเทคนิคการตกแต่งอาหารไทยในสมัยโบราณ ให้ดูสวยงามน่ารับประทาน โดยเฉพาะขนมไทย เช่น จ่ามงกุฎ ทองเอก และดาราทอง ซึ่งในสมัยโบราณใช้ทองคำเปลวบริสุทธิ์ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีการผลิตทองคำเปลววิทยาศาสตร์ที่มีลักษณะคล้ายกันซึ่งผลิตได้ง่ายและใช้ต้นทุนน้อยกว่า แต่เป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงหากผู้ประกอบการไม่มีความรู้ในการเลือกใช้ประเภทของทองคำให้ถูกต้อง และผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นทองคำเปลวชนิดใด การที่นครฉงชิ่งสั่งห้ามไม่ให้นำมาใส่อาหารจึงเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด ในการนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในจีนจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ

ผู้ประกอบการไทยที่มีความประสงค์ในการประกอบธุรกิจในต่างประเทศ ควรศึกษากฎหมาย วัฒนธรรมและพฤติกรรมของผู้บริโภคในเมืองนั้น ๆ ให้ละเอียดถี่ถ้วน รวมถึงอาจพิจารณาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจและด้านกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการกระทำผิดกฎหมายและความไม่เข้าใจวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักข่าว cqnews (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565)

http://cq.cqnews.net/html/2022-03/01/content_948340516832563200.html?spm=0.0.0.0.QyU7GF

ที่มา : https://thaibizchina.com/