รายงานการปฏิรูปและพัฒนาอาชีวศึกษาโดยรวม ในช่วง “แผนพัฒนาฯ 5 ปี ฉบับที่ 13” (2016-2020)

photo : cfp

รายงานการปฏิรูปและพัฒนาอาชีวศึกษาโดยรวมในช่วง “แผนพัฒนาฯ 5 ปี ฉบับที่ 13” (2016-2020)

โดย นายเฉิน จื่อจี้ ผู้อำนวยการกรมอาชีวศึกษาและการศึกษาผู้ใหญ่ กระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

นับตั้งแต่การดำเนินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 เป็นต้นมา นาย สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนและประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางได้ให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษาเป็นอย่างยิ่ง มีการนำร่องการดำเนินการยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษา ทุกมิติ และให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยกำหนดให้มีการยกระดับอาชีวศึกษาเป็นหนึ่งในความจำเป็นรีบด่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาของอาชีวศึกษาอย่างครอบคลุมและส่งเสริมงานต่างๆ อย่างจริงจัง เช่น การพัฒนาและปรับปรุงระบบการบริหารงานของสถานศึกษา ปรับปรุงกลไกการศึกษาและยกระดับคุณภาพการให้บริการ ปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอนและเร่งสร้างระบบอาชีวศึกษาขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เพื่อพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูง

การพัฒนาอาชีวศึกษาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 มีแนวทางที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่

ประการแรก – สนับสนุนและยกระดับสถานะของอาชีวศึกษา

เมื่อเดือนมกราคมปี ค.ศ. 2019 สภาแห่งรัฐหรือคณะรัฐมนตรีแห่งชาติจีนได้ออก “แผนปฏิรูปอาชีวศึกษาแห่งชาติ” กำหนดประเภทของระบบการศึกษาออกเป็น 2 ประเภท คือ สายสามัญและสายอาชีพหรืออาชีวศึกษา ซึ่งมีลักษณะของการเรียนที่แตกต่างกัน แต่มีความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน”  การพัฒนาระบบอาชีวศึกษาถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศ

ในอีกด้านหนึ่ง การเรียนสายอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพ คือ การเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เป็นการเรียนในหลักสูตรที่ไม่ได้เน้นการเรียนวิชาพื้นฐาน ซึ่งเป้าหมายและความสำคัญของอาชีวศึกษา คือ การศึกษาเพื่อเตรียมคนและพัฒนากำลังคน สำหรับการประกอบอาชีพในอนาคตที่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญในการยกระดับและการพัฒนาประเทศ

ในช่วง “แผนพัฒนาฯ 5 ปี ฉบับที่ 13” ได้กำหนดและยกระดับสถานะของอาชีวศึกษาให้มีบทบาทในการให้ความรู้และฝึกอบรมวิชาชีพ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพของอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัย เสริมสร้างทิศทางของสถานศึกษา เพื่อรองรับการพัฒนาและส่งเสริมการจ้างงาน เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการที่เน้นการฝึกปฏิบัติ เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพที่จำเป็นของอาชีวศึกษาตามลักษณะเฉพาะแบบจีน คือ ส่งเสริมการพัฒนาอาชีวศึกษาที่เอื้ออำนวยต่อการฝึกอาชีพได้ สำรวจและปรับปรุงรูปแบบการดำเนินการของสถานศึกษา และส่งเสริมและพัฒนาการจัดอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพด้วยรูปแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ประการที่สอง – มุ่งพัฒนาระบบอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัยด้วยการพัฒนารอบด้าน

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้โรงเรียน 22 แห่งดำเนินโครงการนำร่องส่งเสริมผู้ที่ศึกษาในอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรี โดยบูรณาการจากหลากหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับการศึกษาเชิงวิชาการ ดำเนินการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพและการพัฒนาจิตวิญญาณในวิชาชีพและด้านอื่น ๆ ทำให้โครงสร้างระบบของอาชีวศึกษามีความสมเหตุสมผล และมีจุดยืนที่ชัดเจนและโดดเด่น สร้างฉากทัศน์อาชีวศึกษา แสดงจุด ที่มีความโดดเด่นของอาชีวศึกษา และดำเนินการส่งเสริมโครงการนำร่องต่าง ๆ ที่สำคัญในการพัฒนา

ประการที่สาม – ส่งเสริมให้มีความก้าวหน้า

อาชีวศึกษาได้เข้าสู่ขั้นตอนใหม่ของการพัฒนา มุ่งปรับปรุงคุณภาพและการพัฒนาการบริการสู่ความเป็นเลิศ เพิ่มมูลค่าและยกระดับมาตรฐานการศึกษา โดยได้มีดำเนินการการจัดตั้งระบบการประชุมร่วมกันภายในกระทรวง เพื่อดำเนินงานพัฒนาอาชีวศึกษาภายใต้สภาแห่งรัฐ และเพื่อเป็นกำลังที่สำคัญในการร่วมกันพัฒนาอาชีวศึกษาระหว่างรัฐบาลกลางและหน่วยงานต่าง ๆ ในส่วนท้องถิ่น

ในปี ค.ศ. 1996 จีนได้ประกาศกฎหมายอาชีวศึกษา (ฉบับใหม่) เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพการสอน ปรับกลยุทธ์การสอนของครูมืออาชีพ จัดการเรียนการสอนตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร และส่งเสริมให้นักศึกษาเข้ารับการฝึกเพื่อเตรียมประสบการณ์วิชาชีพ โดยเปิดตัวหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพจำนวน 368 สาขาวิชา หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงจำนวน 779 สาขาวิชา และหลักสูตรนำร่องอาชีวศึกษาประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาตรีจำนวน 80 สาขาวิชา และได้ดำเนินการปรับใช้กลยุทธ์การสอนของครูมืออาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพจำนวน 230 สาขาวิชาและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงจำนวน 347 สาขาวิชาและดำเนินโครงการที่สำคัญต่าง ๆ เช่น หลักสูตรและสถาบันการอาชีวศึกษาชั้นนำที่มีลักษณะจีนในยุคใหม่ เป็นต้น ในด้านของความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับหน่วยงานอื่น ๆ มีการเสริมสร้างกิจกรรมการศึกษา   ที่เน้นการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติ เช่น โครงการฝึกงานและพัฒนาทักษะต่าง ๆ จำนวน 558 แห่ง โดยมีนักศึกษาฝึกงานที่ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองในโครงการดังกล่าวจำนวน 100,000 คน

นอกจากนี้ ยังได้การนำปรัชญาจีน “สามคำสอน” ที่เน้นพัฒนา 3 ด้าน คือ การพัฒนาบุคลากรครูผู้สอน การพัฒนาวิธีการสอน และการพัฒนาสื่อการสอน มาปรับใช้ เพื่อส่งเสริมการจัดการแข่งขันทักษะการสอนของวิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมความสามารถของครูในการออกแบบกิจกรรมการเรียน การสอนที่เน้นการพัฒนาทักษะ และจัดหาทรัพยากรสารสนเทศที่หลากหลายเพื่อการศึกษาค้นคว้าระดับประเทศ เป็นต้น

ประการที่สี่ – ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เกิดจากการฝึกฝน

ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะบุคลากร เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยได้การดำเนินการตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งสถาบันการอาชีวศึกษาทั่วประเทศได้ทำการเปิดหลักสูตรมากกว่า 1,200 สาขา และจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพมากกว่า 100,000 แห่ง ครอบคลุมภาคธุรกิจเกือบทุกด้าน ในแต่ละปีได้ดำเนินการบ่มเพาะบุคลากรด้านเทคนิคประมาณ 10 ล้านคน ในสาขาการผลิตสมัยใหม่ อุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์ และอุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ เป็นต้น และได้ดำเนินการพัฒนาความร่วมมือระหว่างสถาบันการอาชีวศึกษาตะวันออก – ตะวันตก โดยจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรอาชีวศึกษา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยอย่างครอบคลุม จัดสรรเงินทุนและอุปกรณ์มากกว่า 1.8 พันล้านหยวน จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพ 338 แห่ง โดยมีผู้ได้รับการฝึกอบรมทักษะกว่า 140,000 คน ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานกว่า 160,000 คน  และผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการเป็นผู้ประกอบการกว่า 23,000 คน

ในด้านของการแก้ไขปัญหาความยากจน นักเรียน นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาส่วนใหญ่มาจากสภาพสังคมชนบทมากกว่า 70% ทางสถาบันอาชีวศึกษาได้จัดหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด เช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิคซุ่นเต๋อ เปิดตัวโครงการฝึกอบรมเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ยากจน ด้วยการเปิดสอนการทำอาหาร เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวได้มีรายได้และหลุดพ้นจากความยากจน

ประการที่ห้า – การเข้าถึงอุตสาหกรรมและการเปิดโลกกว้าง

คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ได้ทำความร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ เพื่อบ่มเพาะวิสาหกิจจำนวนมากกว่า 800 แห่ง เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมการบูรณาการของส่วนต่าง ๆ และขับเคลื่อนการศึกษา นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งกลุ่มอาชีวศึกษาจำนวน 1,500 กลุ่ม และเชิญชวนองค์กรจำนวนมากกว่า 30,000 แห่ง เข้าร่วมในการพัฒนาการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ดำเนินการสนับสนุนในหลากหลายวิชาวิชาชีพในการสร้างกลุ่มอาชีวศึกษา จัดตั้งหน่วยบ่มเพาะกลุ่มอาชีวศึกษาต้นแบบ 150 แห่ง และได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในภาคอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินการวัดและประเมินผลอาชีวศึกษา มาตรฐานวิชาชีพองค์กรวิชาชีพ ส่งเสริมและพัฒนาการจัดอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ เชิญชวนองค์กรมากกว่า 2,200 แห่งเข้าร่วมในโครงการฝึกงานวิชาชีพ และได้ติดต่อประสานงานกับประเทศต่าง ๆ มากกว่า 70 ประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศมากกว่า 70 แห่ง โดยมีวิทยาลัยอาชีวศึกษาจำนวนมากกว่า 400 แห่ง ได้ทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ เพื่อดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิคในต่างประเทศ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเทคโนโลยีและนวัตกรรมลูปัน ตามข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) เพื่อสร้างชื่อใหม่ที่สะท้อนให้เห็นความร่วมมือทางการศึกษาระดับนานาชาติ

ปัจจุบัน จีนมีสถาบันการอาชีวศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 11,500 แห่งทั่วประเทศ มีนักศึกษาอาชีวศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 28.57 ล้านคน ได้แก่ นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) (เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) จำนวน 6 ล้านคน และ นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงจำนวน 4.83 ล้านคน โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาเทียบเท่าระดับปริญญาตรีรวมทั้งสิ้นประมาณ 54.52 ล้านคน และมีผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมศึกษาชุมชนประมาณ 320 ล้านคน

ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 แนวโน้วการพัฒนาของอาชีวศึกษาของประเทศจีนได้เข้าสู่ช่วงของการพัฒนาคุณภาพรอบด้าน ตามแนวคิดของโดยนายสี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการทั่วไปฯ ของการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 5 แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 19  เสนอให้ดำเนินการอย่างเต็มที่ ศรัทธาและยึดมั่นในอุดมการณ์แห่งวิชาชีพ มุ่งมั่น ทุ่มเทในดำเนินการพัฒนาตามยุทธศาสตร์การศึกษาจีนสู่ความทันสมัยปี ค.ศ. 2035 และแผนพัฒนาด้านการศึกษา (ปี ค.ศ.2018 – 2022) เพื่อเร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถ และสนับสนุนในด้านเทคโนโลยีระดับสูง ให้บรรลุเป้าหมายโดยรวมในการสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูงและมีความทันสมัยระดับโลก โดยนายสี จิ้นผิง ได้ตั้งความหวังอย่างแรงกล้าต่อแนวโน้มการพัฒนากำลังคนสายอาชีวศึกษา ที่จะก้าวหน้าไปข้างหน้าอย่างสดใส เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจีน

ที่มา : วารสาร “วิทย์ไมตรีไทย-จีน” ฉบับเดือนมีนาคม 2565 “ระบบการศึกษาและแผนพัฒนาอาชีวะศึกษาของจีน”

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]