1. สถานะของมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนในระดับสากล

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561 Times Higher Education (THE) หนึ่งในสี่สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ได้ประกาศรายชื่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก (THE World University Rankings) ประจำปี 2562 รวมรายชื่อมหาวิทยาลัยกว่า 1,250 แห่งจาก 86 ประเทศทั่วโลก โดยมหาวิทยาลัย Oxford คงอันดับหนึ่งเป็นปีที่สาม ตามด้วยมหาวิทยาลัย Cambridge และมหาวิทยาลัย Stanford เป็นอันดับที่สองและสามตามลำดับ ขณะที่มหาวิทยาลัย Tsinghua อยู่อันดับที่ 22 ขยับเพิ่มขึ้น 8 อันดับจากปีที่ผ่านมา สูงกว่ามหาวิทยาลัย Peking (อันดับ 31) และขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของทวีปเอเชียแทนที่มหาวิทยาลัย National University of Singapore เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2554

ในปีนี้ มีมหาวิทยาลัยจีนที่ติดอันดับในรายชื่อดังกล่าวรวม 72 แห่ง (เพิ่มขึ้น 9 แห่งจากปีที่ผ่านมา) มากเป็นอันดับที่ 4 รองจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอังกฤษ โดยมี 7 มหาวิทยาลัยที่อยู่ใน 200 อันดับแรก ได้แก่ มหาวิทยาลัย Tsinghua มหาวิทยาลัย Peking มหาวิทยาลัย University of Science and Technology of China มหาวิทยาลัย Zhejiang มหาวิทยาลัย Fudan มหาวิทยาลัย Nanjing มหาวิทยาลัย Shanghai Jiao Tong ตามลำดับ

2. ทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยของจีน

นาย Phil Baty ผู้อำนวยการกองบรรณาธิการจัดอันดับของ THE กล่าวว่า รัฐบาลจีนได้จัดมหาวิทยาลัยเป็นปัจจัยสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งเห็นผลสำเร็จของนโยบายดังกล่าวได้จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีมหาวิทยาลัย Tsinghua และมหาวิทยาลัย Peking เป็นตัวแทนของจีนในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของโลก นาย Phil Baty วิเคราะห์ว่าเคล็ดลับความสำเร็จของจีนในการพัฒนามหาวิทยาลัย คือการขยายวิสัยทัศน์สู่ระดับสากลและผลักดันความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นทั่วโลก รวมถึงการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถจากทั่วโลกให้อยู่กับมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้ชื่อเสียงและอิทธิพลของมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนเพิ่มสูงขึ้นในเวทีโลก แนวทางดังกล่าวเป็นแบบอย่างให้กับประเทศตลาดกำลังพัฒนา (Emerging Markets Country) ในการพัฒนามหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาที่จะนำมาสู่การแข่งขันที่สูงขึ้นระหว่างมหาวิทยาลัยทั่วโลก

นอกจากนี้ ในวันที่ 11 กันยายน 2563 นาย Bin Yang รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย Tsinghua ได้เผยแพร่บทความวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัยจีนว่า ในปัจจุบันปัจจัยด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ (Hardware and Software) ของมหาวิทยาลัยจีนชั้นนำอาจก้าวขึ้นมาทัดเทียมกับมาตรฐานระดับสากล แต่ยังขาดปัจจัยด้าน Soulware ซึ่งนาย Bin Yang ได้ให้คำจำกัดความว่า คือ “คุณภาพที่จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่มีอยู่เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้แก่นักศึกษาและความผาสุขของสังคมส่วนรวม” ซึ่งการพัฒนา Soulware ไม่อาจมาจากแนวทางการจัดสรรทรัพยากรในปัจจุบันหรือการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตงานวิจัยที่อาจารย์และนักศึกษาเป็นเพียงแรงงานในสายการผลิต แต่จะต้องอาศัยความสนใจ แรงบันดาลใจ และการสร้างผลงานของนักศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัย Tsinghua และมหาวิทยาลัยชั้นนำอีกหลายแห่งของจีนกำลังเร่งการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาจากการวิ่งไล่ตามผู้อื่น เป็นการพัฒนาที่ยึดตามความต้องการของสังคมและประเทศชาติ รวมถึงมุ่งแก้ปัญหาความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

(photo: timeshighereducation)

ปัจจุบันมหาวิทยาลัย Tsinghua เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของจีน และเป็นผู้นำด้านการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพการบ่มเพาะบุคลากรผู้มีความสามารถ ดังเห็นได้จากการปฏิรูปตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2560 มหาวิทยาลัยได้เพิ่มเติมเนื้อหาการฝึกอบรมสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary Training) ในหลักสูตรปริญญาตรีกว่า 80 หลักสูตร และได้ยุบรวมสาขาวิชาชีพจาก 49 สาขาเหลือ 16 สาขา โดยการลดจำนวนหน่วยกิตของภาควิชาบังคับ และเพิ่มการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในภาควิชาสหสาขา เพื่อเน้นการพัฒนาความสามารถในการปรับตัว ทักษะทางวิชาชีพ และคุณสมบัติของนักศึกษา

บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็น

แนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยของจีน โดยการขยายวิสัยทัศน์สู่ระดับสากลและผลักดันความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นทั่วโลก และการเพิ่มเงินลงทุนสนับสนุนมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอย่างต่อเนื่อง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สถาบันอุดมศึกษาของจีนสามารถขยายอิทธิพลและบทบาทการเป็นผู้นำในด้านการอุดมศึกษาและการวิจัยในเวทีโลก โดยโจทย์สำคัญในการพัฒนามหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนในปัจจุบัน คือการปฏิรูปแนวทางการพัฒนาที่จะต้องมุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษา บ่มเพาะบุคลากรและผลงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและประเทศชาติ และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา