Science Technology Innovation Weekly No.12/2565

1. นักวิจัยจีนพัฒนาอิเล็กโทรดชนิดใหม่เชื่อมสมองกับคอมพิวเตอร์แม่นยำสูงสุด

28 มี.ค. 65 – นักวิจัยจีนพัฒนาอิเล็กโทรด (Electrode) หรือขั้วไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่นชนิดใหม่ขนาด 2 ไมครอน ที่ใช้ในระบบเชื่อมสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์มีความแม่นยำสูงสุดในโลก ได้รับการพัฒนาร่วมกันระหว่างนักวิจัยโรงพยาบาลปักกิ่งเทียนถาน มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเทียนจิน สามารถเชื่อมต่อกับนิวเคลียสของเส้นประสาทสมองและการทำงานของเยื่อหุ้มสมองได้อย่างแม่นยำ ช่วยในการผ่าตัดทางประสาท ดูแลการทำงานของระบบประสาท ช่วยลดอัตราทุพพลภาพและอัตราการเสียชีวิตได้

2. ยานอวกาศขนส่งสินค้าเทียนโจว-2 แยกตัวออกจากโมดูลหลักของสถานีอวกาศจีน

28 มี.ค. 65 – องค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน (CMSA) รายงานว่า ยานอวกาศขนส่งสินค้าเทียนโจว-2 (Tianzhou-2) ได้แยกตัวออกจากโมดูลหลักของสถานีอวกาศจีน เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 65 ยานเทียนโจว-2 ได้รับการทดสอบการใช้งานหลายครั้งระหว่างอยู่ในวงโคจร พบอยู่ในสภาพดี และจะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกในเวลาที่เหมาะสม ภายใต้การควบคุมจากภาคพื้นดิน ทั้งนี้ ยานเทียนโจว-2 เป็นยานบรรทุกสินค้าลำแรกที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศจากฐานปล่อยยานอวกาศเหวินชาง มณฑลไห่หนาน พร้อมเสบียงสำหรับสถานีอวกาศหนัก 6.8 ตัน เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 64

3. นักวิจัยจีนพบฟอสซิลนกฮูกที่ออกหากินในเวลากลางวัน

30 มี.ค. 65 – ทีมวิจัยสถาบันบรรพชีวินวิทยา สัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล (IVPP) สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (CAS) ค้นพบฟอสซิลโครงกระดูกสภาพดีของนกฮูกที่สูญพันธุ์บริเวณแอ่งหลินเซี่ย มณฑลกานซู่ ซึ่งตั้งอยู่ขอบที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต โดยเป็นนกฮูกที่ออกหากินตอนกลางวัน และเคยมีชีวิตอยู่ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อ 6 ล้านปีก่อน ถือเป็นการค้นพบนกฮูกโบราณที่ออกหากินตอนกลางวันเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ ปกตินกฮูกเป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน ผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์

4. จีนพบฟอสซิลของปลาหุ้มเกราะที่เก่าแก่ที่สุด

30 มี.ค. 65 – จีนค้นพบฟอสซิลของปลาหุ้มเกราะ (Armored fish) ที่เก่าแก่ที่สุด 2 สายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู๋หนิง มณฑลเจียงซี ได้แก่ ปลาหุ้มเกราะสายพันธุ์ Qingshuiaspis junqing และสายพันธุ์ Anjiaspis ericius เป็นปลาที่มีเกล็ดแข็งเหมือนเกราะหนาหุ้มตัว และเป็นปลาพื้นเมืองที่ไม่มีขากรรไกร ฟอสซิลดังกล่าวมีอายุประมาณ 438 ล้านปีก่อน ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว การค้นพบและผลวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติของ (Journal of Asian Earth Sciences)

5. 3 นักบินอวกาศภารกิจเสินโจว-13 เตรียมกลับสู่โลก

1 เม.ย. 65 – องค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน (CMSA) รายงานว่า ยานอวกาศขนส่งสินค้าเทียนโจว-2 (Tianzhou-2) เผาไหม้เกือบทั้งหมดระหว่างกระบวนการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เศษซากตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ตามที่กำหนดไว้ล่วงหน้า หลังจากนี้ นักบินอวกาศ 3 คนที่ปฏิบัติภารกิจบนยานเสินโจว-13 ก็ได้เตรียมกลับมายังโลกในช่วงกลางเดือนเมษายน ระยะเวลากว่า 160 วัน ของการปฏิบัติภารกิจในอวกาศ นักบินอวกาศทั้ง 3 คนได้รับการสนับสนุนจากบุคลากรทางเทคนิคภาคพื้นดิน จนประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมการสอนบนอวกาศ “ห้องเรียน Tiangong” และ ‘หวังย่าผิง’ เป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีนที่ได้ปฏิบัติภารกิจนอกยานอวกาศ

  • http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2022-03/28/content_532736.htm?div=-1%E0%B8%83
  • https://news.cctv.com/2022/03/27/ARTI0X3ZRB4zEXE7bIWjCffZ220327.shtml?spm=C94212.PGZDd8bkBJCZ.E850fz1ryIUd.5
  • https://mgronline.com/china/detail/9650000030769
  • https://cj.sina.com.cn/articles/view/2661790332/9ea7b27c0200168v7
  • http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2022-04/01/content_533024.htm?div=-1
อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]